คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อไป แม้หากจำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีต โครงเหล็กเป็นโรงจอดรถยนต์และบันไดคอนกรีตอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ก็เป็นการกระทำลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เป็นการเข้าไปกระทำในที่ดินของโจทก์ไม่ หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 362, 365 และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นกำแพงคอนกรีต โครงเหล็ก บันไดคอนกรีต และเสาคอนกรีตออกจากทางภาระจำยอมและที่ดินของโจทก์ ทำให้ที่ดินอยู่ในสภาพเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ขอให้สั่งให้ผู้อื่นหรือโจทก์ดำเนินการแทนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และนายปัญญา สามีโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 34941 จากการขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดีจังหวัดระยอง ส่วนจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 15037 มาจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งที่ดินของโจทก์ได้สิทธิในทางภาระจำยอมทางเดินทางรถยนต์จากที่ดินโฉนดเลขที่ 15037 ของจำเลยที่ 1 หลังจากโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 34941 แล้ว โจทก์ปรับสภาพดิน ปักเสาล้อมรั้วลวดหนามและให้นายจันทุลีปลูกสับปะรด ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 นายปัญญาได้รับแจ้งจากนายจันทุลีว่า จำเลยทั้งสองปักเสาปูน 24 ต้น และล้อมรั้วลวดหนามบนที่ดินพิพาทที่โจทก์ปลูกสับปะรด จำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีต โครงเหล็กเป็นโรงจอดรถยนต์และบันไดคอนกรีตบนทางภาระจำยอม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากโจทก์และนายปัญญาว่า ก่อนจะประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 34941 ดังกล่าวจากการขายทอดตลาด เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าที่ดินแปลงนี้ไม่มีโฉนดเพราะว่าสูญหาย โจทก์จึงดูและตรวจสอบที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวจากรูปแผนที่สังเขปท้ายประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดระยอง เรื่องขายทอดตลาดที่ดิน โจทก์เพิ่งมาได้โฉนดที่ดินดังกล่าวหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด และสำนักงานที่ดินจังหวัดระยอง สาขาอำเภอบ้านค่าย ได้ออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แล้วโจทก์เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าว ปรับสภาพดิน ล้อมรั้ว และให้นายจันทุลีปลูกสับปะรดลงบนที่ดิน โดยอ้างแนวเขตระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองว่าเป็นไปตามแนวต้นยูคาลิปตัสซึ่งเจ้าของเดิมครอบครองมาอยู่ก่อนโดยสงบเปิดเผยเกิน 10 ปี แล้ว จำเลยทั้งสองไม่เคยโต้แย้ง แสดงว่าจำเลยทั้งสองยอมรับแนวเขตที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตามแนวต้นยูคาลิปตัสดังกล่าว แต่การอ้างเช่นนี้เป็นการกล่าวอ้างของโจทก์ฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองมิได้ยินยอมด้วยเพราะก่อนที่จำเลยทั้งสองจะปักเสาปูน 24 ต้น และล้อมรั้วลวดหนามนั้น จำเลยที่ 2 โทรศัพท์มาแจ้งให้นายปัญญาทราบก่อนแล้ว แต่นายปัญญาบอกว่าอย่าเพิ่งทำ ให้นัดทนายความมาพูดคุยก่อน นอกจากนี้โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า โจทก์เคยให้เจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าว แต่ปรากฏว่าหลักหมุดสูญหายไป เจ้าพนักงานที่ดินจึงทำการปักหลักหมุดใหม่ แต่โจทก์เห็นว่าปักหลักหมุดใหม่ไม่ถูกต้อง โจทก์จึงไปร้องคัดค้านไว้ที่สำนักงานที่ดิน และนายปัญญายังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า จำเลยทั้งสองปักเสาปูน 24 ต้น และล้อมรั้วลวดหนามตามแนวหลักหมุดที่เจ้าพนักงานที่ดินปักใหม่ แต่น่าเชื่อว่ามีการขยับแนวเขตรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ดังนี้ เมื่อโจทก์อ้างว่าแนวเขตระหว่างที่ดินของโจทก์กับจำเลยที่ 1 คือ แนวต้นยูคาลิปตัส โต้แย้งว่าแนวเขตของโจทก์กับจำเลยที่ 1 คือ หลักหมุดใหม่ เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังคงโต้เถียงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่เช่นนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องทางแพ่ง ยังฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองมีมูลในความผิดฐานบุกรุก ส่วนที่โจทก์ฎีกาเกี่ยวกับที่ดินส่วนที่เป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ว่า เจ้าของที่ดินเดิมจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยกออกมา จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินดังกล่าวมาย่อมต้องรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ การที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีต โครงเหล็กเป็นโรงจอดรถยนต์และบันไดคอนกรีตบนทางภาระจำยอม ย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุกนั้น เห็นว่า ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 โดยจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อไป ฉะนั้น แม้หากจำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีต โครงเหล็กเป็นโรงจอดรถยนต์และบันไดคอนกรีตอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกก็เป็นการกระทำลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เป็นการเข้าไปกระทำในที่ดินของโจทก์ไม่ ซึ่งหากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร ก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลในความผิดฐานบุกรุกเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลความผิดฐานบุกรุก ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share