แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาให้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยได้เงินจำนวน 2,100,000 บาท เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2534ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2533 การขายทอดตลาดดังกล่าวจึงเป็นการบังคับคดีในระหว่างที่จำเลยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยเพื่อจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22,124 เมื่อความปรากฏเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวมาเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ได้ตามมาตรา 111 ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินจากการขายทอดตลาดจึงมิใช่เป็นการรับชำระหนี้ไว้ในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แม้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย แต่โจทก์จะมีสิทธิ ได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยก็โดยยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27,91 และมาตรา 94เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์อีกต่อไปดังนั้นเมื่อเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้รับชำระหนี้โดยเต็มจำนวนหมดแล้ว เงินที่เหลืออยู่ย่อมต้องคืนให้แก่จำเลยในคดีล้มละลายต่อไปตามมาตรา 132
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาพิพากษากับคดีหมายเลขแดงที่ 24766/2530 ของศาลชั้นต้น และคดีถึงที่สุดแล้วในชั้นนี้คงมีปัญหาแต่เฉพาะการบังคับคดีในคดีนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 776,342.46 บาทให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ8,000 บาท
โจทก์ยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมปรากฏว่าจำเลยมีเงินเหลือจากการบังคับคดีในคดีอื่นจำนวน 570,879.58 บาท ซึ่งเงินดังกล่าวศาลได้มีคำสั่งให้อายัดจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยไว้แล้ว โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาได้เคยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีเพื่อนำเงินดังกล่าวมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการให้ ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเงินจำนวน 570,879.58 บาท และนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยยื่นคำคัดค้านว่าจำเลยถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2533 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2534 ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.406/2533 ของศาลชั้นต้นโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์จึงไม่ผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเงินในคดีล้มละลายและไม่มีอำนาจขอรับเงินดังกล่าว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เห็นว่า หนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ไม่ผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดกิจกรรมและทรัพย์สินของจำเลยในอันที่จะแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ ให้ยกคำร้องขอรับเงินของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลย และขายทอดตลาดได้เงิน2,100,000 บาท เมื่อเงินอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานบังคับคดี เท่ากับว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยบริบูรณ์แล้วเพียงแต่โจทก์ยังมิได้รับไปจากศาลเท่านั้น แม้จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.406/2533 ของศาลชั้นต้น และเงินที่ได้มาจากการขายทอดตลาดดังกล่าวจะได้ถูกเก็บรวบรวมไว้ในคดีล้มละลายนั้นก็ตาม เมื่อคดีล้มละลายมีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้รายเดียวคงเหลือเงิน 570,879.58 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะส่งเงินมาในคดีนี้ ไม่ใช่กรณีโจทก์บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยภายหลังที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายหรือขอขยายระยะเวลาการขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 91 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยได้เงินจำนวน 2,100,000 บาทเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2534 ตามบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินครั้งที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.ฉ.1 แต่เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2533 ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.406/2533 ของศาลชั้นต้นการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยดังกล่าวในคดีนี้ จึงเป็นการบังคับคดีในระหว่างที่จำเลยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยเพื่อจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22, 124 เมื่อความปรากฏเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยดังกล่าวมาเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 111 ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินจากการขายทอดตลาดจึงหาใช่เป็นการรับชำระหนี้ไว้ในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด และการที่โจทก์แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวของจำเลยก็แต่โดยยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27, 91และมาตรา 94 เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์อีกต่อไป ดังนั้นเมื่อเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้รับชำระหนี้โดยเต็มจำนวนหมดแล้วเงินที่เหลืออยู่ย่อมต้องคืนให้แก่จำเลยในคดีล้มละลายต่อไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 132ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของโจทก์ต้องตามกันมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน