คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6616/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า จัดให้มีลานจอดรถสำหรับลูกค้าที่ขับรถเข้ามาซื้อสินค้าโดยจำเลยที่ 1 เคยกำหนดระเบียบให้ลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ที่บริเวณทางเข้าห้างจำเลยที่ 1 และต้องคืนบัตรจอดรถให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ที่ทางออกห้างจำเลยที่ 1 หากไม่คืนบัตรจอดรถลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการต้องนำหลักฐานมาแสดงว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถโดยชอบด้วยกฎหมายจึงจะนำรถออกจากลานจอดรถไปได้ ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมทำให้ผู้มาใช้บริการจอดรถที่ห้างจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าที่จอดรถดังกล่าวจำเลยที่ 1 จัดให้บริการรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์ของลูกค้าที่จะนำรถยนต์เข้ามาจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าในห้างจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติมาในครั้งก่อน ๆ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้ามาจอดไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากที่จอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมรถยนต์
สัญญาว่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัย ที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ข้อ 4.3 (ก) และ (ข) ระบุว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับจ้างจะดำเนินการสอดส่องตรวจตราและสังเกตการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในทรัพย์สินของบุคคลที่มาใช้บริการของผู้ว่าจ้างในสถานที่ให้บริการให้มีความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการกำหนดและดำเนินมาตรการเพื่อป้องกัน และทำการช่วยเหลือในการป้องกันและหรือระงับการโจรกรรมที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ให้บริการ โดยจำเลยทั้งสองได้กำหนดมาตรการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์หลายประการ เช่น การจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำที่บริเวณทางเข้า – ออกห้างจำเลยที่ 1 เพื่อแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ขับรถยนต์เข้าห้างจำเลยที่ 1 และรับบัตรจอดรถคืนขณะขับรถออกจากห้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จัดให้มีเครื่องกั้นอัตโนมัติที่ทางเข้า – ออก เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์แล่นออกจากที่จอดรถไปได้โดยง่าย และจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจตราบริเวณที่จอด แต่ก็ยังปรากฏว่ามีรถยนต์สูญหายจากบริเวณที่จอดรถ ดังที่จำเลยทั้งสองได้ประกาศเตือนผู้นำรถยนต์เข้ามาจอดให้ระวังรถยนต์สูญหาย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยที่ใช้อยู่ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันมิให้รถของลูกค้าสูญหายได้ จำเลยทั้งสองจึงควรแก้ไขมาตรการในการป้องกันการโจรกรรมรถให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าสูญหายเพิ่มขึ้นอีก แต่จำเลยทั้งสองกลับเลือกยกเลิกมาตรการจัดพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำที่บริเวณทางเข้า – ออก ห้างจำเลยที่ 1 เพื่อแจกบัตรจอดรถและรับบัตรจอดรถคืนและยกเลิกเครื่องกั้นอัตโนมัติ คงเหลือมาตรการใช้กล้องวงจรปิดเพียงอย่างเดียวเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์บริเวณทางเข้า – ออกห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่วิธีป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ และระงับการโจรกรรมรถยนต์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจงดเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาและป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าสูญหาย จำเลยที่ 2 ผู้รับจ้างรักษาความปลอดภัยทรัพย์สิน โดยวิชาชีพและหน้าที่ความรับผิดชอบตามสัญญาจ้างย่อมต้องมีวิธีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการถูกลักไปโดยง่าย การที่จำเลยที่ 2 ยกเลิกการแจกบัตรจอดรถและไม่จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำที่ทางเข้า – ออกจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีและไม่ใช้วิธีการที่ดีเพียงพอ อันเป็นผลโดยตรงทำให้รถกระบะที่โจทก์รับประกันภัยไว้ถูกคนร้ายลักไป ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 อันเป็นการทำละเมิดต่อนางสมคิดผู้เอาประกันภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 1ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทน ตามมาตรา 427 โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนให้ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเต็มจำนวนตามตารางกรมธรรม์ให้ความคุ้มครอง โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถกระบะหมายเลขทะเบียน บน 5165 แพร่ ไว้จากนางสมคิด วงเงินประกันภัย 510,000 บาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี นับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าเครื่องอุปโภค บริโภค ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส” มีสำนักงานสาขาหลายแห่งรวมทั้งสาขาสุพรรณบุรี จำเลยที่ 1 จัดให้มีที่จอดรถไว้บริการสำหรับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่ห้างจำเลยที่ 1 สาขาสุพรรณบุรี ช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้ประจำห้างจำเลยที่ 1 สาขาสุพรรณบุรีด้วย เดิมจำเลยที่ 1 จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 แจกบัตรจอดรถที่บริเวณทางเข้าและรับบัตรจอดรถคืนที่บริเวณทางออกแต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัย ทำหน้าที่ดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บริเวณทางเข้า – ออกแทน วันที่ 11 เมษายน 2553 เวลา 19.30 นาฬิกา นายพันธ์ ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยมีนางสาวเนติกานต์ บุตรสาวของนางสมคิดโดยสารไปด้วยเข้าจอด ณ บริเวณที่จอดรถของห้างจำเลยที่ 1 สาขาสุพรรณบุรี ซึ่งในวันดังกล่าวไม่มีการแจกบัตรจอดรถ ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายพันธ์กับนางสาวเนติกานต์ออกมาบริเวณที่จอดรถพบว่ารถสูญหายไป โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้รับประโยชน์เป็นเงิน 510,000 บาท และต่อมารับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ในทางทะเบียนมาเป็นของโจทก์แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่เคยจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยแจกบัตรจอดรถที่ทางเข้าและรับบัตรจอดรถคืนที่ทางออกห้างจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของลูกค้า การยกเลิกมาตรการดังกล่าวเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์อันเป็นการกระทำละเมิดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส สาขาสุพรรณบุรี จัดให้มีลานจอดรถสำหรับลูกค้าที่ขับรถเข้ามาซื้อสินค้าโดยจำเลยที่ 1 เคยกำหนดระเบียบให้ลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ที่บริเวณทางเข้าห้างจำเลยที่ 1 และต้องคืนบัตรจอดรถให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ที่ทางออกห้างจำเลยที่ 1 หากไม่คืนบัตรจอดรถลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการต้องนำหลักฐานมาแสดงว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถโดยชอบด้วยกฎหมายจึงจะนำรถออกจากลานจอดรถไปได้ ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมทำให้ผู้มาใช้บริการจอดรถที่ห้างจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าที่จอดรถดังกล่าวจำเลยที่ 1 จัดให้บริการรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์ของลูกค้าที่จะนำรถยนต์เข้ามาจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าในห้างจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติมาในครั้งก่อน ๆ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้ามาจอดไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากที่จอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ ดังจะเห็นได้จากสัญญาว่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัยที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ข้อ 4.3 (ก) และ (ข) ระบุว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับจ้างจะดำเนินการสอดส่องตรวจตราและสังเกตการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในทรัพย์สินของบุคคลที่มาใช้บริการของผู้ว่าจ้างในสถานที่ให้บริการให้มีความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการกำหนดและดำเนินมาตรการเพื่อป้องกัน และทำการช่วยเหลือในการป้องกันและหรือระงับการโจรกรรมที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ให้บริการ โดยจำเลยทั้งสองได้กำหนดมาตรการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์หลายประการ เช่น การจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำที่บริเวณทางเข้า – ออกห้างจำเลยที่ 1 เพื่อแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ขับรถยนต์เข้าห้างจำเลยที่ 1 และรับบัตรจอดรถคืนขณะขับรถออกจากห้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จัดให้มีเครื่องกั้นอัตโนมัติที่ทางเข้า – ออก เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์แล่นออกจากที่จอดรถไปได้โดยง่าย และจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจตราบริเวณที่จอด แต่ก็ยังปรากฏว่ามีรถยนต์สูญหายจากบริเวณที่จอดรถ ดังที่จำเลยทั้งสองได้ประกาศเตือนผู้นำรถยนต์เข้ามาจอดให้ระวังรถยนต์สูญหาย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยที่ใช้อยู่ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันมิให้รถของลูกค้าสูญหายได้ จำเลยทั้งสองจึงควรแก้ไขมาตรการในการป้องกันการโจรกรรมรถให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าสูญหายเพิ่มขึ้นอีก แต่จำเลยทั้งสองกลับเลือกยกเลิกมาตรการจัดพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำที่บริเวณทางเข้า – ออกห้างจำเลยที่ 1 เพื่อแจกบัตรจอดรถและรับบัตรจอดรถคืนและยกเลิกเครื่องกั้นอัตโนมัติ คงเหลือมาตรการใช้กล้องวงจรปิดเพียงอย่างเดียวเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์บริเวณทางเข้า – ออกห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่วิธีป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ และระงับการโจรกรรมรถยนต์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจงดเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาและป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าสูญหาย จำเลยที่ 2 ผู้รับจ้างรักษาความปลอดภัยทรัพย์สิน โดยวิชาชีพและหน้าที่ความรับผิดชอบตามสัญญาจ้างย่อมต้องมีวิธีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการถูกลักไปโดยง่าย การที่จำเลยที่ 2 ยกเลิกการแจกบัตรจอดรถและไม่จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำที่ทางเข้า – ออกจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีและไม่ใช้วิธีการที่ดีเพียงพอ อันเป็นผลโดยตรงทำให้รถกระบะที่โจทก์รับประกันภัยไว้ถูกคนร้ายลักไป ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 อันเป็นการทำละเมิดต่อนางสมคิดผู้เอาประกันภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทน ตามมาตรา 427 ข้อเท็จจริงได้ความว่ารถกระบะ หมายเลขทะเบียน บน 5165 แพร่ เป็นรถใหม่ขณะที่รถยนต์ถูกลักไปมีอายุใช้งานยังไม่ถึง 6 เดือน ตามตารางกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองกรณีรถยนต์สูญหาย 510,000 บาท โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนให้ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเต็มจำนวนตามตารางกรมธรรม์ให้ความคุ้มครอง ตามใบรับเงินจึงถือว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมและตรงตามวินาศภัยจริง โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share