แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถยนต์โดยประมาททำให้คนตาย โจทก์เป็นทายาทฟ้องเรียกค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายเช่าซื้อมาและต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อได้โจทก์ได้รับเงินประกันชีวิตผู้ตายแล้ว ไม่ทำให้หมดสิทธิที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นค่าเสียหายด้วย
ย่อยาว
ผู้ตายขี่รถจักรยานยนต์ชนรถบรรทุกที่จำเลยขับตัดหน้าโดยประมาทศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนายจ้างลูกจ้างใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นมารดา ภริยา และบุตรผู้ตาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนค่าเสียหายเป็นให้ใช้แก่มารดาผู้ตาย 12,000 บาท แก่ภริยาผู้ตาย 40,000 บาท แก่บุตรผู้ตาย49,500 บาท กับ 58,500 บาท โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ส่วนเรื่องค่าเสียหาย มีค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ ค่าทำศพ ค่าขาดไร้อุปการะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในเรื่องค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ ผู้ตายจะต้องรับผิดชดใช้ค่าซ่อมให้แก่ผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อหมาย จ.9 โจทก์เป็นทายาทของผู้ตายย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องตามเรียกค่าซ่อมจากจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดในกรณีละเมิดได้ ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดไว้เป็นจำนวน 2,000 บาทนั้น เป็นการเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิดแล้ว ส่วนค่าทำศพและค่าขาดไร้อุปการะ เมื่อพิจารณาถึงรายได้และฐานะของผู้ตาย เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ก็เป็นจำนวนที่สมควร และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินค่าประกันชีวิตไปแล้ว จึงไม่ควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะอีกนั้น สิทธิที่จะได้รับเงินค่าประกันชีวิตกับสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิด เป็นคนละเรื่องกัน จำเลยที่ 2 จะอ้างเป็นเหตุให้ไม่ต้องรับผิดไม่ได้”
พิพากษายืน