คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9198/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรองหรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของที่แท้จริงและถูกต้อง ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านจะไม่มีใบจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมาแสดงก็ตามแต่มีสำเนาทะเบียนบ้านซึ่งเป็นเอกสารมหาชนที่มีความเกี่ยวข้องและสามารถใช้อ้างอิงแทนกันได้มาแสดง จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบถึงความไม่ถูกต้องของเอกสาร แต่ผู้ร้องคงมีแต่คำเบิกความลอย ๆ และไม่ได้โต้แย้งว่าสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวไม่ถูกต้องทั้งเบิกความว่า ไม่ทราบข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายเคยจดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่ เมื่อชั่งน้ำหนักคำพยานของผู้คัดค้านและผู้ร้องแล้ว จึงเชื่อได้ว่าผู้ตายจดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมแล้วตามข้อความที่ปรากฏในสำเนาทะเบียนบ้าน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายนิพัทธ์ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวฟลอร่า ผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องและขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนผู้ร้องและนายเวนันท์ บิดาของผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนผู้ร้อง
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2494 เป็นบุตรของจ่าโทนรงค์ ส่วนมารดาเป็นผู้ใดไม่ปรากฏ จ่าโทนรงค์เป็นน้องของนางสาวล้วน จ่าโทนรงค์ถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อประมาณปี 2495 นางสาวฟลอร่า ผู้ตาย เป็นลูกพี่ลูกน้องกับจ่าโทณรงค์และนางสาวล้วน ผู้ตายและนางสาวล้วนพักอาศัยอยู่ด้วยกัน ผู้คัดค้านอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ตายมาตั้งแต่ผู้คัดค้านจำความได้ โดยพักอาศัยอยู่กับผู้ตายและนางสาวล้วนที่บ้านเลขที่ 69 และ 69/2 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมคือบ้านเลขที่ 57 ถึง 59 ผู้คัดค้านใช้ชื่อสกุล จุลละมณฑล มาโดยตลอด สำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 69/2 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีชื่อผู้ตายเป็นหัวหน้าครอบครัว และมีชื่อผู้คัดค้านอยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าว ระบุความสัมพันธ์กับหัวหน้าครอบครัวว่า เป็นบุตรบุญธรรม ตามสำเนาทะเบียนบ้าน ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2531 ผู้ตายถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา หลังจากนั้นนายเวนันท์ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดาเดียวกันกับผู้ตายยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งนายเวนันท์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลมีคำสั่งตั้งตามที่นายเวนันท์ร้องขอ แต่ในปี 2532 นายเวนันท์ถึงแก่กรรมก่อนจะจัดการมรดกเสร็จสิ้น วันที่ 10 พฤษภาคม 2542 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของนายเวนันท์ยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2544 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ถอดถอนผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านเป็นประการแรกว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและมีสิทธิร้องขอเพิกถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ผู้คัดค้านนำสืบโดยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า สำเนาทะเบียนบ้านของพยานอยู่ที่บ้านเลขที่ 69/2 ตามสำเนาทะเบียนบ้าน ในปี 2502 ขณะพยานอายุได้ 8 ขวบ ผู้ตายได้จดทะเบียนรับพยานเป็นบุตรบุญธรรม ที่สำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมีนางสาวล้วนและนางเสงี่ยมซึ่งเป็นย่าของพยานไปที่สำนักงานเขตด้วยกัน หลังจากนั้นในปี 2503 ผู้ตายส่งพยานเข้าเรียนที่โรงเรียนซันตาครูสคอนแวน ให้ใช้ชื่อสกุล จุลละมณฑล ของผู้ตาย ตามสำเนาใบสุทธิ ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2512 ผู้ตายซื้อที่ดินจากกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานให้ผู้คัดค้าน 1 แปลง โดยพลตรีอร่ามเป็นคู่สัญญาตามสัญญา แต่ผู้ขายผิดสัญญา ผู้ตายได้ทำหนังสือถึงบุคคลต่างๆ เพื่อขอความเป็นธรรมและขอความช่วยเหลือ ในหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตาย บ้านที่ผู้คัดค้านและผู้ตายพักอาศัยคือบ้านเลขที่ 69/2 ซึ่งเดิมคือบ้านเลขที่ 57 – 59 ตรอกวัดระฆัง ถนนอรุณอมรินทร์ ในสำเนาทะเบียนบ้านระบุว่าผู้ตายเป็นหัวหน้าครอบครัว และพยานเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบ้านเลขที่ 69 แต่ยังคงระบุความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายและพยานเช่นเดิม