คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1001/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ชื่อผู้ประกอบการค้าที่เป็นเจ้าของบัตรชดเชยภาษี เลขประจำตัวผู้เสียภาษีที่ปรากฏอยู่ตอนบนของรายการเป็นของจำเลยและมีรายละเอียดเลขบัตรชดเชยภาษีพร้อมยอดเงินตามบัตรชดเชยภาษี เมื่อจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัตรชดเชยภาษี จำเลยมีหน้าที่ต้องนำเงินตามมูลค่าบัตรภาษีตามเอกสารดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษี แต่จำเลยไม่มาพบและไม่นำส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีเมื่อได้รับหมายเรียกเพื่อตรวจสอบบัญชีจำเลยจึงต้องรับผิดเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับดังกล่าวก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 71(1)และต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย นับแต่วันพ้นกำหนดและยื่นรายการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียจำนวนดังกล่าวตามมาตรา 22
จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 และแจ้งเลิกประกอบกิจการเมื่อวันที่ 16กันยายน 2540 จึงแสดงได้ว่าในรอบระยะเวลาบัญชีนี้จำเลยประกอบกิจการเต็มทั้งรอบระยะเวลาบัญชีจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการประมาณการกำไรสุทธิและชำระภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนเมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ยื่นแบบดังกล่าวตามมาตรา 67 ทวิ (1) จำเลยจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรฯ
ประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 67 ตรี ได้กำหนดบทลงโทษให้ผู้เสียภาษีชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ไว้เป็นการเฉพาะแล้วการที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้จำเลยชำระเบี้ยปรับในจำนวนภาษีเดียวกันอีกจึงเป็นการซ้ำซ้อน การประเมินเบี้ยปรับนี้จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯมาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่จัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากร จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม2540 โดยนายวัลลภ ไชยเสนา เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยประกอบกิจการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร ขายยาและเครื่องสำอางทุกชนิด เจ้าพนักงานโจทก์เชื่อว่า จำเลยเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีจึงหมายเรียกเพื่อตรวจสอบการชำระภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2538, 2539 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2540 โดยให้จำเลยจัดส่งเอกสารมาเพื่อทำการตรวจสอบ แต่จำเลยทราบแล้วไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก ไม่มาพบเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากยอดรายรับที่ตรวจพบก่อนหักรายจ่ายดังนี้ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 ตรวจพบว่า จำเลยมีรายรับจากการส่งออกสินค้าเป็นจำนวน 60,837,614 บาท คิดเป็นภาษีที่ต้องชำระจำนวน3,041,880.70 บาท จำเลยต้องรับผิดเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 29กรกฎาคม 2542 เป็นเงิน 1,733,872 บาท รวมเป็นเงิน 4,775,752บาท (ที่ถูก 4,775,752.70 บาท) ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539ตรวจพบว่า จำเลยมีรายรับจากบัตรชดเชยภาษีส่งออกจำนวน3,275,059.95 บาท คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องชำระจำนวน 163,753 บาท จำเลยต้องรับผิดเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2542เป็นเงิน 63,863.67 บาท รวมเป็นเงิน 227,616 บาท(ที่ถูก 227,616.67 บาท) ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 จำเลยประกอบกิจการเต็มรอบระยะเวลาบัญชีมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีและชำระภาษีตามความในมาตรา 67 ทวิ แต่ไม่ยื่นแบบ จำเลยจึงต้องรับผิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามความในมาตรา 26 และ 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรคิดเป็นเบี้ยปรับ 163,753 บาท เงินเพิ่ม 16,375.30 บาท รวมเป็นเงิน180,128 บาท (ที่ถูก 180,128.30 บาท) รวมยอดเงินทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชีเป็นเงิน 5,183,496 บาท (ที่ถูก 5,183,496.67 บาท)เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้จำเลยทราบแล้วไม่อุทธรณ์คัดค้านการประเมินและไม่ชำระภาษี จำเลยต้องรับผิดเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินภาษีที่ต้องชำระในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538จากจำนวนภาษี 3,041,880.70 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีปี2539 จากจำนวนภาษี 163,753 บาท ตามลำดับต่อไปนับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2542 จนถึงวันฟ้องเป็นจำนวน 192,338.08บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,375,834.08 บาท (ที่ถูก 5,375,834.75บาท) โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ภาษีอากรจำนวน 5,375,834.08 บาท และชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน จากต้นเงินภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และ 2539 จำนวน 3,041,880.70 บาทและ 163,753 บาท ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ค้างชำระ

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยโดยนายวัลลภ ไชยเสนาในฐานะผู้ชำระบัญชีชำระเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราร้อยละ 5จากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538จำนวนเงิน 60,837,605.45 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีจำนวนดังกล่าวโดยเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลา 150 วันที่นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 ของจำเลย แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นแรกมีว่า โจทก์มีสิทธิจะเรียกเก็บภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากยอดรายได้จากบัตรชดเชยภาษีจำนวน3,275,059.95 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 ตามเอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 122 และ 123 หรือไม่ เห็นว่า ชื่อผู้ประกอบการค้าที่เป็นเจ้าของบัตรชดเชยภาษี เลขประจำตัวผู้เสียภาษีที่ปรากฏอยู่ตอนบนของรายการเป็นของจำเลยและมีรายละเอียดเลขบัตรชดเชยภาษีพร้อมยอดเงินตามบัตรชดเชยภาษี จึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัตรชดเชยภาษี จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินตามมูลค่าบัตรภาษีตามเอกสารดังกล่าวจำนวน 3,275,059.95 บาท มาคำนวณเสียภาษี แต่จำเลยไม่มาพบและไม่นำส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีเมื่อได้รับหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษี จำเลยจึงต้องรับผิดเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับดังกล่าวก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 71(1) จำนวน 163,753 บาท และต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องเสียจำนวนดังกล่าว นับแต่วันพ้นกำหนดและยื่นรายการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มดังกล่าวมิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียจำนวนดังกล่าวตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากรและเมื่อปรากฏว่าจำเลยแจ้งเลิกกิจการเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540ประกอบกับในรอบระยะเวลาบัญชีนี้จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540จึงแสดงได้ว่าในรอบระยะเวลาบัญชีนี้ จำเลยประกอบกิจการเต็มทั้งรอบระยะเวลาบัญชี จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการประมาณการกำไรสุทธิและชำระภาษีกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนเมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ยื่นแบบดังกล่าวตามมาตรา 67 ทวิ (1)จำเลยจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรคิดเป็นเงินเพิ่มจำนวน 16,375.30 บาทตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน แต่สำหรับกรณีเบี้ยปรับซึ่งเจ้าพนักงานประเมินประเมินให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 26แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 163,753 บาท นั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ตรี ได้กำหนดบทลงโทษให้ผู้เสียภาษีชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้จำเลยชำระเบี้ยปรับจึงเป็นการซ้ำซ้อน การประเมินเบี้ยปรับในกรณีนี้จึงไม่ชอบ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ปัญหานี้เป็นปัญหาว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 122และ 123 จะถือเป็นรายได้ของจำเลยโจทก์ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีชื่อในบัตรอย่างแท้จริงและโจทก์ไม่มีเอกสารอื่นใดจากกรมศุลกากรแสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัตรจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีรายได้จากบัตรชดเชยภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539จำนวน 3,275,059.95 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์มีนางสาวนิศาชลสังข์แสตมป์ เจ้าหน้าที่เก็บเอกสารและแบบฟอร์มต่าง ๆ ของกรมสรรพากรและเอกสารที่ได้รับจากกรมศุลกากรซึ่งกรมศุลกากรจัดส่งข้อมูลให้โจทก์ 2 ประเภท คือประเภทไมโครฟิล์มและประเภทการออนไลน์ และเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 122 และ123 เป็นข้อมูลออนไลน์ซึ่งตนรับผิดชอบจัดทำเอกสารขึ้นมาและรับรองเอกสารดังกล่าว เมื่อเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดชื่อผู้ประกอบการ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่บัตรชดเชยภาษีจำนวนเงินภาษีมีจำนวนตามฟ้องและจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านจึงต้องฟังว่าจำเลยมีรายได้จากบัตรชดเชยภาษีตามเอกสารดังกล่าว ส่วนที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่นำสืบตามฟ้องว่าจำเลยประกอบกิจการเต็มรอบระยะเวลาบัญชีหรือไม่จำเลยมีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 เท่าใด ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีเมื่อใดนั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบแล้วว่าจำเลยได้แจ้งเลิกประกอบกิจการเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 ยื่นแบบ ภ.พ.09 วันที่ 26กันยายน 2540 และทั้งยังได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชีนี้ โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 14,000 บาท จึงแสดงโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยประกอบการในรอบระยะเวลาบัญชีนี้เต็มทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชี เมื่อเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียก จำเลยไม่มาพบและไม่นำส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร จากยอดรายรับซึ่งโจทก์มีข้อมูลตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 122 และ123 เมื่อโจทก์ประกอบกิจการเต็มทั้งรอบระยะเวลาบัญชี จำเลยมีหน้าที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีสำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการไว้ชัดแจ้งแล้ว โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบถึงระยะเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นสุดท้ายมีว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยโดยนายวัลลภไชยเสนา ในฐานะผู้ชำระบัญชี ชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราร้อยละ 5 จากยอดกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงขอให้ศาลฎีกาแก้ไขข้อความในคำพิพากษาจากร้อยละ 5 จากยอดกำไรสุทธิเป็นร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ นั้น เห็นว่าตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางมีข้อความเป็นไปตามที่โจทก์อุทธรณ์อยู่แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 เป็นค่าภาษีจำนวน 163,753 บาทเงินเพิ่มตามมาตรา 27 อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีจำนวนดังกล่าวนับแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นรายการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีจำนวนดังกล่าว และเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี จำนวน 16,375.30 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share