แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยก่อสร้างถนน ขุดคู และปักป้ายชื่อถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของมารดาโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาจากการสืบสิทธิของมารดา และขณะที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้วจำเลยก็ยังรุกล้ำที่ดินพิพาทอยู่อีก จึงถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย และจำเลยกระทำละเมิดต่อเนื่องกันตลอดมาฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือจากการรุกล้ำของจำเลยไม่พอปลูกสร้างอาคารตึกแถวตามปกติได้เพราะมีเนื้อที่เหลือเพียงประมาณ11 ตารางวา แต่โจทก์ก็พอจะใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในทางอื่นได้ ใช่ว่าที่ดินของโจทก์จะหมดค่าไปโดยสิ้นเชิง จึงไม่อาจคิดค่าเสียหายเท่ากับราคาที่ดินทั้งแปลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับมรดกที่ดินที่มีตราจองจากมารดาโจทก์ได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายลิขิต ชูเรืองสุข และได้ไปตรวจสอบเขตที่ดินกัน ปรากฏว่าจำเลยได้ทำถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 3คูระบายน้ำ และปักป้ายบอกชื่อถนนรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์กว้าง 1.30 เมตร ยาว 18 เมตร เป็นเหตุให้นายลิขิตบอกเลิกสัญญากับโจทก์และเรียกเงินมัดจำคืน การที่จำเลยสร้างถนน คูระบายน้ำและปักป้ายบอกชื่อถนนดังกล่าวข้างต้น ทำให้ที่ดินของโจทก์เหลือความกว้าง 3.30 เมตร หากจะสร้างอาคารต้องเว้นที่ดินไว้เป็นทางเท้าอีก 1.30 เมตร จึงไม่สามารถสร้างอาคารลงในที่ดินของโจทก์ได้ และไม่มีผู้ใดยอมซื้อที่ดินของโจทก์อีก ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้สร้างถนน คูระบายน้ำ และปักป้ายรุกล้ำที่ดินของโจทก์ จำเลยสร้างในทางสาธารณะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยก่อสร้างก่อนที่ที่ดินจะได้ตกเป็นของโจทก์ โจทก์ฟ้องคดีล่วงเลยเกิน 1 ปีแล้ว ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่ได้เสียหายเพราะสามารถสร้างอาคารได้ตามปกติซึ่งโจทก์จะต้องเว้นที่เป็นแนวทางเท้าอีก 2 เมตร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 อยู่แล้ว และจำเลยได้สร้างถนน คูระบายน้ำและปักป้ายในระยะ 2 เมตรดังกล่าวขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าที่ดินแก่โจทก์เป็นเงิน50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นเบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบและรับกันในชั้นนี้ว่า จำเลยได้ก่อสร้างถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 3 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตามที่ปรากฏในแผนที่วิวาทกลาง เอกสารหมายเลข 2 คงมีปัญหาต่อไปว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยบุกรุกเข้าทำถนน ขุดคูและปักป้ายในที่ดินพิพาท เป็นการละเมิดที่ต่อเนื่องกันตลอดมา ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยก่อสร้างถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 3มาตั้งแต่ที่ดินพิพาทยังเป็นของนางโผ้ห้องมารดาโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาจากการสืบสิทธิของมารดา และขณะที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แล้วยังปรากฏว่าจำเลยยังรุกล้ำที่ดินพิพาทอยู่อีกตลอดมาจึงถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย
ส่วนที่จำเลยฎีกาเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ไม่ควรเกิน 3,000บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยรวมกับฎีกาของโจทก์ที่ฎีกาว่าโจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน 200,000 บาท เนื่องจากที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือจากจำเลยรุกล้ำ ไม่พอแก่การปลูกสร้างอาคารเป็นการเสียหายที่ดินพิพาททั้งแปลงนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทอยู่มุมถนนสาธารณประโยชน์ตัดกันเป็นสี่แยกโดยอยู่ด้านทิศตะวันตกของถนน จากทิศเหนือจดทิศใต้ยาวขนานไปตามแนวถนน 18 เมตร และกว้าง 4.60 เมตรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า คิดเป็นเนื้อที่ตามตราจอง 20 ตารางวาจำเลยได้ก่อสร้างถนนและคูระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในทางทิศใต้ 1.28เมตร ทางด้านทิศเหนือรุกล้ำ 2.04 เมตร ซึ่งไม่ตรงกับแนวถนนตามสี่แยกทางด้านทิศเหนือ คงเหลือที่ดินพิพาทของโจทก์ทางด้านทิศเหนือกว้าง 2.52 เมตร และเหลือด้านทิศใต้กว้าง 3.32 เมตร แม้ที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือจากการรุกล้ำของจำเลยไม่พอปลูกสร้างอาคารตึกแถวตามปกติได้เพราะมีเนื้อที่เหลือเพียงประมาณ 11 ตารางวาเศษ ดังที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่โจทก์ก็พอจะใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในทางอื่นได้ ใช่ว่าที่ดินของโจทก์จะหมดค่าไปโดยสิ้นเชิง ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายมานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน