คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 103/2543 นอกจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีคำสั่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหา ว. แล้ว ยังมีคำสั่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่กรมที่ดินว่ามีการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิที่ดินในท้องที่จังหวัดชลบุรีด้วย ซึ่งหมายความรวมถึงกรณีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินในคดีนี้ด้วย คณะอนุกรรมการไต่สวนจึงมีอำนาจไต่สวนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ได้ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมได้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 84 และมาตรา 88 รวมทั้งเมื่อมีกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีบุคคลอื่นเกี่ยวข้องเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐในการกระทำความผิดดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ย่อมไต่สวนและชี้มูลความผิดของบุคคลเหล่านั้นได้ เพราะถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดด้วยกัน แต่ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้ ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2543 ยังไม่ได้กำหนดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวดังเช่นที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ข้อ 26 ดังนั้น ประธานกรรมการ ป.ป.ช. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจออกประกาศเพิ่มอำนาจให้แก่คณะอนุกรรมการไต่สวนให้มีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อไปด้วย อันเป็นการให้มีผลเฉพาะคดีนี้เท่านั้น ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง หาจำต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาตาม มาตรา 5 วรรคสอง ไม่ เพราะไม่ใช่ประกาศหรือระเบียบที่มีผลเป็นการทั่วไป คำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 28/2545 จึงมีผลบังคับได้ และคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงมีอำนาจไต่สวนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 157, 162 (1) (4)
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 162 (4) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 7 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 7 ปี จำเลยที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 4 ปี 8 เดือน ปรับจำเลยที่ 7 เป็นเงิน 12,000 บาท หากจำเลยที่ 7 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เดิมสำนักงาน ป.ป.ป. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนนายวัฒนา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ว่ามีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตและประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ในการร่วมกันออกเอกสารสิทธิในที่ดินในท้องที่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ และได้ออกเลขรับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเลขดำที่ 42020469 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ป. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนนายวัฒนา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ว่า 1. ทุจริตในการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ และ 2. ทุจริตในการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งกรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตและประพฤติมิชอบในเรื่องที่บริษัทอาชาแลนด์ จำกัด ของนายวัฒนา ถมทะเลที่บริเวณแหลมบาลีฮาย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยให้นำประเด็นการกล่าวหาทั้ง 3 ประเด็น ไปออกเลขเรื่องร้องเรียน แล้วดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวมกับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่ 42020469 และได้ออกเลขรับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเลขดำที่ 42020730 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ดังนั้น การที่คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำการรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเลขดำที่ 42020469 เลขแดงที่ 07244547 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2547 จึงเป็นการไต่สวนคดีนี้ หาใช่เป็นคนละคดีไม่ ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่า