และสำนักงานทะเบียนได้เปลี่ยนรูปแบบของสำเนาทะเบียนบ้านใหม่แต่ก็มิได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับพยาน หลังจากผู้ตายถึงแก่กรรมแล้ว นายเวนันท์ซึ่งเป็นน้องของผู้ตายและเป็นบิดาของผู้ร้องได้มาแจ้งแก่นางสาวล้วนว่าจะขอจัดการมรดกของผู้ตายแทนพยาน พยานได้มอบโฉนดที่ดินที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และที่ดินตรอกวัดระฆัง กรุงเทพมหานคร ของผู้ตาย พร้อมใบจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม และสำเนาทะเบียนบ้านของพยานให้แก่นายเวนันท์ไป แต่หลังจากนั้นนายเวนันท์ไม่เคยติดต่อพยานอีกเลย พยานสอบถาม นายเวนันท์บอกว่าให้รอไปก่อนจนกระทั่งนายเวนันท์ถึงแก่กรรม พยานติดต่อนางสุรางค์ภริยาของนายเวนันท์เพื่อขอรับเอกสารดังกล่าวคืน แต่นางสุรางค์ปฏิเสธ ในปี 2544 พยานติดต่ออีกครั้ง แต่นางสุรางค์อ้างว่าเอกสารเหล่านั้นหายไป พยานจึงแจ้งความเป็นหลักฐาน ตามสำเนารายงานประจำวัน และขอคัดสำเนาทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมที่เขตบางกอกน้อย แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะสมุดจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมสูญหาย โดยผู้คัดค้านมีนายเจริญ เจ้าพนักงานปกครอง 6 ฝ่ายทะเบียนราษฎร์ สำนักงานเขตบางพลัด เป็นพยานเบิกความว่า การลงรายการในทะเบียนราษฎร์ ผู้ที่มีอำนาจเท่านั้นที่ลงได้ และต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจและต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ มีนายณรงค์ นายทะเบียน ผู้รับแจ้งย้ายเข้าสำเนาทะเบียนบ้าน เป็นพยานเบิกความว่า การลงรายการในทะเบียนบ้าน โดยทั่วไปตามระเบียบเจ้าหน้าที่ผู้ลงต้องขอดูเอกสารที่เกี่ยวข้อง มิฉะนั้นจะไม่ดำเนินการให้ มีนายจีระศักดิ์เป็นพยานเบิกความว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2544 พยานรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2544 พยานได้รับมอบอำนาจให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบางกอกน้อยว่า สมุดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม เลขทะเบียนที่ 30/252 (ที่ถูกน่าจะเป็น 30/282) ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2501 ถึงทะเบียนเลขที่ 58/374 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2503 ปรากฏว่าได้ชำรุดสูญหายไป ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย และมีนายธวัชชัย ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนทั่วไป สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เป็นพยานเบิกความว่า ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมที่หายไป 3 ฉบับนั้น อาจเกิดการสูญหายที่สำนักงานเขตบางกอกน้อย หรือที่สำนักงานฝ่ายทะเบียนทั่วไปก็ได้ และทะเบียนที่หายไปจะเป็นการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของผู้คัดค้านหรือไม่ ไม่ทราบ ส่วนผู้ร้องเป็นพยานเบิกความว่า ไม่ทราบว่าผู้คัดค้านจะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายหรือไม่ ผู้ร้องไม่เคยเห็นทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของผู้คัดค้าน เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/27 บัญญัติว่า การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย คดีนี้แม้ผู้คัดค้านจะไม่สามารถนำใบจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมาอ้างเป็นพยานได้ก็ตาม แต่ผู้คัดค้านนำสืบสาเหตุว่า เป็นเพราะได้มอบต้นฉบับใบจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมให้แก่บิดาของผู้ร้องไปเพื่อยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย บิดาผู้ร้องนำไปดำเนินการตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกแล้วไม่ยอมคืนแก่ผู้คัดค้านจนกระทั่งบิดาผู้ร้องถึงแก่กรรมและผู้คัดค้านยังมีนายเจริญ นายณรงค์ กับนายจีระศักดิ์ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนราษฎร์มานำสืบอธิบายถึงสาเหตุที่ผู้คัดค้านไม่สามารถขอสำเนาหนังสือรับบุตรบุญธรรมจากสำนักงานเขตบางกอกน้อยได้ว่าเป็นเพราะสมุดจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของสำนักงานเขตในช่วงเวลาที่ผู้คัดค้านอ้างได้ชำรุดสูญหายไป จึงไม่สามารถออกหนังสือรับรองการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมแก่ผู้คัดค้านได้ แต่พยานดังกล่าวทั้งสามปากไม่ได้ปฏิเสธว่า ไม่มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายกับผู้คัดค้าน รวมทั้งนายธวัชชัยซึ่งรับผิดชอบงานทะเบียนที่กรมการปกครองก็มิได้ปฏิเสธว่า ไม่มีการจดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมผู้ตายเช่นกัน จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นที่ผู้คัดค้านไม่อาจนำหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมาอ้างเป็นพยานได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้คัดค้านมีสำเนาทะเบียนบ้านซึ่งมีข้อความระบุให้เห็นว่าเป็นสำเนาทะเบียนบ้านที่นายประจง ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่นบางกอกน้อย เป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้อง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2544 อันเป็นเวลาที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคดีนี้ และนายณรงค์ พยานผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นนายทะเบียนได้เบิกความรับรองรายการในสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวแล้ว จึงถือเป็นสำเนาทะเบียนบ้านที่ปรากฏเป็นฉบับปัจจุบันที่ยังคงระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมผู้ตาย อันมิได้มีการแก้ไขว่าสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเดิมที่ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมผู้ตายไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ผู้คัดค้านยังมีพยานแวดล้อมสนับสนุนว่า ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ตายแสดงให้เห็นโดยเปิดเผยว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตาย กล่าวคือ เมื่อปี 2512 ผู้ตายซื้อที่ดินจัดสรรรุ่นที่ 2 จากกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน และฝ่ายผู้ขายผิดสัญญา ผู้ตายได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมและขอความช่วยเหลือหลายฉบับ มีข้อความระบุชัดเจนว่าผู้ตายซื้อที่ดินในนามของผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งระบุว่าส่งถึงเลขาธิการคณะปฏิวัติ มีข้อความว่าผู้ตายซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นเงินผ่อนให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม เอกสารเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะบางฉบับเขียนด้วยลายมือซึ่งน่าเชื่อว่าจะเป็นลายมือของผู้ตาย ดังนั้นจากข้อนำสืบของผู้คัดค้านดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับสำเนาทะเบียนซึ่งเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำขึ้นตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและเป็นเอกสารที่พนักงานเจ้าหน้าที่รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องแล้ว ข้อนำสืบของผู้คัดค้านมีเหตุผลน่าเชื่อถือ แม้ผู้คัดค้านจะไม่มีใบจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมาแสดงก็ตาม แต่สำเนาทะเบียนบ้านเป็นเอกสารมหาชนที่มีความเกี่ยวข้องและสามารถใช้อ้างอิงแทนกันได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่ถูกต้องของเอกสาร แต่ผู้ร้องคงมีแต่คำเบิกความลอยๆ และไม่ได้โต้แย้งว่าสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวไม่ถูกต้อง ทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายเคยจดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความว่า ไม่ทราบ เมื่อชั่งน้ำหนักคำพยานของผู้คัดค้านและผู้ร้องแล้ว จึงเชื่อได้ว่าผู้ตายจดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมแล้วตามข้อความที่ปรากฏในสำเนาทะเบียนบ้าน ดังนั้น ผู้คัดค้านย่อมเป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ส่วนผู้ร้องเป็นทายาทชั้นหลาน ย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายและไม่มีอำนาจจะยื่นคำร้องขอตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ชอบที่จะเพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น ส่วนที่ผู้คัดค้านขอให้เพิกถอนคำสั่งตั้งนายเวนันท์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วยนั้น เมื่อนายเวนันท์ถึงแก่ความตายไปแล้ว คำสั่งศาลที่ตั้งนายเวนันท์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายย่อมสิ้นผลโดยไม่ต้องเพิกถอนอีก
ปัญหาต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านสมควรจะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ แม้ศาลล่างจะยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ แต่คู่ความสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความและคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้า จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยไม่ย้อนสำนวนลงไปอีก เห็นว่า ผู้คัดค้านเป็นทายาทและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย และมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 และ 1718 เมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกผู้คัดค้านสมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนายนิพัทธ์ ผู้ร้อง ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ นางสาวฟลอร่า ผู้ตาย และตั้งนางดวงพร หรืออุปถัมภ์ ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวฟลอร่า ผู้ตาย โดยให้ผู้คัดค้านมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share