แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การยื่นซองประกวดราคาการก่อสร้างมีเงื่อนไขหลายประการที่โจทก์ (องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) วางไว้ เมื่อโจทก์ได้ออกประกาศแจ้งความเรียกประกวดราคา ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เข้ายื่นของประกวดราคาต่อโจทก์จึงเท่ากับว่าจำเลยได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของโจทก์ทุกประการ ต่อมาจำเลยยื่นหนังสือต่อโจทก์มีข้อความว่า “เนื่องจากความผิดพลาดในการคิดคำนวณราคาคลาดเคลื่อนและตกหล่นไปบ้างบางรายการ ซึ่งหากไม่เช่นนั้นแล้วข้าพเจ้า (จำเลย) ก็จะต้องเสนอราคาสูงกว่านี้อีกมาก ฯลฯ โดยข้าพเจ้าไม่มีเจตนาแต่อย่างใดเลยและก็เกินแก่การแก้ไขได้ ดังนั้น…ฯลฯ… ขอท่านได้โปรดพิจารณากรุณาผ่อนผันให้ข้าพเจ้าได้สละสิทธิการเสนอราคางานรายนี้ โดยยกเว้นไม่ต้องพิจารณาราคาที่ข้าพเจ้าเสนอในครั้งนี้ เสมือนหนึ่งว่าข้าพเจ้ามิได้ยื่นประกวดราคาครั้งนี้ด้วยแต่อย่างใด…ฯลฯ… “หนังสือของจำเลยดังกล่าวจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นหนังสือสละสิทธิการเสนอราคา และขณะเดียวกันก็เป็นหนังสือที่แสดงการขอถอนของประกวดราคาต่อโจทก์ด้วย เพราะมีถ้อยคำว่า “เสมือนหนึ่งว่าข้าพเจ้ามิได้ยื่นประกวดราคาครั้งนี้ด้วยแต่อย่างใด” เงื่อนไขในการยื่นซองประกวดราคาต่อโจทก์ซึ่งกำหนดไว้ว่า ซองของผู้เสนอราคาทุกรายที่ได้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ขององค์การโทรศัพท์ฯ แล้ว ย่อมถือว่าเป็นสิทธิขององค์การโทรศัพท์ฯ จะถอนคืนไปมิได้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น และถ้าผู้ใดสละสิทธิการเสนอราคาหรือขอถอนซองประกวดราคาภายหลังยื่นซองประกวดราคาแล้ว ถือว่าผู้นั้นผิดเงื่อนไขการประกวดราคา ซึ่งองค์การโทรศัพท์ฯ จะริบเงินมัดจำตามรายการนี้ได้ทันที
คำฟ้องของโจทก์แม้จะกล่าวว่าฟ้องธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สาขาวัดตึกก็ต้องถือว่าโจทก์ฟ้องธนาคารไทยพัฒนา จำกัด นั่นเอง เพราะบริษัทจำกัด นอกจากสำนักงานแห่งใหญ่แล้ว จะมีสำนักงานสาขาที่ใดอีกก็ได้ และสาขาของบริษัทใดก็คือส่วนหนึ่งของบริษัทนั้นนั่นเอง จึงไม่ต้องมีการจดทะเบียนให้สาขาเป็นบริษัทขึ้นอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ประกาศประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารชุมสายโทรศัพท์โดยมีเงื่อนไขแห่งข้อสัญญาการประกวดราคา จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้จัดการได้ยื่นซองประกวดราคาก่อสร้าง อาคารชุมสายโทรศัพท์แห่งนี้ต่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์ โดยเสนอราคาค่าก่อสร้างทั้งหมดเป็นเงิน ๘๔๘,๐๐๐ บาท และเสนอให้ราคานี้ทรงอยู่ได้ภายในกำหนดเวลา ๖๐ วัน ซึ่งในการยื่นซองประกวดราคาครั้งนี้ จำเลยที่ ๑, ๒ ได้นำหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ ๓ ที่ค้ำประกัน ในวงเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท มาวางไว้กับโจทก์พร้อมซองประมูลตามประกาศและเงื่อนไขแห่งข้อสัญญาการประกวดราคาด้วย โดยจำเลยที่ ๓ ได้รับรองและให้สัญญาต่อโจทก์ว่า หากจำเลยที่ ๑, ๒ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการยื่นซองประกวดราคาประการใด อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๓ ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ภายในวงเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ในระหว่างระยะเวลาที่คณะกรรมการขององค์การโทรศัพท์กำลังพิจารณาข้อเสนอราคาจ้างเหมาจากผู้ยื่นซองประกวดเพื่อสั่งจ้างเหมานี้เอง จำเลยที่ ๑, ๒ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดก็ได้ยื่นหนังสือต่อโจทก์ ขอสละสิทธิการเสนอราคาของจำเลยในการประกวดราคาครั้งนี้ โดยขอให้โจทก์ยกเว้นไม่ต้องพิจารณาราคาที่จำเลยเสนอเสมือนหนึ่งจำเลยมิได้ยื่นประกวดราคาครั้งนี้ด้วยแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการผิดเงื่อนไข โจทก์จึงจำเป็นต้องพิจารณาและสั่งว่าจ้างห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลพระประแดงการช่างผู้ซึ่งเสนอราคาก่อสร้างรายนี้ทั้งหมดเป็นเงิน ๑,๐๓๐,๐๐๐ บาท อันเป็นราคาต่ำถัดจากราคาที่จำเลยเสนอขึ้นไป โดยต้องเสียค่าสร้างเพิ่มขึ้นเป็นเงิน ๑๘๒,๐๐๐ บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑, ๒ ให้การว่า เงื่อนไขในการประกวดราคาการก่อสร้างนั้น โจทก์ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะพิจารณาแก่ผู้เสนอราคาใดให้ผู้รับเหมาก็ได้ แม้จะไม่ใช่ผู้เสนอราคาต่ำสุดก็ตาม หรือยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้เสียก็ได้ หนังสือจำเลยที่ ๑ ตามที่กล่าวนั้นก็มิใช่หนังสือที่แสดงการสละสิทธิของจำเลยในการประกวดราคาครั้งนี้ การประกวดราคาครั้งนี้จำเลยที่ ๑ จึงยังเป็นผู้เสนอราคายืนอยู่ภายใน ๖๐ วัน มิได้ผิดเงื่อนไขหรือสัญญาใด ๆ กับโจทก์เลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ จำเลยที่ ๒ ต่อสู้ว่า การยืนซองประกวดราคาก่อสร้างอาคารชุมสายโทรศัพท์รายนี้จำเลยที่ ๒ กระทำในฐานะเป็นผู้จัดการกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่ได้กระทำเป็นการส่วนตัว
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๓ ไม่ได้ โจทก์เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการยื่นซองประกวดราคา เพราะมิได้เรียกให้จำเลยที่ ๑ มาทำสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย ร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การยื่นซองประกวดราคาการก่อสร้างรายนี้เป็นอันรับกันทั้งสองฝ่ายว่ามีเงื่อนไขอยู่หลายประการที่โจทก์วางไว้ เมื่อโจทก์ได้ออกประกาศแจ้งความเรียกประกวดราคา ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้เข้ายื่นซองประกวดราคาต่อโจทก์ จึงเท่ากับว่าจำเลยที่ ๑ ได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของโจทก์ทุกประการ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีปัญหาว่าการที่จำเลยที่ ๑ ยื่นหนังสือต่อโจทก์ฉบับลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๐๘ เป็นการผิดเงื่อนไขในการยื่นซองประกวดราคาของโจทก์หรือไม่
ความข้อนี้ปรากฏข้อความตามหนังสือของจำเลยนั้นว่า “เนื่องจากความผิดพลาดในการคิดคำนวณราคาคลาดเคลื่อนและตกหล่นไปบ้างบางรายการ ซึ่งหากไม่เช่นนั้น แล้วข้าพเจ้า (จำเลย) ก็จะต้องเสนอราคาสูงกว่านี้อีกมาก ฯลฯ โดยข้าพเจ้าไม่มีเจตนาแต่อย่างใดเลย และก็เกินแก่การแก้ไขได้ ดังนั้น…ฯลฯ… “ขอท่านได้โปรดพิจารณากรุณาผ่อนผันให้ข้าพเจ้าได้สละสิทธิการเสนอราคางานรายนี้ โดยยกเว้นไม่ต้องพิจารณาราคาที่ข้าพเจ้าเสนอในครั้งนี้ เสมือนหนึ่งว่าข้าพเจ้ามิได้ยื่นประกวดราคาครั้งนี้ด้วยแต่อย่างใด…ฯลฯ… หนังสือของจำเลยดังกล่าวจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นหนังสือสละสิทธิการเสนอราคา และขณะเดียวกันก็เป็นหนังสือที่แสดงการขอถอนซองประกวดราคาต่อโจทก์ด้วย เพราะมีถ้อยคำว่า “เสมือนหนึ่งว่าข้าพเจ้ามิได้ยื่นประกวดราคาครั้งนี้ด้วยแต่อย่างใด” หนังสือของจำเลยจึงผิดเงื่อนไขในการยื่นซองประกวดราคาต่อโจทก์ซึ่งกำหนดว่า ซองของผู้เสนอราคาทุกรายที่ได้ยืนไว้ต่อเจ้าหน้าที่ขององค์การโทรศัพท์แล้ว ย่อมถือว่าเป็นสิทธิขององค์การโทรศัพท์ฯ จะถอนคืนไปมิได้ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น และถ้าผู้สละสิทธิการเสนอราคา หรือขอถอนซองประกวดราคาภายหลังการยื่นซองประกวดราคาแล้ว ถือว่าผู้นั้นผิดเงื่อนไขการประกวดราคา ซึ่งองค์การโทรศัพท์ฯ จะริบเงินมัดจำตามรายการนี้ได้ทันที
สำหรับฎีกาของโจทก์ศาลฎีกาเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์คดีนี้แม้จะกล่าวว่าฟ้องธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สาขาวัดตึก ก็ดี ก็ต้องถือว่า โจทก์ฟ้องธนาคารไทยพัฒนา จำกัด นั่นเอง หาใช่ฟ้องบุคคลอื่นใดไม่ ทั้งนี้ เพราะบริษัทจำกัดนั้นนอกจากสำนักงานแห่งใหญ่แล้ว จะมีสำนักงานสาขาที่ใดอีกก็ได้ และสาขาของบริษัทใดก็คือส่วนหนึ่งของบริษัทนั้นนั่นเอง จึงไม่ต้องมีการจดทะเบียนให้สาขาเป็นบริษัทขึ้นอีก ซึ่งคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็ว่า จำเลยที่ ๓ เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเลขที่ ๒๗๑ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๗๗ มีนายเจิม ภูมิจิตร เป็นผู้จัดการ ตรงกับหนังสือรับรองการจดทะเบียนของธนาคารไทยพัฒนาจำกัด เอกสารหมาย ล.๑๖ ที่จำเลยที่ ๓ อ้างเป็นพยาน เป็นการยืนยันว่าฟ้องธนาคารไทยพัฒนา จำกัด นั้นอยู่แล้ว
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีนี้ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น