คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5992/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยซื้อมาจากมารดาโจทก์ ขอให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดิน โจทก์ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ได้รับการยกให้ที่พิพาทจากมารดา แล้วครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อเกิน 10 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์กลับมาฟ้องเป็นคดีนี้อ้างว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ นิติกรรมการซื้อขายของจำเลยกับมารดาโจทก์เป็นโมฆะ ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ในคดีเดิมศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย พิพากษาให้โจทก์รื้อถอนบ้านออกจากที่พิพาท ดังนี้มูลคดีทั้งสองคดีนี้มีว่า คู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าของที่พิพาทเป็นประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกัน การที่โจทก์ในคดีนี้ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอีกในคดีนี้เท่ากับโจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วในคดีซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางแข สิทธิประเสริฐ มารดาโจทก์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 873 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธรเนื้อที่ 1 งาน 34 ตารางวา ให้แก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2520 โจทก์ครอบครองที่ดินแปลงนี้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533 จำเลยฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 466/2533 โดยกล่าวอ้างว่าได้ซื้อที่พิพาทจากนางแขเมื่อปี 2532 ขอให้บังคับโจทก์และบริวารขนย้ายออกไป เนื่องจากจำเลยจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทมาโดยไม่สุจริต จึงขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นโมฆะไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ที่ดินโฉนดเลขที่ 873 ตำบลในเมืองอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เนื้อที่ 1 งาน 34 8 ตารางวาเป็นของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย โดยจำเลยซื้อมาจากนางแขในราคา200,000 บาท เป็นการซื้อโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำกับคดีก่อนหรือไม่ เห็นว่าก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ว่า ที่ดินโฉนดที่ 873ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เนื้อที่ 1 งาน34 8 ตารางวา เป็นของจำเลยโดยซื้อมาจากมารดาโจทก์ขอให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินของจำเลย ปรากฎตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 466/2533 คดีหมายเลขแดงที่ 689/2533 ของศาลชั้นต้น โจทก์ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินตามฟ้อง โจทก์ได้รับการยกให้จากมารดาแล้วครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อเกิน 10 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์กลับมาฟ้องเป็นคดีนี้อ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์ นิติกรรมการซื้อขายของจำเลยกับมารดาโจทก์เป็นโมฆะ ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ในคดีเดิมดังกล่าวข้างต้นศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ (จำเลยคดีนี้)พิพากษาให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) รื้อถอนบ้านออกจากที่พิพาทดังนี้ จึงเห็นได้ว่า มูลคดีทั้งสองคดีนี้มีว่า คู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าของที่พิพาทเป็นประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกัน การที่โจทก์ในคดีนี้ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในคดีนี้เท่ากับโจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 689/2533 ของศาลชั้นต้น ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share