คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6634/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003 หรือไม่นั้น จะต้องได้ความว่าได้มีการโอนเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917 ประกอบด้วยมาตรา 309เสียก่อน กล่าวคือ ได้มีการสลักหลังและส่งมอบเช็คแล้วในกรณีเช็คที่ระบุชื่อผู้รับเงิน หรือได้มีการส่งมอบเช็คแล้วสำหรับกรณีเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือเป็นต้น เช็คพิพาทโจทก์มอบให้แก่ธนาคารเพื่อประกันการชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค มิใช่เพื่อชำระหนี้ เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คแล้วจึงรับเช็คคืนมา โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็ค มิใช่อยู่ในฐานะเป็นผู้สลักหลังเช็ค ประเด็นข้อโต้เถียงในคดียังไม่เป็นที่ยุติว่า โจทก์ได้สลักหลังโอนเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ หรือเพียงแต่มอบเช็คพิพาทให้ธนาคารเพื่อค้ำประกัน ตนเมื่อข้อเท็จจริงในคดียังไม่พอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกา ชอบที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความจะนำสืบต่อไป การที่ศาลชั้นต้นด่วนสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วพิพากษาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003และศาลอุทธรณ์ฟังว่าคดีโจทก์ต้องด้วยมาตรา 1002ไม่ขาดอายุความนั้น เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามประเด็นที่คู่ความโต้เถียงกัน สมควรให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป แล้วมีคำพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 240(3),243(3)(ข) ประกอบด้วยมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัดสาขาสมุทรสาคร 2 ฉบับ ลงวันที่ 20 มีนาคม 2535 และวันที่20 เมษายน 2535 จำนวนเงินฉบับละ 60,000 บาท ชำระค่าสินค้าให้โจทก์ ก่อนเช็คถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์ได้นำเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวไปขายลดเช็คให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาสมุครสาคร แต่เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามเช็ค ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่โปรดนำมายื่นใหม่ และโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย โจทก์ในฐานะผู้สลักหลังค้ำประกันในเช็คทั้งสองฉบับได้นำเงินพร้อมค่าเสียหายไปชำระให้แก่ธนาคารดังกล่าวจนครบถ้วน ธนาคารดังกล่าวได้มอบเช็คและใบคืนเช็คให้โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายและได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเช็คแต่ละฉบับถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน 7,875 บาทขอให้บังคับจำเลยใช้เงินให้โจทก์ 127,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปของเงินจำนวน 120,000 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ ไม่เคยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องให้โจทก์ เช็คตามที่โจทก์ฟ้องเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้มีชื่อ การโอนเช็คย่อมโอนกันได้โดยสลักหลังและส่งมอบเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินผู้สลักหลังทั้งหลายสามารถฟ้องไล่เบี้ยกันเองและไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่าย นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และโจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คจากธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาสมุทรสาคร มาพ้นกำหนดระยะเวลา 6 เดือนแล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1003 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์แล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปขายลดให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสมุทรสาครโจทก์ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คไว้ ถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะผู้สลักหลัง เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์นำเงินไปชำระให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสมุทรสาคร แล้วรับเช็คคืนเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2535 และวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 ตามลำดับโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2536 พ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์เข้าถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า แม้เช็คพิพาททั้งสองฉบับจำเลยสั่งจ่ายระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินก็ตามก็เป็นเพียงประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921, 989 เท่านั้น เมื่อโจทก์ชำระเงินตามเช็คและรับเช็คพิพาทคืนมา โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คตามมาตรา 904 กรณีเช่นนี้มีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1003 ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความการที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานเป็นการไม่ชอบและเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(2) พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานในประเด็นแห่งคดีแล้วมีคำพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน เมื่อโจทก์สลักหลังเช็คพิพาทและนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปทำสัญญาขายลดให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสมุทรสาคร และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ชำระเงินแก่ธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาสมุทรสาคร แล้วเข้าถือเอาเช็คพิพาท โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้สลักหลังที่ได้ใช้เงินให้แก่ผู้ทรงแล้วรับเช็คพิพาทคืนมา กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003หรือไม่ นั้น ข้อเท็จจริงจะต้องได้ความว่า ได้มีการโอนเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917 ประกอบด้วยมาตรา 309 เสียก่อน กล่าวคือ ได้มีการสลักหลังและส่งมอบเช็คแล้วในกรณีเช็คที่ระบุชื่อผู้รับเงิน หรือได้มีการส่งมอบเช็คแล้วสำหรับกรณีเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือเป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและที่โจทก์ยอมรับฝ่ายเดียวว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับโจทก์มอบให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสมุครสาครเพื่อประกันการชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค มิใช่เพื่อชำระหนี้เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คแล้วจึงรับเช็คคืนมา โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็ค มิใช่อยู่ในฐานะเป็นผู้สลักหลังเช็คแต่อย่างใด ซึ่งข้อเท็จจริงนี้จำเลยโต้เถียงอยู่ว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อ การโอนเช็คย่อมโอนได้โดยการสลักหลังและส่งมอบเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินผู้สลักหลังย่อมไล่เบี้ยระหว่างกันเองและผู้สั่งจ่ายได้ อันเป็นการปฏิเสธฟ้องของโจทก์ว่าเช็คพิพาทไม่ใช่เช็คที่นำไปค้ำประกัน แต่เป็นการโอนเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ ดังนั้นประเด็นข้อโต้เถียงดังกล่าวจึงยังไม่เป็นที่ยุติว่า โจทก์ได้สลักหลังโอนเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ หรือเพียงแต่มอบเช็คพิพาทให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสมุทรสาครเพื่อค้ำประกัน ข้อเท็จจริงในคดีจึงไม่พอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกา ชอบที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความจะนำสืบต่อไป การที่ศาลชั้นต้นด่วนสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วพิพากษาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003 และศาลอุทธรณ์ฟังว่าคดีโจทก์ต้องด้วยมาตรา 1002 ไม่ขาดอายุความนั้น เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามประเด็นที่คู่ความโต้เถียงกัน สมควรให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(3), 243(3)(ข)ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษายืน

Share