รายงานการไต่สวนได้เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2547 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ที่ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 ซึ่งออกมาใช้บังคับในภายหลังมาวินิจฉัยเป็นโทษแก่จำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2543 ข้อ 25 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงได้ชี้ให้เห็นว่าระเบียบดังกล่าวได้ถูกยกเลิกแล้ว แต่ระเบียบใหม่ คือ ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ข้อ 15 วรรคหนึ่ง ก็ยังได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นอย่างเดียวกันอันแสดงให้เห็นว่าระเบียบทั้งสองฉบับมีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้มีการแจ้งข้อกล่าวหา และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาโดยนำสืบพยานแก้ข้อกล่าวหาได้ เท่านั้น มิได้วินิจฉัยว่าให้ใช้ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 มาใช้บังคับแต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ตามคำสั่งที่ 103/2543 คณะอนุกรรมการไต่สวนมีอำนาจไต่สวนเฉพาะกรณีการกล่าวหาร้องเรียนเรื่องการถมทะเลเท่านั้น แม้ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีคำสั่งเพิ่มอำนาจคณะอนุกรรมการไต่สวนตามคำสั่งที่ 28/2545 ก็ไม่ทำให้คณะอนุกรรมการไต่สวนมีอำนาจเพิ่มเติมด้วยผลแห่งคำสั่งดังกล่าวได้ เพราะการเพิ่มอำนาจให้คณะอนุกรรมการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะทำเป็นคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 28/2545 ไม่ได้ โดยจะต้องทำเป็นระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น จึงจะมีผลเป็นการใช้บังคับทั่วไปได้ และที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ที่ 103/2543 เป็นเพียงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงและเป็นเพียงคำสั่งที่ใช้บังคับเฉพาะภายในหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเท่านั้น คณะอนุกรรมการไต่สวนจะต้องปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2543 ซึ่งมิได้ให้อำนาจคณะอนุกรรมการไต่สวนไว้โดยชัดแจ้งที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและแจ้งข้อกล่าวหาหรือชี้มูลความผิดบุคคลอื่นที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ คณะอนุกรรมการไต่สวนตามคำสั่งที่ 103/2543 จึงไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหาหรือชี้มูลความผิดจำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้ แม้ต่อมาภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีคำสั่งเพิ่มอำนาจคณะอนุกรรมการไต่สวนให้มีอำนาจไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้ตามคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 28/2545 ก็ตาม เนื่องจากคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 28/2545 เป็นคำสั่งที่มีผลเป็นการทั่วไปตามความหมายในมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องออกเป็นระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวนเท่านั้น จะทำเป็นคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังเช่นคำสั่งที่ 28/2545 ไม่ได้ และจะต้องนำระเบียบไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงจะใช้บังคับได้ตามมาตรา 5 วรรคสอง คำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 28/2545 จึงไม่มีผลบังคับใช้และไม่มีผลทำให้คณะอนุกรรมการไต่สวนตามคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 103/2543 มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและแจ้งข้อกล่าวหาหรือชี้มูลความผิดจำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้ ดังนี้ กระบวนการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 6 และที่ 7 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2546 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2547 จึงไม่ชอบ แม้ต่อมาภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้ออกระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 และโดยระเบียบดังกล่าวในข้อ 26 ได้ให้อำนาจคณะอนุกรรมการไต่สวนมีอำนาจไต่สวนบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมหรือเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดในเรื่องที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงก็ตาม ก็ไม่ทำให้กระบวนการไต่สวน การแจ้งข้อกล่าวหา