แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ทำสัญญารับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้โดยในกรมธรรม์ระบุวันทำสัญญาประกันภัยเป็นวันหลังจากที่ พ.ถึงแก่ความตายแต่ระบุชื่อผู้เอาประกันคือพ. หลังจากพ.ถึงแก่กรรมจำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกของพ.ได้ดำเนินกิจการแทน พ.และได้จ้างอ.เป็นลูกจ้าง และในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย อ. ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแม้ พ. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนวันที่ทำสัญญาประกันภัยก็ตาม แต่เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วจำเลยที่ 2 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับการที่รถยนต์บรรทุกสินค้าที่รับประกันภัยไว้เสียหายตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ให้แก่จำเลยที่ 1 ไป จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. เป็นผู้ทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนกับจำเลยที่ 2 โดยตรงเหตุที่กรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า พ.เป็นผู้เอาประกันภัยเป็นเรื่องผิดพลาดไป หรือเป็นการเข้าใจผิดของคู่กรณีเท่านั้น หาได้หมายความว่าจำเลยทั้งสองมิได้ทำสัญญาประกันภัยต่อกันไม่ ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องให้จำเลยที่ 2รับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากรถที่รับประกันภัยไว้ได้ก่อให้เกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ได้ ปัญหาว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้หรือไม่ และจำเลยที่ 2ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 30,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน50,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในส่วนของโจทก์ที่ 1และที่ 2 แต่ละคนจึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งแม้ศาลฎีกาจะเห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ก็วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อัตราค่าทนายความตามตาราง 6ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้นไว้ว่าทุนทรัพย์เกิน 25,000 บาท อัตราค่าทนายความในศาลชั้นต้นขั้นสูงร้อยละ 5 นั้น การกำหนดค่าทนายความดังกล่าวคิดจากทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้อง หาใช่คิดจากจำนวนที่ศาลพิพากษาให้ไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้งหากศาลพิพากษายกฟ้องจะกำหนดค่าทนายความให้ไม่ได้เลย เมื่อทุนทรัพย์ตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 จำนวน 40,000 บาทและโจทก์ที่ 2 จำนวน 521,700 บาท การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดจำนวน 25,000 บาทจึงไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนด แต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสองรวมกันมาโดยไม่ได้แยกว่าให้ใช้แทนโจทก์คนไหนเท่าใดและให้จำเลยที่ 2ร่วมใช้แทนด้วยทั้งหมดเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-6839 ขอนแก่น และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน80-9132 ขอนแก่น นางพงษ์ศักดิ์ ทองคำ เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1958 ชุมพร ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 ก่อนเกิดเหตุนายพงษ์ศักดิ์ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายพงษ์ศักดิ์ตามคำสั่งศาลชั้นต้นและได้เข้าดำเนินกิจการของนายพงษ์ศักดิ์โดยได้จ้างนายออนไม่ทราบนามสกุล ให้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1958 ชุมพรต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2533 เวลากลางคืน โจทก์ที่ 1ได้ขับรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ 1 คันดังกล่าวถอยหลังออกจากซอยเกาะเรือโกลนเข้าสู่ถนนเพชรเกษมเพื่อจะมุ่งหน้าไปอำเภอสวีจังหวัดชุมพร โดยมีนายอุดม เคี่ยนบุ้น ถือไฟฉายบอกสัญญาณให้รถที่ผ่านไปมาทราบ ขณะนั้นได้มีรถยนต์ปิกอัพหมายเลขทะเบียนน-9818 ประจวบคีรีขันธ์ และรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน80-1958 ชุมพร ซึ่งขับโดยนายออนในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1แล่นตามกันมาถึงที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูงในระยะกระชั้นชิดโดยปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์ปิกอัพคันดังกล่าวแล่นตกไปข้างทาง ส่วนรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1958 ชุมพรพุ่งชนนายอุดมถึงแก่ความตายและชนท้ายรถของโจทก์ที่ 1ได้รับความเสียหาย นายออนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 40,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 521,700 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-6839 ขอนแก่นและรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 80-9132 ขอนแก่น ที่ถอยรถออกจากซอยขึ้นบนถนนตัดหน้ารถที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยในระยะกระชั้นชิดจนไม่อาจหลบหลีกได้ทัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 30,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 276,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 30,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 50,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ25,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญารับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุไว้โดยในกรมธรรม์ประกันภัยระบุวันทำสัญญาประกันภัยเป็นวันหลังจากที่นายพงษ์ศักดิ์ถึงแก่ความตายแต่ระบุชื่อผู้เอาประกันคือนายพงษ์ศักดิ์ ทองคำหลังจากนายพงษ์ศักดิ์ถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพงษ์ศักดิ์ได้ดำเนินการแทนนายพงษ์ศักดิ์และได้จ้างนายออน ไม่ทราบนามสกุล เป็นลูกจ้าง และขณะเกิดเหตุอยู่ระหว่างอายุสัญญาประกันภัยนายออนได้ขับรถยนต์บรรทุกสินล้อคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ เห็นว่าแม้นายพงษ์ศักดิ์ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนวันที่ทำสัญญาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ป.ล.1 แต่เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว จำเลยที่ 2 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับการที่รถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1958 ชุมพร ที่รับประกันภัยไว้เสียหายตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ให้แก่จำเลยที่ 1 ไปกรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพงษ์ศักดิ์เป็นผู้ทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนกับจำเลยที่ 2 โดยตรงเหตุที่กรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า นายพงษ์ศักดิ์เป็นผู้เอาประกันภัยเป็นเรื่องผิดพลาดไปหรือเป็นการเข้าใจผิดของคู่กรณีเท่านั้น หาได้หมายความว่าจำเลยทั้งสองมิได้ทำสัญญาประกันภัยต่อกันไม่ ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1958 ชุมพร คันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองจึงฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากรถที่รับประกันภัยไว้ได้ก่อให้เกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 โดยให้เหตุผลว่าไม่มีอำนาจฟ้องนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้หรือไม่และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใดเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 30,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2จำนวน 50,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ละคนจึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แม้ศาลฎีกาจะเห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ก็วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ไม่ได้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในปัญหาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อัตราค่าทนายความตามตาราง 6ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้นไว้ว่าทุนทรัพย์เกิน 25,000 บาท อัตราค่าทนายความในศาลชั้นต้นขั้นสูงร้อยละ 5 การกำหนดค่าทนายความดังกล่าวคิดจากทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้อง หาใช่คิดจากจำนวนที่ศาลพิพากษาให้ดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ไม่เพราะมิฉะนั้นแล้วหากศาลพิพากษายกฟ้องจะกำหนดค่าทนายความให้ไม่ได้เลยดังนี้เมื่อทุนทรัพย์ตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 จำนวน 40,000 บาท และโจทก์ที่ 2 จำนวน 521,700 บาทการที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดจำนวน 25,000 บาท จึงไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดแต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสองรวมกันมาโดยไม่ได้แยกว่าให้ใช้แทนโจทก์คนไหนเท่าใดและให้จำเลยที่ 2 ร่วมใช้แทนด้วยทั้งหมดเป็นการไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับค่าทนายความตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้นให้ จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แทนโจทก์ที่ 1 จำนวน 2,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนโจทก์ที่ 2 จำนวน 23,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 2ร่วมใช้แทน 2,204 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3