แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 และมาตรา 94 นั้น เป็นขั้นตอนของการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ส่วนการตรวจคำขอรับชำระหนี้และทำความเห็นเสนอศาลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 บัญญัติว่า ในการตรวจคำขอรับชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สิน แล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้นั้นต่อศาล พร้อมทั้งรายงานว่ามีผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ประการใดหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายเรียกให้เจ้าหนี้นำพยานไปให้การสอบสวนเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามจำนวนที่ได้ยื่นคำขอไว้ เจ้าหนี้จึงมีหน้าที่จะต้องนำพยานไปให้การสอบสวนดังกล่าว
ในการขอรับชำระหนี้เจ้าหนี้มีหน้าที่นำพยานมาให้การสอบสวนว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามจำนวนที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ ทั้งมูลหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 (1) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายนัดให้ ญ. และ ภ. ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้ กับได้หมายนัดไปยังกรรมการของบริษัทเจ้าหนี้ให้นำพยานมาให้การสอบสวนและนำส่งเอกสารประกอบคำขอรับชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหมายนัด และในหมายนัดทุกฉบับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ระบุเงื่อนไขไว้ด้วยว่า หากเจ้าหนี้ไม่มาให้การสอบสวนหรือนำส่งเอกสารภายในกำหนดถือว่าเจ้าหนี้ไม่ติดใจอ้างพยานหลักฐานอื่นใดอีก ซึ่งการส่งหมายนัดดังกล่าวให้แก่ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้และกรรมการของเจ้าหนี้เป็นไปโดยชอบแล้ว แต่ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้หรือกรรมการเจ้าหนี้ก็ไม่ได้นำพยานมาให้การสอบสวนแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 ยังเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่เพียงใด
การอ้างเอกสารในชั้นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 93 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เมื่อกรณีไม่ปรากฏเหตุที่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับฟังสำเนาเอกสารได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และสำเนาเอกสารนั้นก็มีเพียงผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้เป็นผู้รับรอง สำเนาเอกสารดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้รับฟัง
เจ้าหนี้ยื่นต้นฉบับเอกสารภายหลังที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จึงเป็นการยื่นเอกสารที่ล่วงเลยระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 และที่ 3 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าเช่าซื้อ ค้ำประกัน เป็นเงิน 301,818 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนคำขอรับชำระหนี้โดยหมายนัดผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้และกรรมการเจ้าหนี้ให้นำพยานมาให้การสอบสวนและนำส่งเอกสารประกอบคำขอรับชำระหนี้ ผู้รับมอบอำนาจและกรรมการเจ้าหนี้ได้รับหมายนัดโดยชอบแล้ว เมื่อถึงเวลานัดเจ้าหนี้ไม่นำพยานมาให้การสอบสวนและนำส่งเอกสารต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงงดสอบสวนพยานฝ่ายเจ้าหนี้โดยถือว่าเจ้าหนี้ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดอีก และเห็นว่าเมื่อเจ้าหนี้ไม่นำพยานมาให้การสอบสวนและนำส่งต้นฉบับเอกสารหรือสำเนาเอกสารแห่งมูลหนี้ฉบับเจ้าพนักงานรับรองสำเนาถูกต้อง คงมีเพียงสำเนาหนังสือรับรอง สำเนาสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ สำเนาสัญญาค้ำประกัน ซึ่งผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้รับรองเอง พยานเอกสารหลักฐานดังกล่าวจึงต้องห้ามไม่ให้รับฟัง พยานหลักฐานที่เจ้าหนี้อ้างส่งจึงไม่เพียงพอ ที่จะฟังได้ว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามจำนวนที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ จึงเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้น
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้ชำระหนี้ตามที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 และมาตรา 94 กำหนดเพียงว่า ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้ทำคำขอตามแบบพิมพ์ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน ซึ่งข้อความตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมิได้ระบุให้ต้องยื่นเอกสารประกอบคำขอรับชำระหนี้แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติใน มาตรา 91 และมาตรา 94 นั้น เป็นขั้นตอนของการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ส่วนการตรวจคำขอรับชำระหนี้และทำความเห็นเสนอศาลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 บัญญัติว่า ในการตรวจคำขอรับชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สิน แล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้นั้นต่อศาล พร้อมทั้งรายงานว่ามีผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ประการใดหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายเรียกให้เจ้าหนี้นำพยานไปให้การสอบสวนเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามจำนวนที่ได้ยื่นคำขอไว้ เจ้าหนี้จึงมีหน้าที่จะต้องนำพยานไปให้การสอบสวนดังกล่าว ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ประการต่อมาว่า พยานหลักฐานที่เจ้าหนี้ส่งไว้นั้นเพียงพอที่จะรับฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้และมูลหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดแล้วนั้น เห็นว่า ในการขอรับชำระหนี้เจ้าหนี้มีหน้าที่นำพยานมาให้การสอบสวนว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามจำนวนที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ ทั้งมูลหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 (1) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายนัดให้นายใหญ่ และนางภัสสร ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้ กับได้หมายนัดไปยังกรรมการของบริษัทเจ้าหนี้ให้นำพยานมาให้การสอบสวนและนำส่งเอกสารประกอบคำขอรับชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหมายนัด และในหมายนัดทุกฉบับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ระบุเงื่อนไขไว้ด้วยว่า หากเจ้าหนี้ไม่มาให้การสอบสวนหรือนำส่งเอกสารภายในกำหนดถือว่าเจ้าหนี้ไม่ติดใจอ้างพยานหลักฐานอื่นใดอีก ซึ่งการส่งหมายนัดดังกล่าวให้แก่ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้และกรรมการของเจ้าหนี้เป็นไปโดยชอบแล้ว แต่ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้หรือกรรมการเจ้าหนี้ก็ไม่ได้นำพยานมาให้การสอบสวนแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 ยังเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่เพียงใด การอ้างเอกสารในชั้นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลาย และวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เมื่อกรณีไม่ปรากฏเหตุที่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับฟังสำเนาเอกสารได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และสำเนาเอกสารนั้นก็มีเพียงผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้เป็นผู้รับรอง สำเนาเอกสารดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้รับฟัง
เจ้าหนี้ยื่นต้นฉบับเอกสารภายหลังที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จึงเป็นการยื่นเอกสารที่ล่วงเลยระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานในสำนวนแล้วเห็นว่ายังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามจำนวนที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