และการชี้มูลความผิดจำเลยที่ 6 และที่ 7 ซึ่งกระทำไปก่อนที่จะมีระเบียบดังกล่าวได้ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดจำเลยที่ 6 และที่ 7 แล้ว เห็นว่า คำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 103/2543 นอกจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีคำสั่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายวัฒนาแล้ว ยังมีคำสั่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่กรมที่ดินว่ามีการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิที่ดินในท้องที่จังหวัดชลบุรีด้วย ซึ่งหมายความรวมถึงกรณีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินในคดีนี้ด้วย คณะอนุกรรมการไต่สวนจึงมีอำนาจไต่สวนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ได้ และดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไว้แล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 84 และมาตรา 88 รวมทั้งเมื่อมีกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีบุคคลอื่นเกี่ยวข้องเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐในการกระทำความผิดดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ย่อมไต่สวนและชี้มูลความผิดของบุคคลเหล่านั้นได้ เพราะถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดด้วยกัน แต่ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้ ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2543 ยังไม่ได้กำหนดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวดังเช่นที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ข้อ 26 ดังนั้น ประธานกรรมการ ป.ป.ช. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจออกประกาศเพิ่มอำนาจให้แก่คณะอนุกรรมการไต่สวนให้มีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อไปด้วย อันเป็นการให้มีผลเฉพาะคดีนี้เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง หาจำต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาตาม มาตรา 5 วรรคสอง ไม่ เพราะไม่ใช่ประกาศหรือระเบียบที่มีผลเป็นการทั่วไป คำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 28/2545 จึงมีผลบังคับได้ และคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงมีอำนาจไต่สวนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 6 และที่ 7 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 389 ได้แบ่งแยกออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 443 และ 444 ซึ่งได้ออกเป็นโฉนดที่ดินไปหมดแล้ว โดยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 444 เป็นที่ดินข้างเคียงของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 389 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงทางด้านทิศใต้ได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 9592 ที่จำเลยที่ 1 ใช้ทำการรังวัดยึดโยงมาออกโฉนดที่ดินดังกล่าว ที่ดินที่จำเลยที่ 7 ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินจึงถูกต้องตรงตามตำแหน่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 และ 389 เดิม มิได้นำที่ดินนอกหลักฐานมาออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 7 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 มิได้รังวัดออกนอกหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 และ 389 รุกล้ำแนวเขตที่ดินที่เป็นหาดทรายชายทะเลหรือทะเลที่จำเลยที่ 7 ถมที่ดินและวางแนวหินซึ่งสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาชลบุรี ได้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 7 ต่อสถานีตำรวจภูธรพัทยา ตามหนังสือที่ คค 05171/0371 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 และสถานีตำรวจภูธรพัทยาได้แจ้งให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาชลบุรี ขอรังวัดตรวจสอบแนวเขตทะเลติดต่อกับที่ดินของจำเลยที่ 7 ตามหนังสือที่ ชบ 1220.15 (38) /10781 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2543 และต่อมาสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาชลบุรี แจ้งต่อสถานีตำรวจภูธรพัทยาว่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาชลบุรี ได้ตรวจสอบแนวเขตที่ดินดังกล่าวแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 7 ถมดินและวางแนวหินเกินเขตออกมานอกโฉนดที่ดินเลขที่ 83096 ลงมาในทะเลเป็นเนื้อที่ความกว้างประมาณ 8.20 เมตร ความยาวประมาณ 250 เมตร รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 2,025 ตารางเมตร ตามหนังสือที่ คค 0517.1/330 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2543 ชี้ให้เห็นว่าที่ดินในส่วนที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาชลบุรี ดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกเข้าไปถมทะเลนั้น ไม่ใช่ที่ดินที่จำเลยที่ 1 รังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ 83096 แต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่า สภาพและที่ตั้งของที่ดินเดิมก่อนที่จะรังวัดแบ่งแยกมาเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 และ 389 นั้น มีสภาพที่มีการทำประโยชน์แล้วและตั้งอยู่ในที่ราบติดชายทะเล จำเลยที่ 1 ทำการรังวัดต่อมาจากนายช่างรังวัดคนเดิมคือนายขจร ที่ได้ทำการรังวัดไว้เรียบร้อยแล้ว โดยได้เนื้อที่ดินน้อยกว่าช่างรังวัดคนเดิม อีกทั้งการตัดเนื้อที่ดินออกไปให้ได้เนื้อที่ดินเท่ากับหลักฐานตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 และ 389 เดิม ก็อยู่ในอำนาจและกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ที่ให้อำนาจจำเลยที่ 1 ในฐานะช่างรังวัดสามารถทำได้ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาชลบุรี แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 7 โดยกล่าวหาว่ามีการถมทะเลจากน้ำทะเลขึ้นสูงสุดเข้ามายังชายฝั่งเพียง 8 เมตร ส่วนอีก 8 เมตร จนถึงชายเขาพัทยาเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 7 มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น ที่ดินส่วนที่มีการถมจากชายเขาพัทยาออกไปชายทะเล 8 เมตร จึงเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 และ 389 ที่จำเลยที่ 7 มีสิทธิครอบครองและมีสิทธิที่จะถมที่ดินของตนเองและใช้ประโยชน์ตามกฎหมายได้ อีกทั้งกรมที่ดินยังไม่ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 83096 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ของจำเลยที่ 7 เพราะเหตุเป็นโฉนดที่ดินที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด นั้น โจทก์มีนายสังเวียน มาเบิกความเป็นพยานว่า พยานเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปตรวจสอบกรณีนายสัมฤทธิ์ นำแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) มาขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) พยานเข้าไปตรวจสอบแล้วปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีเขตอยู่ในเขตเขาและรัศมีเขาจริงแต่นายสัมฤทธิ์ได้ปลูกผลไม้และครอบครองก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ พยานสอบถามผู้ใหญ่บ้านและกำนันซึ่งเป็นบุคคลในท้องที่แล้ว ได้รับคำยืนยันว่านายสัมฤทธิ์ได้ทำประโยชน์มานานแล้ว โดยเป็นพื้นที่ระหว่างหลักเขตที่ดิน ทร.49 ถึง ทร.54 และพื้นที่ส่วนใหญ่เลยหลัก ทร. ขึ้นไปทางเขา มีพื้นที่เพียงเล็กน้อยที่ถัดจากหลัก ทร. ลงไปทางทะเล พยานรายงานข้อเท็จจริงต่อผู้บังคับบัญชา ต่อมากรมที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้แก่นายสัมฤทธิ์ หลังจากนั้นนายสัมฤทธิ์แบ่งขายที่ดินบางส่วนให้แก่นายมงคล คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 และแบ่งที่ดินอีกส่วนหนึ่งขายให้แก่นายนิล และนายถนอมศักดิ์ คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 389 นายมงคลเป็นสามีนางมิ่ง ซึ่งเป็นพี่พยาน ภายหลังนายมงคลยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่นางอนงค์ ภริยาพยาน เมื่อนางอนงค์ถึงแก่ความตาย ที่ดินแปลงนี้จึงตกเป็นของพยาน ที่ดินในส่วนของนายนิลและนายถนอมศักดิ์ ได้ขายให้แก่นางอ้อยใจ ซึ่งเป็นภริยาและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนนายเกรียงฤทธิ์ ต่อมานายเกรียงฤทธิ์ขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 7 นอกจากพยานเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 แล้ว พยานยังครอบครองที่ดินมือเปล่าตั้งแต่หลัก ทร. 54 ไปจนถึงหัวแหลมพยานเอาหินผสมปูนเพื่อสร้างเขื่อนลงในทะเลตั้งแต่แนวเขตที่ดินของพยานไปจนถึงสุดปลายแหลมเพื่อประสงค์จะให้ทรายที่ทะเลพัดมาตกลงไปในเขื่อน เมื่อน้ำทะเลลง ทรายก็จะค้างอยู่ในเขื่อน ทรายเข้ามาเต็มเขื่อนแล้วพยานหวังว่าจะไม่ทำให้ที่ดินของพยานถูกกัดเซาะ แต่พยานถูกเมืองพัทยาฟ้องต่อศาลแขวงชลบุรีในข้อหาทำเขื่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต ในปี 2534 พยานกับนางอ้อยใจไปร่วมตรวจสอบกับทหารเรือ เนื่องจากทหารเรือแจ้งว่าพยานกับนางอ้อยใจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) รุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่ทหารเรือขอใช้ประโยชน์ จากการรังวัดปรากฏว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของพยานกับนางอ้อยใจรุกล้ำเกินเข้าไปในเขตทหารเรือคนละประมาณ 1 ไร่ หลังจากพยานขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 7 แล้ว มีการทำเรื่องรังวัดขอออกโฉนดที่ดิน ช่างรังวัดคือนายขจร พยานได้รับหนังสือแจ้งให้ไปร่วมการรังวัดออกโฉนดที่ดินด้วยเนื่องจากพยานมีที่ดินที่ครอบครองอยู่บริเวณหัวแหลมติดกับที่ดินที่ขายไป แต่พยานไม่ได้ไปเนื่องจากพยานได้รับหนังสือแจ้งให้ระวังแนวเขตเมื่อพ้นกำหนดนัดแล้ว ภายหลังพยานไปตรวจสอบเรื่องการรังวัด ปรากฏว่านายขจรได้รังวัดพื้นที่ไปจนถึงปลายแหลมซึ่งเป็นหมุด ทร 1 พยานได้คัดค้านการรังวัดของนายขจร จำเลยที่ 7 จึงฟ้องพยานต่อศาลแขวงชลบุรีในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ศาลแขวงชลบุรีพิพากษายกฟ้อง ต่อมามีการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินเป็นครั้งที่ 2 มีจำเลยที่ 1 เป็นช่างรังวัด ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ปักหลักเขตของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในทะเลทั้งแถบตลอดแนวที่ดิน พยานไปร่วมการรังวัดด้วยเนื่องจากเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียง โจทก์ยังมีนายขจร มาเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2537 นายประเวศซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 7 นำพยานในฐานะช่างรังวัด ไปทำการรังวัดที่ดินดังกล่าวเพื่อออกโฉนดที่ดิน ปรากฏว่าได้เนื้อที่จากการรังวัดประมาณ 5 ไร่เศษ โดยเป็นที่ดินเกินกว่าหลักฐานตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 และ 389 จำนวน 2 ไร่ 2 งานเศษ สภาพที่ดินมีการถมประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด นายประเวศนำชี้เริ่มจากบริเวณแนวเขาซึ่งมีหลัก ทร อยู่ ไปจนสุดแนวที่ดิน ซึ่งตัวแทนของนายอำเภอคือนายนิติไม่ยอมลงนามโดยอ้างว่าจะต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ขณะที่ตัวแทนของทหารเรือแจ้งว่าผู้ขอรังวัดรุกล้ำเข้าไปในเขตทหารเรือแต่จะขอเวลาไปตรวจสอบข้อเท็จจริงดูก่อน ตัวแทนเจ้าท่าคือจำเลยที่ 5 พยานได้แจ้งให้นายประเวศทราบว่าการรังวัดไม่ตรงหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่นายประเวศยังคงยืนยันว่าที่ดินของจำเลยที่ 7 มีอยู่ตามพื้นที่ที่ได้นำชี้ และนายประเวศแจ้งให้บันทึกว่าตนยอมรับผิดเพียงฝ่ายเดียวหากเกิดความเสียหายขึ้นมา พยานเคยไปดูพื้นที่ก่อนหน้าที่จะไปรังวัด สภาพพื้นที่เดิมเป็นภูเขาดิน หิน และทรายทะเลปะปนกันอยู่ แต่วันที่ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นช่างรังวัด ปรากฏว่าพื้นที่ที่มีการนำชี้ พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพถูกถม วันที่ 19 ตุลาคม 2537 นายสังเวียน ยื่นคำคัดค้าน จึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ จำเป็นต้อง “หยุดเรื่องไว้” ซึ่งหมายความว่า เก็บงานรังวัดเข้าสารบบไว้จนกว่าเรื่องคัดค้านจะเสร็จสิ้น โจทก์ยังมีนาวาเอกวรชาติ มาเบิกความเป็นพยานว่า พยานรับราชการในตำแหน่งพนักงานสำรวจพื้นที่ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เมื่อปี 2509 กองทัพเรือมอบหมายให้พยานไปร่วมปักหลักเขตรอบเขาพัทยา เนื่องจากกองทัพเรือได้ขอใช้พื้นที่ดังกล่าวสำหรับสร้างสถานีวิทยุของกองทัพเรือ ได้มีการจัดทำแผนที่และใช้ระบบรังวัด ยู ที เอ็ม กริด (U.T.M. GRID) ซึ่งเป็นระบบสากล การปักหลักเขตในขณะนั้นยังไม่มีการกำหนดหมายเลขหลักเขต ต่อมาปี 2532 นาวาโทวิชัย ได้กำหนดหมายเลขหลักเขตที่พยานปักไว้ตั้งแต่หลักเขตที่ 1 ถึงหลักเขตที่ 48 และมีการปักหลักเขตเพิ่มตั้งแต่หลักเขตที่ 49 ถึงหลักเขตที่ 55 ต่อมาปี 2534 เนื่องจากมีรายงานว่ามีราษฎรบุกรุกเข้าไปในพื้นที่กองทัพเรือตั้งแต่หลักเขตที่ ทร 49 ถึง ทร 55 ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้พยานไปตรวจสอบ พยานไปตรวจสอบร่วมกับนายทรงวุฒิ ปลัดอำเภอบางละมุง นายพรเทพ ช่างรังวัด 2 สำนักงานที่ดินอำเภอบางละมุง และเรือโทวิรุฒน์ เจ้าหน้าที่ฐานทัพเรือสัตหีบ โดยมีนายสังเวียน และนางอ้อยใจ เจ้าของที่ดินเป็นผู้นำชี้ โดยสภาพที่ดินที่ทั้งสองคนนำชี้อยู่ถัดจากเชิงเขาขึ้นไป พยานตรวจสอบแล้วและทำแผนที่ไว้เป็นหลักฐาน ปรากฏว่าที่ดินของนายสังเวียนบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ของกองทัพเรือเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา