แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิของผู้เสียหาย เมื่อได้มีการถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญาความผิดอันยอมความได้นั้นมาฟ้องผู้กระทำผิดย่อมเป็นอันระงับไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 38 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ซึ่งการขอถอนคำร้องทุกข์จะกระทำต่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ หรือศาลก็ได้ แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้ต้องถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลเท่านั้น เมื่อคดีนี้ได้มีการถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องจำเลยย่อมเป็นอันระงับไป และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดี ส่วนการที่ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวน และเพิกถอนคำสั่งอนุญาตถอนฟ้องและคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่นั้น แม้ผู้ร้องทั้งห้าจะอ้างว่า ส. ไม่ได้รับมอบอำนาจช่วงให้ทำการถอนคำร้องทุกข์คดีนี้ หรือได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อกล่าวโทษ ส. ในข้อหาแจ้งความเท็จ และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ แต่ข้ออ้างของผู้ร้องทั้งห้าขัดกับหลักฐานที่ปรากฏต่อศาล จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งจำหน่ายคดี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ไต่สวนของผู้ร้องทั้งห้ามานั้นได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นายสนธยาในฐานะผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายทั้งห้ายื่นคำร้องว่าผู้เสียหายทั้งห้าตกลงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป จึงได้ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว โดยจำเลยรับทราบและยินยอมให้ศาลจำหน่ายคดีตามคำร้องฉบับลงวันที่ 29 ตุลาคม 2546 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสอบโจทก์ซึ่งแถลงไม่คัดค้าน จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ต่อมาผู้ร้องทั้งห้าซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ยื่นคำร้องว่านายสนธยาไม่ได้รับมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินการถอนคำร้องทุกข์ต่อจำเลย ขอให้ศาลดำเนินการไต่สวนคำร้อง และเพิกถอนคำสั่งอนุญาตถอนฟ้องและคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจฉบับลงววันที่ 1 ตุลาคม 2546 ให้อำนาจแก่นายสนธยาประนีประนอมยอมความกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ และถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 และเป็นการมอบอำนาจทั่วไป จึงอยู่ในขอบเขตของหนังสือมอบอำนาจ ส่วนผู้เสียหายจะมีข้อตกลงอย่างไรกับนายสนธยาในขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “การถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิของผู้เสียหาย เมื่อได้มีการถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญาความผิดอันยอมความได้นั้นมาฟ้องผู้กระทำผิดย่อมเป็นอันระงับไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ซึ่งการขอถอนคำร้องทุกข์นั้นจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ หรือศาลก็ได้ แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแล้วก็ตาม เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้ต้องถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลเท่านั้น เมื่อคดีนี้ได้มีการถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว สิทธิในการนำคดีนี้ของโจทก์มาฟ้องจำเลยย่อมเป็นอันระงับไป และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดี ส่วนการที่ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและเพิกถอนคำสั่งอนุญาตถอนฟ้องและคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความและยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่นั้น แม้ผู้ร้องทั้งห้าจะอ้างในทำนองว่า นายสนธยาไม่ได้รับมอบอำนาจช่วงให้ทำการถอนคำร้องทุกข์คดีนี้ก็ดี หรือได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อกล่าวโทษนายสนธยาในข้อหาแจ้งความเท็จ และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จก็ดี แต่ข้ออ้างของผู้ร้องทั้งห้าขัดกับหลักฐานที่ปรากฏต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งจำหน่ายคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ไต่สวนของผู้ร้องทั้งห้ามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน