คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6601/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การรวบรวมหลักฐานจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 131 แต่พนักงานสอบสวนจะรวบรวมหลักฐานใดบ้าง อย่างไร เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาและใช้ดุลพินิจดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น จนสามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้เท่านั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 132 เมื่อการรวบรวมหลักฐานของพนักงานสอบสวนได้ความชัดว่าตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางในห้องนอนของจำเลยแล้ว พนักงานสอบสวนอาจมีความเห็นว่ากรณีไม่จำต้องดำเนินการจัดทำบันทึกภาพถ่ายของกลางที่ตรวจพบ ตลอดจนไม่ทำแผนที่แสดงจุดตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางก็ได้ หาทำให้การสอบสวนไม่ชอบไม่ และการที่เจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกการจับกุมโดยมีรายละเอียดแห่งการค้นและสิ่งของที่ค้นได้ กับมีการจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึด ถือว่าเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 103 แล้ว จึงเป็นการตรวจค้นโดยชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับพวกตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและการรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (ที่ถูก มาตรา 83 ด้วย) ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 12 ปี และปรับ 400,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืน กับคำรับและทางนำสืบของจำเลยฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามและหนึ่งในสี่ ตามลำดับ คงจำคุก 8 เดือน และ 9 ปี และปรับ 300,000 บาท รวมจำคุก 9 ปี 8 เดือน และปรับ 300,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยกักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 9 ปี และปรับ 400,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 6 ปี 9 เดือน และปรับ 300,000 บาท เมื่อรวมกับโทษของจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนแล้ว เป็นจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี 17 เดือน และปรับ 300,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านกันฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและนางสนธยาหรือสาว ภริยาจำเลย และยึดเมทแอมเฟตามีน 100 เม็ด ของกลาง ได้จากชั้นวางตู้โทรทัศน์ภายในห้องนอน โดยเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสวางอย่างเปิดเผย ที่จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดทำบันทึกภาพถ่ายของกลางที่ตรวจพบ ไม่มีแผนที่แสดงจุดตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และไม่จัดทำบันทึกการตรวจค้น อันเป็นการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 103 เป็นการไม่ชอบนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และมาตรา 132 ให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะจัดทำภาพถ่าย แผนที่ ภาพวาด หรืออื่นใดที่น่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น ดังนั้น แม้การรวบรวมหลักฐานเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนจะรวบรวมหลักฐานใดบ้าง อย่างไร เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาและใช้ดุลพินิจดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้นจนสามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้เท่านั้น เมื่อการรวบรวมหลักฐานของพนักงานสอบสวนได้ความชัดว่า ตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางในห้องนอนของจำเลยแล้ว พนักงานสอบสวนอาจมีความเห็นว่ากรณีนี้ไม่จำต้องดำเนินการจัดทำบันทึกภาพถ่ายของกลางที่ตรวจพบ ตลอดจนไม่จัดทำแผนที่แสดงจุดตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางก็เป็นได้ อันหาทำให้การสอบสวนไม่ชอบไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนไม่จัดทำบันทึกการตรวจค้นนั้น ก็ได้ความว่า ได้มีการจัดทำบันทึกการจับกุมซึ่งในบันทึกดังกล่าวมีรายละเอียดแห่งการค้นและสิ่งของที่ค้นได้ กับมีการจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดอันเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 103 แล้ว จึงถือว่าเป็นการตรวจค้นโดยชอบ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างไร ขณะจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาจนถึงชั้นพิจารณาการจับกุมไม่ได้ใช้วิธีการล่อซื้อ จากการสืบสวนไม่พบว่าจำเลยมีพฤติการณ์จำหน่าย ประกอบกับจำเลยมีอาชีพการงานเป็นกิจจะลักษณะไม่สมควรที่จะฟังว่าจำเลยกระทำความผิดนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและนางสนธยาซึ่งเป็นสามีภริยากันได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตรวจพบในห้องนอน โดยวางไว้อย่างเปิดเผยบนชั้นวางตู้โทรทัศน์ซึ่งเป็นที่ส่วนตัวจึงเป็นไปได้ยากที่จำเลยจะไม่รู้ถึงการมีอยู่ของเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงเป็นกรณีที่รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับนางสนธยา ข้อนำสืบของจำเลยไม่อาจหักล้างได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share