และที่ดินของนางอ้อยใจบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ของกองทัพเรือเนื้อที่ 1 ไร่ 24 ตารางวา โจทก์มีนายจักรี มาเบิกความเป็นพยานว่า พยานรับราชการตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาชลบุรี ระหว่างปี 2538 ถึงปี 2541 สำนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งให้กรมเจ้าท่าไประวังแนวเขตที่ดินริมน้ำในการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวหลายครั้ง พยานมอบหมายให้จำเลยที่ 5 เป็นตัวแทนของกรมเจ้าท่าทุกครั้ง และทุกครั้งจำเลยที่ 5 กลับมาแจ้งว่าทำการชี้แนวเขตไม่ได้เพราะตัวแทนกองทัพเรือทำแผนที่รับรองแนวเขตภูเขายังไม่เสร็จ วันที่ 14 กรกฎาคม 2540 มีผู้แจ้งให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาชลบุรี ทราบว่ามีการถมดินและหินลงไปในทะเล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตที่จะมีการขอออกโฉนดที่ดินแปลงนี้ พยานเดินทางไปยังที่ดินพร้อมกับจำเลยที่ 5 เมื่อไปถึงพบนายกิตติพงษ์ เป็นผู้ถมดิน พยานเรียกมาสอบแล้วได้ความว่ารับจ้างมาจากจำเลยที่ 7 พยานจึงแจ้งให้หยุดการถมดินและนำนายกิตติพงษ์ไปบันทึกถ้อยคำ จากนั้นพยานมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 7 ให้ระงับการถมดิน วันที่ 31 กรกฎาคม 2540 นายฉัตรป้องซึ่งเป็นนายอำเภอแจ้งให้สำนักงานเจ้าท่าตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการร้องเรียนว่ามีการถมดินรุกล้ำเข้าไปในเขตทะเลบริเวณชายหาดแหลมบาลีฮาย พยานมอบหมายให้นางสาวรัตนาวดีเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 7 ในข้อหาถมดินและวางแนวหินกันบริเวณชายหาดโดยไม่ได้รับอนุญาต นางสาวรัตนาวดีร่วมกับพนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุ ถ่ายรูปที่เกิดเหตุ และทำแผนที่สถานที่เกิดเหตุไว้ นางสาวรัตนาวดีให้การต่อพนักงานสอบสวนว่ามีการถมดินกว้าง 8 เมตร ยาว 230 เมตร จำเลยที่ 5 ให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2540 โดยให้การว่าได้แจ้งให้นายกิตติพงษ์ระงับการถมหลายครั้ง แต่ก็ไม่หยุด และยังให้ถ้อยคำอีกว่าการถมดินจากเขตแนวรั้วและหลักหมุดของทหารเรือไปในทะเลกว้าง 16 เมตร ยาวตามแนวชายหาด 230 เมตร รุกล้ำเข้าไปในชายหาดและเขตน้ำทะเลท่วมถึง เห็นว่า นายสังเวียน เป็นผู้ที่รู้เห็นเกี่ยวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 และ 389 เป็นอย่างดี ตั้งแต่นายสัมฤทธิ์ยื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) โดยมีแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 93 เป็นหลักฐาน ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2499 นายอำเภอบางละมุงมอบหมายให้นายสังเวียนไปทำการสอบสวนเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินของนายสัมฤทธิ์ดังกล่าว จนกระทั่งมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 93 ให้แก่นายสัมฤทธิ์ นายสัมฤทธิ์ได้แบ่งขายที่ดินดังกล่าวออกเป็นหลายแปลง รวมทั้งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 และ 389 ด้วย โดยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 นายสัมฤทธิ์ขายให้แก่นายมงคล ซึ่งเป็นพี่เขยนายสังเวียน แล้วนายมงคลโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นางอนงค์ ภริยานายสังเวียน เมื่อนางอนงค์ถึงแก่ความตาย นายสังเวียนได้รับโอนมาในฐานะผู้รับมรดก หลังจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เพิ่มหลักเขตที่ดินเขาพัทยาอีก 7 หลัก ในปี 2532 คือหลักเขตเลขที่ ทร 49 ถึง ทร 55 นายสังเวียนก็ได้นำเจ้าหน้าที่กรมอุทกศาสตร์ เจ้าหน้าที่ที่ดิน และปลัดอำเภอบางละมุงไปทำการรังวัดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 ในปี 2534 หลังจากนั้นในปี 2536 นายสังเวียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 7 เมื่อจำเลยที่ 7 นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดครั้งแรกเมื่อปี 2537 นายสังเวียนได้คัดค้านว่าจำเลยที่ 7 นำรังวัดเกินกว่าที่ดินที่นายสังเวียนขายให้ โดยรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินที่นายสังเวียนครอบครอง ซึ่งคำเบิกความของนายสังเวียนได้ให้ข้อเท็จจริงเป็นลำดับอย่างมีเหตุมีผล ไม่ปรากฏข้อพิรุธ แม้นายสังเวียนจะเคยถูกจำเลยที่ 7 ฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงชลบุรีในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน แต่ในคดีอาญาดังกล่าว ศาลแขวงชลบุรีพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า แม้การซื้อขายที่ดินระหว่างนายสังเวียนกับจำเลยที่ 7 จะเป็นการซื้อขายที่ดินเต็มเนื้อที่ทั้งแปลง แต่ไม่ปรากฏว่าก่อนซื้อจำเลยที่ 7 ได้ไปรังวัดที่ดินให้แน่นอนว่าที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ตรงจุดไหน นายสังเวียนมิได้โต้แย้งเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่ขายให้แก่จำเลยที่ 7 แต่อย่างใด แต่ในส่วนของการครอบครองอาจมีที่ดินนอกเหนือจากที่ปรากฏในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ก็ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าแตกต่างไปจากที่นายสังเวียนเบิกความแต่อย่างใด คำเบิกความของนายสังเวียนจึงมีน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2534 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2534 นายสังเวียนยังมีหนังสือถึงผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ โดยอ้างว่าเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2534 เจ้าหน้าที่กรมอุทกศาสตร์และผู้เกี่ยวข้องได้ไปทำการรังวัดกันเขตที่ดินและชี้เขตที่ดินกันแล้ว จึงขอให้ดำเนินการกันเขตที่ดินที่กองทัพเรือใช้ประโยชน์ เนื่องจากปักหลักเขตทับที่ดินเอกสารสิทธิของนายสังเวียนภายหลังที่กระทรวงมหาดไทยได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แล้ว การที่นายสังเวียนมีหนังสือถึงผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบดังกล่าวก็เพื่อยืนยันสิทธิของนายสังเวียน ย่อมแสดงว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 ของนายสังเวียนตั้งอยู่เหลื่อมขึ้นไปบนเขาพัทยาและอยู่ในแนวหลักเขตของกรมอุทกศาสตร์บางส่วน นายสังเวียนจึงมีหนังสือเช่นนั้น เชื่อมโยงกับคำเบิกความของนาวาเอกวรชาติ ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากกรมอุทกศาสตร์ให้ไปรังวัดตามที่นายสังเวียนอ้างถึงในหนังสือดังกล่าว ซึ่งผลการรังวัดปรากฏว่าที่ดินของนายสังเวียนรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของกองทัพเรือเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา และที่ดินของนางอ้อยใจรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของกองทัพเรือเนื้อที่ 1 ไร่ 24 ตารางวา และยังสอดคล้องกับคำเบิกความของนางมงคล ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดทำแผนที่รูปถ่ายทางอากาศและอ่าน แปล ตีความรูปถ่ายทางอากาศว่า คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาผลการจัดทำภาพเชิงซ้อน (Overlay) แล้ว ปรากฏว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 มีส่วนซ้อนทับกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 83096 เนื้อที่ 1 งาน 99.01 ตารางวา และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 389 มีส่วนซ้อนทับกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 83096 เนื้อที่ 1 งาน 22.73 ตารางวา คำเบิกความของนายสังเวียนจึงมีน้ำหนัก ดังนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 และ 389 ตั้งอยู่ล้ำเข้าไปในเขตเขาพัทยาตั้งแต่หลักเขตที่ ทร 49 ถึง ทร 55 การที่จำเลยที่ 1 รังวัดตามที่จำเลยที่ 7 นำชี้โดยอาศัยหลักเขต ทร 49 ถึง ทร 55 เป็นแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันตกเพื่อรังวัดไปทางทิศตะวันออกจึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกจากเขตเขาพัทยาไปทางทะเลนั้น เมื่อแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันตกล้ำเข้าไปในเขตเขาพัทยาแล้ว แนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกจากหลักเขต ทร 49 ถึง ทร 55 ไปทางทะเลจึงย่อมน้อยกว่า 8 เมตร และเมื่อพิจารณาภาพถ่าย จะเห็นรอยกัดเซาะของน้ำทะเลและเขื่อนกันดินอย่างชัดเจน และถัดลงไปเป็นชายหาดที่ปกติน้ำท่วมถึง จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าเป็นแนวเขื่อนที่นายสังเวียนสร้างขึ้นอันเป็นแนวเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 388 ปรากฏว่าจำเลยที่ 7 ถมดินและหินลงไปเลยรอยกัดเซาะของน้ำทะเลและเขื่อนกันดินดังกล่าว จึงเป็นการถมดินและหินลงไปในเขตทะเลอย่างชัดเจน และเมื่อพิจารณาภาพถ่ายก็จะเห็นได้อีกว่าจำเลยที่ 1 รังวัดตามที่จำเลยที่ 7 นำชี้และจำเลยที่ 5 รับรองแนวเขตทะเลเลยเข้าไปในเขตทะเลที่จำเลยที่ 7 ถมไว้ดังกล่าว การรังวัดแนวเขตที่ดินทางด้านทิศตะวันออกก็ไม่ชอบเช่นกัน