คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกาจำเลยที่ว่า จำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้วบางอย่างมาสืบเป็นประโยชน์ของตน และพยานหลักฐานบางอย่างก็มิเคยทราบว่ามีอยู่ ทั้งนี้เพราะทนายความคนเดิมมิได้ระบุอ้างไว้ เมื่อทนายความคนใหม่เข้ารับหน้าที่ จำเลยเพิ่งทราบว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญที่เป็นความจำเป็นนั้น ซึ่งเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคสี่ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 248 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1156 เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2532 จำเลยได้เข้าไปในที่ดินโจทก์ ขุดร่องน้ำและล้อมรั้วกั้นแนวเขตที่ดินทางด้านทิศตะวันตกเป็นเนื้อที่ประมาณ 40 ตารางวา และเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2532 จำเลยได้ตัดฟันต้นลำไยของโจทก์ในที่ดินแปลงดังกล่าว 1 ต้น ราคาประมาณ 5,000 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยถมร่องน้ำ รื้อรั้ว และชดใช้ค่าต้นลำไยพร้อมดอกเบี้ยห้ามจำเลยมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินโจทก์อีก
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย ร่องน้ำเป็นลำเหมืองสาธารณะ และต้นลำไยเป็นของจำเลยราคาเพียง 300 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยถ่มร่องน้ำและรื้อรั้วออกไปจากที่ดินโจทก์ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 29 สิงหาคม2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องมิให้เกินคำขอ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1156 ตำบลต้นธง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งจำเลยขายให้โจทก์ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ จำเลยฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จำเลยไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ในการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินที่จำเลยขายให้โจทก์จำเลยไม่เคยนำเจ้าพนักงานชี้รังวัด เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนสืบพยานได้หมดแล้วนั้นในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยอ้างว่าจำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้วบางอย่างมาสืบเป็นประโยชน์นั้น จำเลยมิได้ระบุเหตุที่ไม่สามารถทราบว่าต้องนำพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้วบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตนทั้ง ๆ ที่จำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท และจำเลยก็มีทนายความดำเนินคดีแล้วเช่นนี้จึงไม่มีเหตุจะอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสี่ ดังนั้นที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้วบางอย่างมาสืบเป็นประโยชน์ของตน และพยานหลักฐานบางอย่างก็มิเคยทราบว่ามีอยู่ ทั้งนี้เพราะทนายความคนเดิมมิได้ระบุอ้างไว้เมื่อทนายความคนใหม่เข้ารับหน้าที่ จำเลยเพิ่งทราบว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญที่เป็นความจำเป็นนั้น จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน เมื่อราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย

Share