คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท จึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 900, 914 ประกอบมาตรา 989 เมื่อจำเลยอ้างเหตุที่จะไม่ต้องรับผิดภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย แต่จำเลยไม่สืบพยานข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ตามที่ให้การต่อสู้ โดยโจทก์มิต้องนำสืบแต่ประการใดเนื่องจากโจทก์ได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น โจทก์จะยื่นบัญชีระบุพยานหรือไม่ หรือว่าการยื่นบัญชีระบุพยานของโจทก์จะถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเกี่ยวกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 276,447 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 257,160 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน257,160 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น แต่จำนวนดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันฟ้องต้องไม่เกิน 19,287 บาท

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อเดือนธันวาคม 2538 แต่โจทก์หาได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล ต่อมาศาลได้นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 7 พฤษภาคม 2540 ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลแต่อย่างใด ศาลได้เลื่อนวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปเป็นวันที่ 26 มิถุนายน 2540 แต่โจทก์เพิ่งมายื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2540 ซึ่งไม่ครบกำหนดเวลาตามกฎหมายอีกทั้งมิได้ร้องขออนุญาตหรือแสดงเหตุผลใดต่อศาลว่า เพราะเหตุผลใดโจทก์จึงไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานเจ็ดวันได้ ศาลควรพิจารณาและมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานของโจทก์ ข้อเท็จจริงต่าง ๆที่โจทก์ได้นำเข้าสืบมาในคดีทั้งหมดย่อมตกไป เสมือนหนึ่งไม่มีการนำพยานเข้าสืบเลย เช็คพิพาทก็ไม่อาจรับฟังได้อีกต่อไป คดีจึงไม่มีพยานหลักฐานใดอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเช็คพิพาทต่อโจทก์อีก และจำเลยที่ 1ก็ไม่จำต้องนำพยานหลักฐานใดเข้าสืบ ชอบที่ศาลจะได้พิจารณาพิพากษายกฟ้องโจทก์ เห็นว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ฐานะผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ฐานะผู้สลักหลังร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาไว้ในครอบครองก็ด้วยคบคิดกับจำเลยที่ 2 ร่วมกันฉ้อฉลใช้กลอุบายหลอกลวงจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์จะช่วยแลกเช็คให้จำเลยที่ 1นำเงินมาใช้ในด้านการค้า จนจำเลยที่ 1 หลงเชื่อจึงได้สั่งจ่ายเช็คฉบับดังกล่าวไปแต่โจทก์กับจำเลยที่ 2 หาได้แลกเช็คนำเงินมาให้จำเลยที่ 1 ไม่ และไม่คืนเช็คให้ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหนี้ตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900, 914 ประกอบมาตรา 989 เมื่อจำเลยที่ 1 อ้างเหตุที่จะไม่ต้องรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ตามที่จำเลยที่ 1ให้การต่อสู้ โดยโจทก์มิต้องนำสืบแต่ประการใด เนื่องจากโจทก์ได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นโจทก์จะยื่นบัญชีระบุพยานหรือไม่หรือว่าการยื่นบัญชีระบุพยานของโจทก์จะถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share