คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7054/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ด้วยการปลอมโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นของตนและนำสำเนาโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกันหนี้ โจทก์หลงเชื่อจึงให้จำเลยที่ 1 กู้เงินโดยทำสัญญากู้เงินและมอบเงิน 140,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จในวันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์อีกว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินและขอใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ต่อไป โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ไว้ให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์จึงหลงเชื่อยอมรับหลักประกันดังกล่าวและขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 สำเร็จไปแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าในการหลอกลวงครั้งหลังจำเลยทั้งสองได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินกู้ 140,000 บาท ที่ได้รับไปแล้ว แม้ว่าโจทก์จะทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่กับจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นเพียงขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น หาได้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในสัญญากู้เงินฉบับเดิมแต่อย่างใดไม่ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้นำสัญญากู้เงินดังกล่าวไปฟ้องคดีแพ่งและศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จึงมิได้มีผลให้โจทก์หรือทำให้โจทก์ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงเห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 8 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 17389 เดิมมีชื่อนางชุม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2553 จำเลยที่ 2 ขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่นายวิชา มีกำหนด 6 เดือน และไม่ไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดเวลาขายฝาก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 2 ระบุว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์จำนวน 140,000 บาท และได้มอบสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 17389 ให้โจทก์ยึดถือเป็นหลักประกันในการกู้เงิน ครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้ วันที่ 11 มิถุนายน 2558 ต่อมาในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้เงินกับหนังสือยอมรับสภาพหนี้ และจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ โดยสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ. 8 มีข้อความทำนองเดียวกับสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ. 1 แต่มีกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้วันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 ต่อมาโจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงิน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้เงินจำนวน 140,000 บาท เนื่องจากจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์โดยการปลอมโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 ว่าเป็นของตนและนำสำเนาโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกันหนี้ โจทก์หลงเชื่อจึงทำสัญญากู้เงินและมอบเงิน 140,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จในวันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์อีกว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 17389 และขอใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ต่อไป โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ให้ไว้แก่โจทก์ด้วย โจทก์หลงเชื่อจึงยอมรับหลักประกันดังกล่าวและขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่ หลังจากที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 สำเร็จไปแล้ว ไม่ปรากฏว่าในการหลอกลวงครั้งหลัง จำเลยทั้งสองได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เพิ่มเติมอีก นอกเหนือเงินกู้จำนวน 140,000 บาท ที่ได้รับไปแล้ว แม้ว่าโจทก์จะทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่กับจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นเพียงขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น หาได้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในสัญญากู้เงินฉบับเดิมแต่อย่างใดไม่ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้นำสัญญากู้เงินดังกล่าวไปฟ้องและศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จึงไม่ได้มีผลให้โจทก์หรือทำให้โจทก์ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ อันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า การหลอกลวงโจทก์ในครั้งหลังจำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่ชำระเงิน 140,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 คืนโจทก์โดยชัดแจ้ง อันเป็นความผิดต่อเนื่องกับความผิดครั้งแรก การหลอกลวงของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว และฎีกาว่าความผิดฉ้อโกงในวันดังกล่าวยังไม่ระงับไปนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 และการกระทำของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 สามารถแยกต่างหากจากการกระทำเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ได้ ไม่ใช่การกระทำความผิดต่อเนื่อง และถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงิน 140,000 บาท จากโจทก์แล้วดังที่โจทก์ฎีกา การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share