คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6628/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้อาคารสินธร ชั้นที่ 8 ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทจำเลยเป็นที่ตั้งของบริษัทอื่นด้วย ใช้ประตูเข้าเดียวกัน เข้าประตูไปแล้วจะมีเคาน์เตอร์ตั้งอยู่ หากมีการส่งเอกสารมาถึงจำเลยและบริษัทอื่น พนักงานที่เคาน์เตอร์จะรับไว้แล้วนำไปให้บริษัทที่เกี่ยวข้องก็ตาม แต่เมื่อเจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมาย ณ ห้องเลขที่ 130 ถึง 132 ชั้นที่ 8 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยแล้ว การที่พนักงานเคาน์เตอร์ไม่นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยเป็นเรื่องการจัดการภายในของจำเลยเอง จำเลยจะยกเป็นข้ออ้างว่าไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การหาได้ไม่ ถือว่าจำเลยจงใจไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนด จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ประเด็นข้อพิพาทจึงคงมีตามประเด็นตามคำฟ้อง จำเลยไม่มีสิทธิอ้างข้อเท็จจริงเป็นประเด็นขึ้นมาใหม่ มีสิทธิเพียงสาบานตนให้การเป็นพยานและถามค้านพยานโจทก์เพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์เท่านั้น ฎีกาของจำเลยเมื่อไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท ถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
เบี้ยปรับที่ศาลเห็นว่าสูงเกินส่วน ศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ก็ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 161 บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลในการกำหนดความรับผิดเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเบี้ยปรับตามสัญญา การที่ศาลใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปรับจำนวน ๑,๗๒๘,๓๘๒.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑,๑๙๙,๐๖๕ บาท รวมเป็นเงิน ๒,๙๒๗,๔๔๗.๕๐ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๑,๗๒๘,๓๘๒.๕๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๘๖๔,๑๙๑.๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๔,๐๐๐ บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๗ โจทก์ทำสัญญาซื้อขายเครื่องกลึงขอบจานท้ายปลอกกระสุนปืนจากจำเลยราคา ๒,๗๗๘,๗๕๐ บาท กำหนดส่งมอบเครื่องกลึงภายในวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๒๘ ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. ๑ ต่อมาจำเลยขอขยายระยะเวลาการส่งมอบออกไปอีก ๑๔๖ วัน โจทก์ตกลงให้ขยายระยะเวลาได้ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๘ จำเลยส่งมอบเครื่องกลึงให้โจทก์วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๘ คณะกรรมการตรวจรับของโจทก์ตรวจสอบแล้วเห็นว่าเครื่องกลึงมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามสัญญา โจทก์แจ้งให้จำเลยแก้ไข จำเลยนำเครื่องกลึงไปแก้ไข ๒ ครั้ง ครั้งหลังไม่ได้นำเครื่องกลึงมาคืนโจทก์ ต่อมาวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๙ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๒๙ และริบเงินประกันจำนวน ๒๗๗,๘๗๕ บาท กับขอรับเงินที่จ่ายล่วงหน้าจำนวน ๖๙๔,๖๘๗.๕๐ บาท คืนแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ จำเลยมีนางสุทักษณา สันคามิน ผู้จัดการของจำเลยเบิกความในชั้นไต่สวนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การว่า อาคารสินธร ชั้นที่ ๘ ซึ่งเป็นที่ตั้งของจำเลยเป็นที่ตั้งของบริษัทอื่นด้วย ใช้ประตูเข้าเดียวกัน เข้าประตูไปแล้วจะมีเคาน์เตอร์ตั้งอยู่ หากมีการส่งเอกสารมาถึงจำเลยและบริษัทอื่น พนักงานที่เคาน์เตอร์จะรับไว้แล้วนำไปให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง พยานเพิ่งได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๓๙ โดยพนักงานของจำเลยนำมาให้บอกว่าเพิ่งนำมาจากเคาน์เตอร์ ทำนองว่าจำเลยเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องในวันดังกล่าว เห็นว่า ตามรายงานการเดินหมายของเจ้าพนักงานศาลฉบับลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๙ เจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมาย ณ ห้องเลขที่ ๑๓๐ ถึง ๑๓๒ ชั้นที่ ๘ ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลย เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๓๙ ดังนี้แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่นางสุทักษณาเบิกความ แต่การที่พนักงานเคาน์เตอร์ไม่นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยเป็นเรื่องการจัดการภายในของจำเลยเองจะยกเป็นข้ออ้างว่าไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การหาได้ไม่ ถือว่าจำเลยจงใจไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดและไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองมีว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า เครื่องกลึงมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขบังคับก่อนที่เป็นการพ้นวิสัยตกเป็นโมฆะก็ดี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความก็ดี เห็นว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ประเด็นข้อพิพาทจึงคงมีตามประเด็นตามคำฟ้อง จำเลยไม่มีสิทธิอ้างข้อเท็จจริงเป็นประเด็นขึ้นมาใหม่ มีสิทธิเพียงสาบานตนให้การเป็นพยานและถามค้านพยานโจทก์เพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์เท่านั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวล้วนไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท ถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สามและตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ควรได้รับเบี้ยปรับเป็นรายวันเพียงใด เห็นว่า แม้ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. ๑ ข้อ ๙ วรรคหนึ่ง จะกำหนดเบี้ยปรับเป็นรายวันไว้อัตราร้อยละ ๐.๒ ของราคาเครื่องกลึง แต่ถ้าศาลเห็นว่าสูงเกินส่วน ศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง แม้จำเลยไม่ได้ให้การก็ตาม คดีไม่ปรากฏว่า การที่จำเลยผิดสัญญาก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นรายวันมากน้อยเพียงใด ทั้งโจทก์ก็ได้ริบเงินประกันไปแล้วจำนวน ๒๗๗,๘๗๕ บาท เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เบี้ยปรับเป็นรายวันอัตราดังกล่าวซึ่งเท่ากับวันละ ๕,๕๕๗.๕๐ บาท สูงเกินส่วนที่ศาลล่างทั้งสองลดลงเหลืออัตราร้อยละ ๐.๑ เหมาะสมแล้ว แต่การที่โจทก์เรียกเบี้ยปรับมา ๓๑๑ วัน นั้น ปรากฏว่าจำเลยส่งมอบเครื่องกลึงให้โจทก์วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๘ โจทก์ควรตรวจสอบและแจ้งให้จำเลยทราบโดยเร็วว่าเครื่องกลึงมีคุณสมบัติครบถ้วนตามสัญญาหรือไม่ การที่โจทก์เพิ่งมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่าเครื่องกลึงมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามสัญญา เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากจำเลยส่งมอบเครื่องกลึงให้โจทก์แล้วถึง ๓ เดือนเศษ นับว่าเป็นเวลานานเกินสมควร ถือว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความล่าช้าทำให้จำเลยต้องเสียเบี้ยปรับเป็นรายวันเพิ่มขึ้น จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระเบี้ยปรับเพียง ๒๒๐ วัน เป็นเงิน ๖๑๑,๓๒๕ บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยควรรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเฉพาะทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑ บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลในการกำหนดความรับผิดเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเบี้ยปรับตามสัญญา การที่ศาลใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควร ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๖๑๑,๓๒๕ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์.

Share