คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4683/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่จำเลยเช่าจากน. และพ.แล้วโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์ที่เช่าจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อนี้ปัญหานี้ย่อมเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินที่เช่าระหว่างโจทก์กับน. และพ.เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมสัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินที่เช่านั้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142 โจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่22ธันวาคม2535แจ้งให้จำเลยทราบว่าน. และพ. ขายที่ดินที่จำเลยเช่าให้โจทก์แล้วให้จำเลยนำค่าเช่างวดที่จะต้องชำระภายในวันที่20มีนาคม2536มาชำระให้โจทก์ซึ่งจำเลยรับทราบแล้วเมื่อวันที่23ธันวาคม2535การที่จำเลยนำเงินค่าเช่าไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดภูเก็ตโดยมีเงื่อนไขในการวางทรัพย์ตามคำร้องขอวางทรัพย์ว่าหากโจทก์มารับเงินก็ขอให้โจทก์ทำสัญญาเช่าใหม่กับจำเลยตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าเดิมที่น.ทำกับจำเลยเมื่อโจทก์ขอรับเงินที่จำเลยวางไว้เพื่อชำระค่าเช่าตามสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา569วรรคสองแต่ไม่อาจรับเงินได้เนื่องจากติดเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดไว้ในการวางเงินดังกล่าวที่ว่าโจทก์ต้องทำสัญญาเช่ากับจำเลยใหม่ตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าเดิมซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์บัญญัติรองรับไว้การที่โจทก์ไม่ประสงค์จะทำสัญญาเช่าใหม่กับจำเลยจึงมิใช่ความผิดของโจทก์ดังนั้นการวางเงินโดยมีเงื่อนไขดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระค่าเช่านั้นให้โจทก์แล้วจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการโอนทรัพย์ที่เช่าดังกล่าวเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องน. มิได้แจ้งการโอนให้จำเลยทราบเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา306วรรคแรกการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ชอบจึงถือว่าโจทก์มิได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยและไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่าจำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่งศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาเช่า ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากทรัพย์ที่เช่าและให้ใช้เงินจำนวน 42,027.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากทรัพย์ที่เช่า
จำเลยให้การว่า นายนิคมและนางเพียงใจไม่ได้ขายที่ดินที่เช่าให้โจทก์ สาเหตุที่จำเลยนำค่าเช่าไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดภูเก็ตเพราะนายนิคมและนางเพียงใจแจ้งให้จำเลยทราบว่านายนิคมไม่ได้ขายที่ดินที่เช่าให้โจทก์ จำเลยจึงไม่อาจทราบได้ว่าระหว่างโจทก์กับนายนิคมใครเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับค่าเช่าจากจำเลยจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินเดือนละ10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตและขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 11/1 ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ บนที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 42,027.76 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 12,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากทรัพย์ที่เช่าดังกล่าวกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,100 บาท
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษานอกประเด็นหรือไม่ พิเคราะห์แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่จำเลยเช่าจากนายนิคมและนางเพียงใจแล้ว โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์ที่เช่า จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อนี้ปัญหานี้ย่อมเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินที่เช่าระหว่างโจทก์กับนายนิคมและนางเพียงใจเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินที่เช่านั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และศาลฎีกาเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาตามประเด็นในอุทธรณ์ของจำเลยไปเสียเลยทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาใหม่
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่อาจรู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนว่าเป็นโจทก์หรือนายนิคม เพราะนายนิคมและนางเพียงใจแจ้งว่ามิได้ขายที่ดินที่เช่าให้โจทก์จำเลยจึงนำค่าเช่าไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดภูเก็ต ถือได้ว่าจำเลยชำระค่าเช่าให้โจทก์แล้ว เพราะเงื่อนไขที่ว่าโจทก์จะรับเงินได้ต่อเมื่อโจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลยใหม่ตามเงื่อนไขในสัญญาที่นายนิคมทำกับจำเลยไม่ใช่เป็นการบังคับโจทก์ แต่เป็นการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์ที่เช่าต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้ให้เช่าเดิมมีอยู่ต่อจำเลยจำเลยจึงไม่ผิดสัญญานั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 22 ธันวาคม 2535 แจ้งให้จำเลยทราบว่านายนิคมและนางเพียงใจขายที่ดินที่จำเลยเช่าให้โจทก์แล้ว ให้จำเลยนำค่าเช่างวดที่จะต้องชำระภายในวันที่ 20 มีนาคม 2536 มาชำระให้โจทก์ ซึ่งจำเลยรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2535 ตามเอกสารหมาย จ.3และ จ.4 การที่จำเลยนำเงินค่าเช่าไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดภูเก็ตโดยมีเงื่อนไขในการวางทรัพย์ตามคำร้องขอวางทรัพย์เอกสารหมาย จ.7 ว่า หากนายสุรพล โลหะทัศน์ซึ่งหมายถึงโจทก์มารับเงินก็ขอให้โจทก์ทำสัญญาเช่าใหม่กับนายคริสโตเฟอร์ซึ่งหมายถึงจำเลย ตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าเดิมที่นายนิคมทำกับจำเลยเมื่อโจทก์ขอรับเงินที่จำเลยวางไว้เพื่อชำระค่าเช่าตามสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 วรรคสองแต่ไม่อาจรับเงินได้เนื่องจากติดเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดไว้ในการวางเงินดังกล่าวที่ว่าโจทก์ต้องทำสัญญาเช่ากับจำเลยใหม่ตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าเดิม ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์บัญญัติรองรับไว้ การที่โจทก์ไม่ประสงค์จะทำสัญญาเช่าใหม่กับจำเลยจึงมิใช่ความผิดของโจทก์ ดังนั้นการวางเงินโดยมีเงื่อนไขดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระค่าเช่านั้นให้โจทก์แล้ว ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการโอนทรัพย์ที่เช่าดังกล่าวเป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง นายนิคมมิได้แจ้งการโอนให้จำเลยทราบเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก การโอนสิทธิเรียกร้องไม่ชอบ จึงถือว่าโจทก์มิได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยและไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า จำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคแรก ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share