คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับชำระหนี้เงินตามสัญญากู้ยืมเงินและคืน น.ส.3 ก. ที่ให้เป็นประกัน ดังนี้ เมื่อจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องจริง แต่อ้างว่าได้เปลี่ยนสัญญากู้ยืมเงินกันใหม่อีก 2 ครั้ง จึงเป็นการกล่าวอ้างว่า คู่กรณีได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้คือจำนวนเงินที่กู้ยืม หากเป็นจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้าง หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องย่อมระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 โจทก์ย่อมขอชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวอีกมิได้ เหตุนี้ จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ว่ามีการแปลงหนี้ใหม่จริงหรือไม่
เมื่อกรณีเป็นที่ยุติแล้วว่า หากโจทก์ชนะคดีก็ได้เพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของตนคืนเท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจให้จำเลยส่งมอบที่นาและห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่นาโจทก์รวมทั้งไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในกรณีจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา เพราะมิใช่การฟ้องขับไล่จำเลยที่โจทก์ต้องดำเนินการเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับชำระหนี้เงินจำนวน 52,560 บาทจากโจทก์และคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 196กับที่นาของโจทก์ให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่นาของโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินปีละ 30,000 บาทให้โจทก์ สำหรับฤดูการทำนาปี 2539 และทุก ๆ ปีถัดไปในอัตราปีละ30,000 บาท จนกว่าจำเลยและบริวารจะยอมเลิกเกี่ยวข้องกับที่นาของโจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 196 วางไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงินและให้จำเลยทำนาต่างดอกเบี้ยในที่ดินมีการเปลี่ยนสัญญากู้กันใหม่อีก 2 ถึง 3 ครั้ง สัญญาครั้งสุดท้ายรวมยอดหนี้เป็นเงิน 429,000 บาท ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ จำเลยเลิกทำนาต่างดอกเบี้ยและมอบที่นาคืนโจทก์ตั้งแต่ฤดูทำนาปี 2539โจทก์ยังไม่สามารถเรียกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 196 คืนได้จนกว่าจะชำระหนี้จำนวน 429,000 บาท แก่จำเลยขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับชำระหนี้เงินกู้จำนวน 52,560 บาทจากโจทก์ ให้จำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 196 ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ และที่นาพิพาทคืนโจทก์ กับห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่นาโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินปีละ 30,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท กับให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 1,865 บาท แก่โจทก์และคนคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 1,115 บาท แก่จำเลย

โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 52,560 บาท จากจำเลยพร้อมกับมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้จำเลยไว้เป็นประกันและให้จำเลยทำนาในที่ดินดังกล่าวแทนดอกเบี้ยโดยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวจากโจทก์ และคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาโต้แย้งว่าข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากจำเลยอีก 2 ครั้งนั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับต้นเงินที่อ้างว่ามีการกู้ยืมไปจากจำเลยเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน และรับเงินกู้ไปจากจำเลย นอกเหนือจากสัญญากู้ยืมเงินข้อนี้เห็นว่า จำเลยยอมรับแล้วว่า โจทก์ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจริง แต่อ้างว่าได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันใหม่อีก 2 ครั้ง จึงเป็นการกล่าวอ้างว่า คู่กรณีได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ คือ จากหนี้เดิมจำนวน 52,560 บาท เป็นหนี้จำนวน 210,400 บาท และสุดท้ายคือหนี้จำนวน 429,000 บาท ตามลำดับ หากเป็นจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้าง หนี้ย่อมระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 โจทก์ย่อมขอชำระหนี้อีกมิได้ เหตุนี้จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ว่ามีการแปลงหนี้ใหม่จริงหรือไม่ จำเลยเบิกความว่า ในวันที่ 23 ธันวาคม 2536 ได้ให้โจทก์ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน โดยรวมหนี้ตามสัญญาอยู่ด้วย รวมเป็นหนี้ 210,400 บาท และต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม2538 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน คำเบิกความของจำเลยเป็นที่น่าสงสัยว่า เหตุใดเมื่อทำสัญญากู้ยืมจึงไม่ขีดฆ่า และแทงเพิกถอนสัญญากู้ยืมเหมือนดังเช่นกรณีทำสัญญากู้ยืมที่ปรากฏว่ามีการขีดฆ่าสัญญากู้ยืม นอกจากนี้จำเลยยังยอมรับด้วยว่าตั้งแต่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน โจทก์ยังไม่เคยชำระหนี้ให้แก่จำเลย หากกรณีเป็นเช่นนั้นจริงเหตุใดจำเลยจึงให้โจทก์กู้ยืมเงินต่อเนื่องกันมาหลายปีเป็นจำนวนหลายแสนบาทยิ่งกว่านั้นที่จำเลยเบิกความอ้างว่า จำเลยได้ชำระหนี้แทนโจทก์ให้แก่นางกัลยา ประดับสุข จำนวน 19,300 บาท อันเป็นยอดหนี้ที่จำเลยอ้างว่าได้รวมไว้ในสัญญากู้ยืมนั้น นางกัลยาได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่าจำเลยยังมิได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่พยานเช่นกัน และหากแยกหนี้ต่าง ๆ ที่จำเลยเอามาเขียนรวมไว้ในสัญญากู้ยืมแล้วจะเป็นเงินที่โจทก์กู้ยืมจากพยาน 19,300 บาท เป็นหนี้ของโจทก์เองประมาณ 200,000 บาท เป็นหนี้ของนายสมดอกบุตรโจทก์ ประมาณ 20,000 บาท และจำเลยคิดดอกเบี้ยจากโจทก์และนายสมดอกร้อยละ 5 ต่อเดือน คิดเป็นดอกเบี้ยประมาณ200,000 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยที่นำมาลงไว้ในสัญญาประมาณ400,000 บาท คำเบิกความของนางกัลยามีเหตุผลและมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพราะปรากฏหลักฐานตามสัญญารับสภาพหนี้ว่า โจทก์เป็นหนี้เงินกู้ยืม จำนวน 19,300 บาท และยังมิได้ชำระให้แก่นางกัลยาจริง นางกัลยาจึงอยู่ในฐานะพยานคนกลางมิได้เบิกความเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กรณีน่าจะเป็นดังที่โจทก์เบิกความว่า ได้มีการทำบันทึกว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลย รวมทั้งสิ้น 429,000 บาท โดยจำเลยให้โจทก์นำที่ดินไปจำนองไว้กับจำเลยในวันที่ 10 สิงหาคม 2538 แต่ถึงวันนัดโจทก์ไม่ไปเนื่องจากจำนวนหนี้สูงเกินความเป็นจริงซึ่งเมื่อตรวจดูสัญญากู้ยืมแล้วเห็นว่า เป็นไปตามที่ได้บันทึกไว้นั้นเอง แต่มิได้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินดังที่ตกลงกันไว้ กลับระบุเพียงว่าโจทก์ได้นำที่ดินดังกล่าวให้จำเลยยึดไว้เป็นประกันเช่นเดิม ซึ่งขัดกับลักษณะของการกู้ยืมเงินกันเป็นจำนวนมากเช่นนี้ โจทก์มีฐานะยากจน ไม่รู้หนังสือไทยดังจะเห็นได้จากการเบิกความที่ต้องมีล่ามภาษาเขมร ส่วนจำเลยมีฐานะดีและมีสามีรับราชการอยู่ที่เรือนจำ จึงอยู่ในฐานะได้เปรียบและอาจมีการบีบบังคับให้โจทก์ลงชื่อไว้ในเอกสารที่มิได้กรอกข้อความได้ ข้อนำสืบของจำเลย จึงยังไม่อาจรับฟังได้แน่ชัดว่าหนี้ได้ระงับสิ้นไปแล้วด้วยการแปลงหนี้ใหม่ ยิ่งกว่านั้นหากสัญญากู้ยืมมีการคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 5 ต่อเดือนก็เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้อันอาจมีผลทำให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ จำเลยจึงต้องรับชำระหนี้จากโจทก์ และคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นแต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยส่งมอบที่นาพิพาทคืนโจทก์กับห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่นาโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินปีละ 30,000 บาท แก่โจทก์นั้นเห็นว่า เมื่อกรณีเป็นที่ยุติแล้วว่า หากโจทก์ชนะคดีก็ได้เพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของตนคืนเท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจให้จำเลยส่งมอบที่นาและห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่นาโจทก์ รวมทั้งไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ในกรณีจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาดังที่โจทก์ฎีกากล่าวอ้างเพราะมิใช่การฟ้องขับไล่จำเลยที่โจทก์ต้องดำเนินการเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยรับชำระหนี้จำนวน 52,560 บาทจากโจทก์ กับให้จำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 196 ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ คืนแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

Share