คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6611/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้ชนิดอื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” ดังนั้นไม้ยางที่เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. จะต้องเป็นไม้ยางที่ขึ้นอยู่ในราชอาณาจักร ส่วนไม้เต็งและไม้แดงซึ่งเป็นไม้อื่นจะเป็นไม้หวงห้ามก็จะต้องเป็นไม้ในป่า ซึ่งตามนิยามคำว่า “ป่า” ในมาตรา 4(1) ให้หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงต้องแปลความว่าไม้เต็งและไม้แดงจะเป็นไม้หวงห้ามต้องเป็นไม้ในราชอาณาจักร คดีนี้ไม้ยางไม้เต็งและไม้แดงของกลางมิได้เป็นไม้ในราชอาณาจักร แต่เป็นไม้ที่นำเข้าจากประเทศสหภาพพม่า จึงไม่ใช่ไม้หวงห้าม ดังนั้น แม้จำเลยจะมีไม้แปรรูปของกลางไว้ในครอบครอง การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 48 แต่อย่างใด เพราะกรณีต้องด้วยข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 50 (4) ที่บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 48 มิให้ใช้บังคับในกรณีมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองที่มิใช่ไม้หวงห้าม ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 7, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบของกลาง และจ่ายเงินรางวัลเจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ริบของกลาง ให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้ทำผิด ร้อยละยี่สิบของราคาของกลางตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 วรรคสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้ชนิดอื่นในป่าจะเป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” ดังนั้นไม้ยางที่เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. จะต้องเป็นไม้ยางที่อยู่ในราชอาณาจักร ส่วนไม้เต็งและไม้แดงซึ่งเป็นไม้อื่นจะเป็นไม้หวงห้ามก็จะต้องเป็นไม้ในป่าซึ่งตามนิยามคำว่า “ป่า” ในมาตรา 4 (1) ให้หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงต้องแปลความว่า ไม้เต็งและไม้แดงจะเป็นไม้หวงห้ามต้องเป็นไม้ในราชอาณาจักร คดีนี้ไม้ยาง ไม้เต็ง และไม้แดงของกลางมิได้เป็นไม้ในราชอาณาจักร แต่เป็นไม้ที่นำเข้าจากประเทศสหภาพพม่า จึงไม่ใช่ไม้หวงห้าม ดังนั้น แม้จำเลยจะมีไม้แปรรูปของกลางไว้ในครอบครอง การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 48 แต่อย่างใด เพราะกรณีต้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 50 (4) ที่บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 48 มิให้ใช้บังคับในกรณีมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองที่มิใช่ไม้หวงห้าม ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 จำคุก 1 ปี และปรับ 112,672 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 56,336 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้ทำผิดร้อยละยี่สิบของราคาของกลางหรือค่าปรับ ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share