ในเรื่องเกี่ยวกับที่ตั้งของที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ตรวจสารบบของที่ดินดังกล่าวแล้วย่อมทราบดีว่านายสังเวียนเป็นผู้ที่ทราบเรื่องเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวเป็นอย่างดีดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินและตัวแทนนายอำเภอบางละมุง และจำเลยที่ 6 และที่ 7 ในฐานะผู้ซื้อที่ดินจากนายสังเวียนก็มิได้สอบสวนหรือสอบถามนายสังเวียนให้ปรากฏชัดเจนว่าแนวเขตที่ดินที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่กลับพยายามรังวัดให้ตรงตามเนื้อที่ที่ปรากฏในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยมิได้คำนึงถึงแนวเขตที่ถูกต้องเป็นอย่างไร การที่กรมที่ดินยังมิได้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 83096 ก็มิได้ทำให้การดำเนินคดีอาญาต้องระงับไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เพิ่งย้ายมาดำรงตำแหน่งช่างรังวัดที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง หลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำการรังวัดเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการพิจารณาเพื่อการออกโฉนดที่ดินเท่านั้น โดยต้องเสนอให้เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ต่อไป โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาพิเศษละเว้นไม่ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร นั้น เห็นว่า โจทก์มีเพียงนายสนั่น มาเบิกความเป็นพยานเพียงว่า จำเลยที่ 1 ทำบันทึกลงวันที่ 18 ธันวาคม 2541 เสนอเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งขณะนั้นคือนายพงษ์ศักดิ์ โดยสรุปเนื้อหาว่า ขอให้นายพงษ์ศักดิ์ออกโฉนดที่ดินแปลงนี้โดยไม่ได้รอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกองทัพเรือ บันทึกของจำเลยที่ 1 เสนอผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งจากรายงานการรังวัดและเอกสารต่าง ๆ ปรากฏว่าการรังวัดยังมีเหตุขัดข้องเนื่องจากยังไม่มีการรับรองแนวเขตที่ถูกต้อง ยังไม่มีการตรวจสอบสภาพพื้นที่จากผู้ปกครองท้องที่ กรมเจ้าท่า และฐานทัพเรือต้องมาระวังแนวเขต แต่ในข้อเท็จจริงแล้วยังไม่มาระวังแนวเขต แต่จำเลยที่ 2 ดำเนินการเสนอความเห็นตามความเห็นของจำเลยที่ 1 ไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง เพื่อส่งฝ่ายทะเบียนดำเนินการออกโฉนดที่ดินต่อไป จากการเสนอความเห็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผลให้นายพงษ์ศักดิ์เจ้าพนักงานที่ดินในขณะนั้นพิจารณาออกโฉนดที่ดินในครั้งนี้ให้ไป แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เพิ่งย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายรังวัดประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำการรังวัดที่ดินพิพาทเรียบร้อยแล้ว ต่อมาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 4 ในฐานะนายอำเภอบางละมุงได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง แจ้งว่า การออกโฉนดที่ดินในครั้งนี้ถูกต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและตามมาตรา 9 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และไม่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือที่ดินสงวนหวงห้ามแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ได้บันทึกในหนังสือดังกล่าวว่า “รวมเรื่องรังวัดเดิม ดำเนินการต่อไป” หลังจากนั้นวันที่ 18 ธันวาคม 2541 จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 2 ว่า ฝ่ายรังวัดได้ดำเนินการเกี่ยวกับข้อขัดข้องในการรังวัดเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นชอบกับข้อสรุปของจำเลยที่ 1 จึงลงนามผ่านเรื่องเสนอเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ไปร่วมในการรังวัดแต่อย่างใด ย่อมไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินถมรุกล้ำเข้าไปในทะเลและชายหาดส่วนที่เป็นทะเล ส่วนการระวังชี้แนวเขตเขาพัทยา กองทัพเรือเป็นผู้ใช้ประโยชน์เขาพัทยาโดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อนุญาต กองทัพเรือจึงไม่มีหน้าที่ในการระวังชี้แนวเขต แต่เป็นหน้าที่ของนายอำเภอบางละมุง การที่กองทัพเรือซึ่งเป็นผู้ดูแลเขาพัทยาที่มีแนวเขตติดต่อกับที่ดินที่ขอออกโฉนดที่ดินยังไม่ได้ชี้แนวเขตจึงไม่ใช่ข้อขัดข้องในการรังวัดเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน และเนื้อความตามหนังสือดังกล่าวข้างต้นก็อาจทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่านายอำเภอบางละมุงรับรองแนวเขตที่ดินแล้ว และโจทก์มิได้มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share