แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นแรกที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 จากนั้นได้วินิจฉัยในประเด็นที่สองว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างที่ค้างชำระและต้องคืนเงินประกันผลงานตามฟ้องแก่โจทก์ เพียงแต่คำพิพากษาระบุในคำวินิจฉัยในประเด็นที่สองต่อไปว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำนอกขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นการส่วนตัว จากนั้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิด และยกฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยในคำพิพากษาตามประเด็นข้อพิพาทข้อที่หนึ่งและข้อที่สอง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อเนื่องมีเหตุผลชัดแจ้งและสรุปรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระเงินที่ค้างชำระกับต้องคืนเงินประกันผลงานตามฟ้องแก่โจทก์ การที่คำพิพากษาได้พิมพ์ระบุจำเลยที่ 1 และที่ 2 สลับกันในตอนหลังและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินแก่โจทก์ ซึ่งขัดแย้งกับคำวินิจฉัยตอนต้น เชื่อว่าเกิดจากความผิดพลาดในการพิมพ์คำพิพากษาตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แก้ไขคำพิพากษาดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นทราบและขอให้มีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้อง ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่ได้พิพากษาเห็นสมควรย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขคำพิพากษาข้อผิดพลาดดังกล่าวได้ โดยหาจำต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบเพื่อคัดค้านไม่ ทั้งการแก้ไขดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาในข้อผิดพลาดเล็กน้อยดังกล่าวโดยไม่ส่งสำเนาคำร้องของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ทราบ หาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 8,714,950.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 สิงหาคม 2558) ต้องไม่เกิน 490,215.98 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และมีคำสั่งออกคำบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษา วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และไม่ได้กระทำนอกเหนืออำนาจแห่งฐานตัวแทนไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขคำพิพากษาเป็นให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ และยกฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาตามคำร้องของจำเลยที่ 1 และเพิกถอนคำบังคับเดิม ออกคำบังคับใหม่ตามคำพิพากษาที่แก้ไขส่งให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยชอบแล้ว
วันที่ 11 มกราคม 2560 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และเพิกถอนการแก้ไขคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างที่ค้างชำระและต้องคืนเงินประกันผลงานตามฟ้องแก่โจทก์ แต่วินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำนอกขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นการส่วนตัว และเมื่อพิจารณากลับพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 8,714,950.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 สิงหาคม 2558) ต้องไม่เกิน 490,215.98 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้แก้ไขคำพิพากษาเป็นให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามคำพิพากษาและยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ส่งสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอื่น และมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาเป็นว่า “เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กระทำนอกขอบเขตอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นการส่วนตัว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 8,714,950.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 สิงหาคม 2558) ต้องไม่เกิน 490,215.98 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1” และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำบังคับเดิมและออกคำบังคับใหม่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า กรณีมีเหตุให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าในคำพิพากษาหรือคำสั่งใดมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ” และมิได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เมื่อศาลที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งนั้นเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกก็ได้…” และวรรคสองบัญญัติว่า “การทำคำสั่งเพิ่มเติมตามมาตรานี้ จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิม” คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในคำพิพากษาตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ประเด็นแรกที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 จากนั้นได้วินิจฉัยประเด็นที่สองที่ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างที่ค้างชำระและต้องคืนเงินประกันผลงานตามฟ้องแก่โจทก์ เพียงแต่คำพิพากษาระบุในคำวินิจฉัยในประเด็นที่สองต่อไปว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำนอกขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นการส่วนตัว จากนั้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิด และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยในคำพิพากษาตามประเด็นข้อพิพาทข้อที่หนึ่งและข้อที่สองแล้ว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อเนื่องมีเหตุผลชัดแจ้งและสรุปรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวที่ค้างชำระกับต้องคืนเงินประกันผลงานตามฟ้องแก่โจทก์ การที่คำพิพากษาได้พิมพ์ระบุจำเลยที่ 1 และที่ 2 สลับกันในตอนหลังและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินแก่โจทก์ ซึ่งขัดแย้งกับคำวินิจฉัยตอนต้น เชื่อว่าเกิดจากความผิดพลาดในการพิมพ์คำพิพากษาตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 11 มกราคม 2560 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แก้ไขคำพิพากษาดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นทราบและขอให้มีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่ได้พิพากษาเห็นสมควรก็มีอำนาจที่จะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวได้ โดยหาจำต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบเพื่อคัดค้านไม่ ทั้งการแก้ไขดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิมแต่อย่างใด ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น อีกทั้งหลังจากที่มีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาแล้ว ศาลชั้นต้นออกคำบังคับส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ทราบด้วยวิธีปิดหมายโดยชอบแล้ว เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2560 ซึ่งศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 8,714,950.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 สิงหาคม 2558) ต้องไม่เกิน 490,215.98 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และหมายเหตุว่า ให้ยกเลิกคำบังคับฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการแจ้งคำพิพากษาที่แก้ไขแล้วให้แก่จำเลยที่ 2 ทราบ ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 ทนายจำเลยที่ 2 ได้ไปตรวจสำนวนพบว่าศาลได้มีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ด้วยแล้ว ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าผลแห่งการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาดังกล่าว ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากล่วงเลยระยะเวลายื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ต้องเสียสิทธิในการอุทธรณ์เพราะเหตุศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แก้ไขคำพิพากษาโดยขัดต่อกฎหมายดังกล่าว ในเรื่องนี้ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้มีคำสั่งไว้ว่า หากการแก้ไขดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และพ้นกำหนดอุทธรณ์แล้วจริง เหตุดังกล่าวย่อมเป็นพฤติการณ์พิเศษและถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะขอขยายระยะเวลาต่อศาลได้ ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ทราบคำสั่งของศาลดังกล่าวแล้ว หากจำเลยที่ 2 ประสงค์ที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ก็สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยอ้างเหตุสุดวิสัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไว้ แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ใช้สิทธิดังกล่าวเอง คงยืนยันอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบจนล่วงเลยเวลาอุทธรณ์เนิ่นนาน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาในข้อผิดพลาดเล็กน้อยดังกล่าวโดยไม่ส่งสำเนาคำร้องของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ทราบ หาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกาให้เป็นพับ