แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยผู้ร้องยังมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มิได้คำนวณดอกเบี้ยจนถึงวันยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองและไม่ได้เรียกดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องจนถึงวันขายทอดตลาดมาด้วย ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้องเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 28,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงบังคับคดีนำยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 429 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้นั้น จำเลยได้จดทะเบียนจำนองเพื่อประกันการที่ผู้ร้องรับรองตั๋วแลกเงินแก่บริษัทจุรีชัย จำกัด และเพียงวันที่ 21 มีนาคม2532 บริษัทจุรีชัย จำกัด เป็นหนี้ผู้ร้องตามสัญญาจำนองเป็นเงิน396,026.13 บาท ดังนั้นเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิต่อไป
โจทก์ไม่คัดค้านคำร้อง
จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว แต่มิได้ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น
ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ 13พฤษภาคม 2534 โดยผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ในราคา 520,000 บาทเจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินสิ้นสุดเพียงวันที่ 13 พฤษภาคม 2534 ให้จ่ายเงินชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้อง396,026.13 บาท โดยมิได้คิดดอกเบี้ยนับจากวันที่ 21 มีนาคม 2532ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2534 ให้แก่ผู้ร้อง ตามคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ผู้ร้องได้เสนอสัญญาจำนองท้ายคำร้องซึ่งระบุว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 250,000 บาทจึงขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินเสียใหม่ โดยคิดดอกเบี้ยให้ผู้ร้องถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยมิได้ขอรับชำระดอกเบี้ยต่อจากวันที่ 21 มีนาคม 2532 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยคำนวณหนี้ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2532 โดยมิได้ขอคิดดอกเบี้ยต่อจากวันดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณยอดหนี้ให้ผู้ร้องตามบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินชอบแล้ว ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิโดยมีการจำนองจึงต้องคิดดอกเบี้ยให้ผู้ร้องตามกฎหมาย และผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีกับได้แนบหนังสือสัญญาจำนอง และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองกำหนดให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จึงเป็นสิทธิที่ผู้ร้องจะต้องได้รับดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715(1)นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้หนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองจะกำหนดให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีและทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์คือดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715(1)ก็ตาม แต่ตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยผู้ร้องยังมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพียงแต่บรรยายมาในคำร้องว่าจำเลยนำที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 429 เล่ม 5 ก.หน้า 29 ตำบลหนองบุนนาก อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมามาจดจำนองเพื่อเป็นการค้ำประกันการรับรองตั๋วแลกเงินของผู้ร้องที่รับรองแก่บริษัทจุรีชัย จำกัด และเพียงสิ้นวันที่ 21 มีนาคม2532 บริษัทจุรีชัย จำกัด เป็นหนี้ผู้ร้องตามสัญญาจำนองอยู่ทั้งสิ้น 396,026.13 บาท ขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิเท่านั้น โดยผู้ร้องมิได้คำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 มีนาคม2532 จนถึงวันยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง (วันที่ 27 มีนาคม 2532)และไม่ได้เรียกดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องจนถึงวันขายทอดตลาดมาด้วย ดังนั้น ในเรื่องดอกเบี้ยจะเห็นได้ว่าผู้ร้องมิได้มีคำขอมาในคำร้องแต่อย่างใด ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้สิ่งใด ๆเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้อง เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นมีความหมายเพียงว่า ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองตามที่ผู้ร้องขอมาในคำร้องเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน