คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7394-7395/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์ตามข้อตกลงแล้วนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล ซึ่งหากโจทก์ทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว
การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังโดยมีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับสำนวนแรก ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็เป็นอย่างเดียวกัน เพียงแต่มีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมจากสำนวนแรกเท่านั้น ซึ่งคำขอบังคับดังกล่าวโจทก์อาจขอได้ในสำนวนแรกอยู่แล้วจึงเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีสำนวนหลังขณะคดีสำนวนแรกอยู่ระหว่างการพิจารณา ฟ้องโจทก์ในสำนวนหลังจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์และเรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกและจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 31421 โจทก์เนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน 23 ตารางวา เมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ ในราคาไร่ละ 1,700,000 บาท นัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และชำระราคาวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการโอน ค่าอากร ค่าภาษี และค่านายหน้าทั้งหมด คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์ 36,500,000 บาท ก่อนถึงกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ว่าจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ให้ก่อน โจทก์จึงให้บุตรโจทก์ไปเปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาชาฉะเชิงเทรา ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอรับสมุดเงินฝากดังกล่าวไปจากโจทก์ อ้างว่าจะนำไปตรวจสอบยอดเงิน ครั้นวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 1 พาบุตรโจทก์ไปที่ธนาคาร จำเลยที่ 1 เข้าไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารแล้วนำสมุดเงินฝากมาให้บุตรโจทก์ตรวจสอบ ปรากฏว่ามีเงินฝากอยู่ในบัญชี 36,500,000 บาท โจทก์จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี เป็นเงิน 6,500,000 บาท ต่อมาโจทก์ให้บุตรโจทก์ไปเบิกเงินที่ธนาคาร จึงทราบว่าถูกจำเลยที่ 1 หลอกหลวง เนื่องจากมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเพียง 1,000 บาท โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ไว้แล้ว จำเลยทั้งสองคบคิดกันฉ้อฉลโจทก์ นิติกรรมขายฝากทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์ติดตามเอาที่ดินคืน ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 31421 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ และส่งมอบโฉนดที่ดินคืน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และหากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินคืน ขอให้สั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา มีข้อกล่าวหาและคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องเช่นเดียวกับสำนวนแรก แต่มีคำขอบังคับเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากสำนวนแรก โดยขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 31421 ฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 31421 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวนโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายเล็กบุตรโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวนโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานในประเด็นแห่งคดีเข้ากับตัวบทกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องที่จะถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกา โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อมาได้ เห็นว่า การที่โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์ตามข้อตกลงแล้วนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล ซึ่งหากโจทก์ทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซึ้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น แต่การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายและโอนที่ดินที่ซื้อขายให้แก่กัน หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว
ปัญหาสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียว โดยจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “โมฆียะกรรม เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน” คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และวินิจฉัยว่าการที่โจทก์บอกล้างโมฆียะกรรม โดยการฟ้องคดีจำเลยที่ 1 ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตได้ ดังนี้เมื่อถือได้ว่าโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ต้องโอนที่ดินคืนแก่โจทก์อันเป็นการกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่เมื่อไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินคืนแก่โจทก์ตามคำขอของโจทก์ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับซื้อฝากโดยสุจริตไปแล้ว ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกต้อง เพราะมีผลกระทบทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับโอนต่อเนื่องมาทางทะเบียนต้องขาดสาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับอำนาจฟ้องขอโจทก์ในสำนวนหลังต่อไปด้วยว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังโดยมีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับสำนวนแรก ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็เป็นอย่างเดียวกัน เพียงแต่มีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมจากสำนวนแรกเท่านั้น ซึ่งคำขอบังคับดังกล่าวโจทก์อาจขอได้ในสำนวนแรกอยู่แล้ว จึงเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีสำนวนหลังขณะคดีสำนวนแรกอยู่ระหว่างการพิจารณา ฟ้องโจทก์ในสำนวนหลังจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งมีผลเป็นการยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share