คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6203/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องถือหุ้นบริษัท จำเลยจำนวน 100 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้น ขณะจัดตั้งบริษัทเป็นเงิน 25,000 บาท คงค้างชำระเงินค่าหุ้น อีก 75,000 บาท แต่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อที่ว่าสิทธิเรียกร้อง ในมูลหนี้เงินค่าหุ้นที่ผู้ร้องค้างชำระขาดอายุความหรือไม่ ศาลอุทธรณ์กลับฟังข้อเท็จจริงว่ากรรมการบริษัทจำเลย เรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 ให้ครบมูลค่าของหุ้น อันแสดงว่าผู้ร้องค้างชำระเงินค่าหุ้น เพียง 50,000 บาท เท่านั้น ฉะนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจึงขัดกันไม่เป็นไปในทางเดียวกันว่าผู้ร้อง ยังค้างชำระเงินค่าหุ้นอยู่เพียงใดศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริง ใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ก)ประกอบด้วยมาตรา 247 และพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 153 ตามบทบัญญัติมาตรา 1120 และ 1121 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้อำนาจกรรมการบริษัทจะเรียกผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกในแต่ละคราวเมื่อใดเป็นจำนวนเงินเท่าใดก็ได้ตราบเท่าที่บริษัทยังคงดำรงอยู่ และเมื่อกรรมการบริษัทเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีก สิทธิเรียกร้องก็เกิดขึ้นในแต่ละคราวที่กรรมการบริษัทส่งคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นนั้น และเนื่องจากสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เช่นว่านี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อกรรมการบริษัทจำเลยไม่เคยส่งคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกไปยังผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยจึงยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เงินค่าหุ้นที่ผู้ร้องค้างชำระอายุความจึงไม่เริ่มนับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ดังนั้นเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ผู้คัดค้านจึงมีอำนาจตาม พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 22 และมาตรา 119 เรียกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชำระเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกทั้งหมดได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 ต่อมาผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้เงินค่าหุ้นที่ค้างชำระต่อบริษัทจำเลยจำนวน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อต้นปี 2524 กรรมการของบริษัทจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวผู้ร้องให้ชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ75,000 บาท ผู้ร้องจึงชำระเงินค่าหุ้นจนครบถ้วนแล้ว อย่างไรก็ดีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นนับแต่วันที่บริษัทจำเลยบอกกล่าวถึงวันที่ผู้คัดค้านทวงถามเป็นเวลาเกิน 10 ปี จึงขาดอายุความนอกจากนี้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อบริษัทจำเลยออกไปจากทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2529 บริษัทจำเลยจึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล โจทก์ฟ้องบริษัทจำเลยหลังจากบริษัทจำเลยไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จึงเป็นฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้น ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีหลักฐานการชำระหนี้เงินค่าหุ้นครบถ้วนมาแสดง ตามหลักฐานบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับล่าสุดลงวันที่ 14 มิถุนายน 2523 ระบุว่าผู้ร้องค้างชำระเงินค่าหุ้นทั้งสิ้น 75,000 บาท การเรียกเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระนั้นกรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระเมื่อใดก็ได้ ไม่ต้องเรียกภายใน10 ปี ตราบใดที่ผู้ร้องยังไม่ชำระเงินค่าหุ้นเต็มมูลค่า ความรับผิดเกี่ยวกับเงินค่าหุ้นที่ค้างของผู้ร้องยังคงมีอยู่ แม้บริษัทจำเลยจะถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อออกจากทะเบียนกรรมการของบริษัทจำเลยก็ยังมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระได้เสมือนบริษัทจำเลยยังมิได้เลิก เมื่อบริษัทจำเลยล้มละลายอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทจำเลยจึงตกแก่ผู้คัดค้าน กระบวนพิจารณาในคดีอันเกี่ยวข้องกับบริษัทจำเลยภายหลังจากบริษัทจำเลยไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลจึงชอบด้วยกฎหมายผู้คัดค้านจึงมีอำนาจแจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้เงินค่าหุ้นบริษัทจำเลย 75,000 บาท ที่ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านได้ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่าคดีฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นหนี้ค่าหุ้นบริษัทจำเลยจำนวน 75,000 บาทตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างนั้น เห็นว่าตามฎีกาของผู้ร้องล้วนเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีจำนวนไม่เกินสองแสนบาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เงินค่าหุ้นที่ผู้ร้องค้างชำระนั้นขาดอายุความหรือไม่เนื่องจากคดีนี้คู่ความฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบมาตรา 247 และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องถือหุ้นบริษัทจำเลยจำนวน 100 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน100,000 บาท ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นขณะจัดตั้งบริษัทเป็นเงิน35,000 บาท คงค้างชำระเงินค่าหุ้นอีก 75,000 บาท แต่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อที่ว่าสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เงินค่าหุ้นที่ผู้ร้องค้างชำระขาดอายุความหรือไม่ ศาลอุทธรณ์กลับฟังข้อเท็จจริงว่ากรรมการบริษัทจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่9 มิถุนายน 2523 ให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระภายในวันที่3 กรกฎาคม 2523 ศาลฎีกาพิจารณาหนังสือบอกกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างดังกล่าวแล้วปรากฏข้อความว่ากรรมการบริษัทจำเลยเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50ให้ครบมูลค่าของหุ้น อันแสดงว่าผู้ร้องค้างชำระเงินค่าหุ้นเพียง50,000 บาท เท่านั้น ฉะนั้นข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจึงขัดกันไม่เป็นไปในทางเดียวกันว่าผู้ร้องยังค้างชำระเงินค่าหุ้นอยู่เพียงใดศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3)(ก) ประกอบด้วยมาตรา 247 และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
สำหรับอายุความสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เงินค่าหุ้นที่ผู้ร้องค้างชำระนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1120บัญญัติว่า “บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้” และมาตรา 1121บัญญัติต่อไปว่า “การเรียกเงินค่าหุ้นแต่ละคราวนั้น ท่านบังคับว่าให้ส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่ายี่สิบเอ็ดวัน ด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์และผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องใช้เงินตามจำนวนที่เรียกนั้นสุดแต่กรรมการจะได้กำหนดไปว่าให้ส่งไปยังผู้ใดณ ที่ใดและเวลาใด” ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจกรรมการบริษัทจะเรียกผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกในแต่ละคราวเมื่อใดเป็นจำนวนเงินเท่าใดก็ได้ตราบเท่าที่บริษัทยังคงดำรงอยู่ และเมื่อกรรมการบริษัทเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีก สิทธิเรียกร้องก็เกิดขึ้นในแต่ละคราวที่กรรมการบริษัทส่งคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นนั้นและเนื่องจากสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เช่นว่านี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อวินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า กรรมการบริษัทจำเลยไม่เคยส่งคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกไปยังผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น บริษัทจำเลยจึงยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เงินค่าหุ้นที่ผู้ร้องค้างชำระ อายุความจึงไม่เริ่มนับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านในอันที่จะเรียกให้ผู้ร้องชำระจึงยังไม่ขาดอายุความดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ผู้คัดค้านจึงมีอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22และมาตรา 119 เรียกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชำระเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกทั้งหมดได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share