คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 609/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินชำระหนี้ค่ารับเหมาก่อสร้างอาคารแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 สมคบกันโอนที่ดินไปเสียก่อนโดยจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทน แม้โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินเพียงได้เข้าครอบครองก็ถือได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนโจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างปี 2526 ถึงปี 2529 โจทก์รับจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างทาวน์เฮ้าส์และอื่น ๆ ในโครงการหมู่บ้านปิ่นเจริญแต่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระค่าก่อสร้าง จึงตกลงชำระหนี้ด้วยที่ดินโฉนดเลขที่ 112364 ถึงเลขที่ 112366 เนื้อที่แปลงละ 55 ตารางวา แทนโดยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในภายหลังเนื่องจากที่ดินทั้งสามแปลงยังติดจำนองสถาบันการเงิน จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์ โจทก์ปลูกสร้างโกดังเก็บของและบ้านพักคนงานลงบนที่ดินโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 8 ปีแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อนบุคคลอื่นด้วยต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2532 โดยมิได้มีการชำระเงินค่าซื้อขายกันจริง แต่เป็นการสมคบกันเพื่อไม่ให้โจทก์บังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้ ปัจจุบันที่ดินทั้งสามแปลงมีราคาตารางวาละไม่น้อยกว่า30,000 บาท เป็นเงิน 4,950,000 บาท ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และค่าภาษีในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์มีสิทธิดำเนินการได้เองโดยถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินขอให้มีคำสั่งออกใบแทนเพื่อให้คำพิพากษาเป็นผล และหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ ให้จำเลยที่ 1ชำระเงิน 4,950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1หลายแปลงโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาททั้งสามแปลงจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ไม่ทราบว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงมีภาระผูกพันหรือกรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน1,123,603 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 914,343 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์โดยจำเลยทั้งสองไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,123,603 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยประเด็นแรกตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตีใช้หนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1ยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตีใช้หนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายเสนาะ หงษา และนายกฤษดา กฤษณาชูวงศ์ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างบ้านให้แก่จำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับโจทก์ เบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าก่อสร้างพยานทั้งสองเช่นเดียวกันจำเลยที่ 1 ยกที่ดินและบ้านตีใช้หนี้ให้แก่พยานทั้งสอง สำหรับโจทก์นั้นจำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตีใช้หนี้ให้ ได้ความอีกว่าโจทก์ได้สร้างโกดังในที่ดินพิพาท ซึ่งพิจารณาภาพถ่ายหมาย จ.15 แล้วโกดังมีลักษณะปลูกสร้างอย่างถาวร หากที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์อาศัยอยู่ชั่วคราวตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้จริง โจทก์คงไม่ก่อสร้างโกดังในลักษณะมั่นคงแข็งแรงเช่นนั้น พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 เชื่อว่า จำเลยที่ 1ยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตีใช้หนี้ให้แก่โจทก์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงโดยไม่สุจริต และไม่เสียค่าตอบแทนหรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนเห็นว่า ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.27นางจงกลนี นายอนุ และนางยุวดีต่างเคยเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1ทั้งสิ้น ในปี 2526 นางจงกลนีเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ในปี 2532 นายอนุเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นมารดาของนางยุวดี นางจงกลนี และนายอนุเห็นได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงทำกันในระหว่างเครือญาติด้วยกัน จำเลยที่ 2 เบิกความว่า การทำสัญญาซื้อขายได้ชำระราคาที่ดินโดยไม่มีการวางมัดจำแต่ตามคำเบิกความของนางยุวดีเอกสารหมาย จ.35นางยุวดีเคยเบิกความในคดีจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้ออกจากที่ดินพิพาททั้งสามแปลงว่าการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ มีการวางเงินมัดจำเป็นเงิน50,000 บาท และตามคำเบิกความของนายอนุ ตามเอกสารหมาย จ.34ในคดีเดียวกันนายอนุเคยเบิกความว่า ไม่ทราบว่ามีสัญญาซื้อขายหรือไม่เกี่ยวกับการชำระเงิน จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ชำระเงินสดคราวเดียว1,000,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวเก็บไว้ที่นางยุวดี แต่นางยุวดีเบิกความในคดีดังกล่าวข้างต้นตามเอกสารหมาย ล.35 ว่านางยุวดีพาจำเลยที่ 2 ไปเบิกเงินมาจากธนาคาร 3 ธนาคาร พยานจำเลยทั้งสองเบิกความขัดกันไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ตามแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.23 ที่จำเลยที่ 1 ยื่นต่อกรมสรรพากรก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งรายการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงแต่ประการใดยิ่งไปกว่านั้นยังได้ความว่าบริษัทจำเลยที่ 1 หยุดประกอบกิจการตั้งแต่ปี 2531 ตามเอกสารหมาย จ.24 จำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่ไม่ห่างจากที่ดินพิพาทต้องทราบดีว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นของจำเลยที่ 1และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหมู่บ้านปิ่นเจริญ นอกจากนั้นจำเลยที่ 2ไม่มีหลักฐานใบเสร็จการชำระเงินมาแสดง จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2จะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองเชื่อว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 สมคบกันโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงโดยจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทนแม้โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเพียงเข้าครอบครองก็ตาม แต่ถือว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์จึงย่อมมีสิทธิเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมคนละครึ่ง หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่โจทก์เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน4,950,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share