คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 4 นำพยานเข้าสืบเป็นลำดับสุดท้าย จำเลยที่ 4นำพยานเข้าสืบได้ 1 ปาก แล้วแถลงว่ายังติดใจสืบอีกเพียง 1 ปาก ขอเลื่อนคดีไปสืบพยานปากนี้ในนัดหน้า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 4 ในวันที่ 19ธันวาคม 2540 เวลา 8.30 นาฬิกา แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 4 ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นจึงถือว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานจำเลยที่ 4 คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา นับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามลำดับขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพราะจำเลยที่ 4 เป็นคู่ความที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเป็นลำดับสุดท้าย เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่มีพยานมาสืบแล้วต้องถือว่าคดีเสร็จการพิจารณา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 37 และมาตรา 133 วางหลักไว้ว่า ศาลจะต้องทำการนั่งพิจารณาต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดี โดยให้ศาลมีคำพิพากษาในวันที่เสร็จสิ้นการพิจารณา ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2540 ว่าคดีเสร็จการพิจารณาและรอฟังคำพิพากษา และในวันดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดีย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 19 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นเสร็จการพิจารณาถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ทราบคำพิพากษาตั้งแต่วันนั้น จำเลยที่ 4 จึงชอบที่จะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 19 มกราคม 2541 หรือยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นกำหนดเวลา หากยื่นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2541 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 4เพิ่งทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อปลายเดือนมกราคม 2541 ซึ่งล่วงเลยเวลาที่จำเลยที่ 4 จะยื่นอุทธรณ์ได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 4 เอง ไม่อาจถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยได้ ส่วนการที่จำเลยที่ 4 อ้างว่า เมื่อทราบคำพิพากษาแล้วได้ไปติดต่อขอคัดสำนวน กว่าจะคัดได้ก็ถึงเดือนมีนาคม2541 นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 4 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 19 มกราคม 2541

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเหล็กแผ่นดำหรือใช้ราคาเป็นเงิน997,132.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสี่ยื่นคำให้การต่อสู้คดี

ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานโดยกำหนดให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อน ต่อมาศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เสร็จ ส่วนจำเลยที่ 4นำพยานเข้าสืบได้ 1 ปาก แล้วแถลงขอเลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 4 ที่เหลืออีก 1 ปากในนัดหน้า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 4 ในวันที่ 19 ธันวาคม 2540เวลา 8.30 นาฬิกา ตามที่คู่ความมีวันว่างตรงกัน แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 4 ไม่มาศาลศาลชั้นต้นถือว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีพยานมาสืบ ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 4 คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา ให้รอฟังคำพิพากษาและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเหล็กแผ่นดำจำนวน 84 แผ่น หนาแผ่นละ 7 ถึง 37 มิลลิเมตร กว้างแผ่นละ 1,000 ถึง 2,000 มิลลิเมตร ยาวแผ่นละ 3 ถึง 6 เมตร น้ำหนักรวม 152.733เมตริกตัน ให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 997,132.66 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 สิงหาคม2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์คำพิพากษาภายในกำหนด 1 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2541 พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า กรณีไม่มีเหตุสุดวิสัย ไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ และสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว จึงไม่รับอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 4

จำเลยที่ 4 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยรวมกันมาทั้งอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 4 โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้เป็นพับ และให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 4 (ที่ถูกพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 4) ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า กรณีมีเหตุสุดวิสัยเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์หรือไม่เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 4 นำพยานเข้าสืบเป็นลำดับสุดท้าย จำเลยที่ 4นำพยานเข้าสืบได้ 1 ปาก แล้วแถลงว่ายังติดใจสืบอีกเพียง 1 ปาก ขอเลื่อนคดีไปสืบพยานปากนี้ในนัดหน้า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 4 ในวันที่ 19ธันวาคม 2540 เวลา 8.30 นาฬิกา ตามที่คู่ความมีวันว่างตรงกันแต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 4 ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นจึงถือว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานจำเลยที่ 4 คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา นับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามลำดับขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพราะจำเลยที่ 4 เป็นคู่ความที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเป็นลำดับสุดท้าย เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่มีพยานมาสืบแล้วต้องถือว่าคดีเสร็จการพิจารณา ปัญหาว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะพิพากษาชี้ขาดคดีในวันเดียวกันนั้นได้โดยชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 37บัญญัติให้ศาลดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปเท่าที่สามารถจะทำได้โดยไม่ต้องเลื่อนจนกว่าจะเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดีและมาตรา 133 บัญญัติไว้อีกว่าเมื่อศาลมิได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ให้ศาลชี้ขาดคดีนั้นโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่สิ้นการพิจารณา แต่เพื่อการที่จะพิเคราะห์คดีต่อไป ศาลจะเลื่อนการพิพากษาหรือการทำคำสั่งต่อไปในวันหลังก็ได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้วางหลักไว้ว่า ศาลจะต้องทำการนั่งพิจารณาต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดี โดยให้ศาลมีคำพิพากษาในวันที่เสร็จสิ้นการพิจารณานั่นเอง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2540 ว่าคดีเสร็จการพิจารณาและรอฟังคำพิพากษาวันนี้และในวันดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดีนี้ ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าในทางปฏิบัติศาลชั้นต้นไม่สามารถทำคำพิพากษาในวันที่เสร็จการพิจารณาได้ ศาลจะต้องนัดฟังคำพิพากษาไม่น้อยกว่า 15 วัน เห็นว่า ทางปฏิบัติที่จำเลยที่ 4 อ้างนั้นไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่อาจเลื่อนการพิพากษาออกไปในวันหลังหากศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเป็นต้องพิเคราะห์พยานหลักฐานแห่งคดีเพื่อประโยชน์ความยุติธรรม แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นที่นั่งพิจารณาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเลื่อนการพิพากษาคดีไปเพราะสามารถพิเคราะห์คดีเสร็จได้ภายในวันเสร็จสิ้นการพิจารณาจำเลยที่ 4 จึงไม่อาจโต้แย้งได้ว่ากระบวนการพิจารณาและการพิพากษาชี้ขาดคดีในวันที่ 19ธันวาคม 2540 ของศาลชั้นต้นเป็นการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 19 ธันวาคม 2540 จึงมีผลตามกฎหมาย ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 4 จึงชอบที่จะต้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายในวันที่ 19 มกราคม 2541 หรือยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นกำหนดเวลาดังกล่าว หากยื่นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ซึ่งหมายความว่ามีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 4 ไม่สามารถป้องกันได้ทำให้จำเลยที่ 4 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 19มกราคม 2541 คดีนี้จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2541 โดยอ้างเหตุในคำร้องว่า จำเลยที่ 4 เพิ่งทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อปลายเดือนมกราคม 2541 ซึ่งล่วงเลยเวลาที่จำเลยที่ 4 จะยื่นอุทธรณ์ได้ เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 4 ที่ว่าเพิ่งทราบคำพิพากษาเมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้วถือเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 4 เอง ไม่อาจถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยได้ส่วนการที่จำเลยที่ 4 อ้างว่า เมื่อทราบคำพิพากษาแล้วได้ไปติดต่อขอคัดสำนวน กว่าจะคัดได้ก็ถึงเดือนมีนาคม 2541 ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้วจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 4 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 19 มกราคม 2541 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 นั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share