แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโดยไม่นัดไต่สวนมูลฟ้อง หรือนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้อง หรือไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องก็ได้ทั้งสิ้น เพราะเป็นดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็วและชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดได้ และมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้องและนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาไป ย่อมมีอำนาจกระทำได้
คดีอาญาเรื่องก่อน โจทก์และจำเลยทั้งแปดเป็นคู่ความรายเดียวกับคดีนี้โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งแปดร่วมกระทำความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เช่นเดียวกับคดีนี้ซึ่งคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องว่า “การกระทำของจำเลยทั้งแปดตามคำฟ้องของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าเป็นการไม่ชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต หรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้อื่นที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างไรพิพากษายกฟ้อง” เท่ากับศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วว่าการกระทำของจำเลยทั้งแปดตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด ซึ่งเป็นการยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งแปดเป็นข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นวิศวกรหัวหน้าผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำเลยที่ 1 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา จำเลยที่ 2เป็นอธิการบดี จำเลยที่ 3 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้างอาคารศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ และเป็นกรรมการตรวจการจ้าง จำเลยที่ 4 เป็นผู้อำนวยการกองคลัง จำเลยที่ 5 เป็นหัวหน้างานนิติกรจำเลยที่ 6 และที่ 7 เป็นนิติกร จำเลยที่ 8 เป็นอาจารย์และกรรมการตรวจการจ้าง ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2ให้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเทพอินทนนท์ จำกัด ก่อสร้างอาคารศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ในราคา 135,900,000 บาท กำหนดจ่ายเงินเป็นงวด ๆระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2539 เวลาใดไม่ปรากฏชัด หลังจากกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงานก่อสร้างอาคารศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ งวดที่ 2 แล้ว จำเลยทั้งแปดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ทำรายงานถึงจำเลยที่ 2 ในฐานะอธิการบดีว่าในการก่อสร้างงานงวดที่ 2 โจทก์สั่งแก้ไขปัญหาการตอกเสาเข็มฐานราก โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 3 และไม่ได้อนุมัติแก้แบบรูปและรายการตามสัญญาจ้างจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและเกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ ความจริงแล้วการตอกเสาเข็มเสริมหรือตอกเสาเข็มเพิ่มไม่ใช่การแก้รูปแบบและรายการตามสัญญาจ้าง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเติมงานจ้างตามหลักวิชา ซึ่งโจทก์มีอำนาจสั่งให้ผู้รับจ้างปฏิบัติได้ตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งแปดเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและเป็นการทำรายงานเท็จมีเจตนาให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้ หมดโอกาสก้าวหน้าในราชการเพราะขาดความเชื่อถือในการประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 83, 84, 86, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 36/2540 ของศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไปบ้างแล้ว ต่อมามีคำสั่งให้งดไต่สวนมูลฟ้องและนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโดยไม่นัดไต่สวนมูลฟ้อง หรือนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้อง หรือไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องก็ได้ทั้งสิ้นเพราะเป็นดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็วและชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดได้ และมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้องและนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาไป ย่อมมีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาประการต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 36/2540 ของศาลชั้นต้นนั้นเห็นว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 36/2540 โจทก์และจำเลยทั้งแปดเป็นคู่ความรายเดียวกับคดีนี้โดยโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งแปดกล่าวหาว่าจำเลยทั้งแปดร่วมกระทำความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เช่นเดียวกับคดีนี้ ซึ่งมูลคดีที่โจทก์กล่าวหาเป็นอย่างเดียวกันในคดีก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องของโจทก์ว่า “การกระทำของจำเลยทั้งแปดตามคำฟ้องของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าเป็นการไม่ชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริตหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้อื่น ที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างไร พิพากษายกฟ้อง” เท่ากับศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วว่าการกระทำของจำเลยทั้งแปดตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นการยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำของจำเลยทั้งแปดว่าไม่ได้กระทำผิดและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งแปดเป็นคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งแปดอีกได้เพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ได้ระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน