คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4834/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์และผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งหากถือเอาอายุความเกี่ยวกับการละเมิดมาบังคับใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานมาด้วย ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง คือวันที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่นับแต่วันที่โจทก์ทราบการกระทำผิดไม่ ซึ่งระยะเวลาทั้ง 2 กรณี เมื่อนับถึงวันฟ้องเกินสิบปีแล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย
จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ไว้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544 อายุความจึงสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เมื่อการรับสภาพหนี้ดังกล่าวเกิดจากสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งมิได้กำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2544 คิดถึงวันฟ้องยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2545 โจทก์รับโอนสินทรัพย์ หนี้สินรวมทั้งภาระผูกพันทั้งหมดจากธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นลูกจ้างธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ที่โจทก์รับโอนกิจการ ตำแหน่งพนักงานสินเชื่อ ผู้ช่วยผู้จัดการ และผู้จัดการ ตามลำดับ ประจำสาขาปทุมธานี โดยมีจำเลยที่ 4 และที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2536 ถึงเดือนสิงหาคม 2536 นางมนฤดี เจริญอนันตกุล ขอกู้เงินเพื่อซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 13059 ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และปลูกสร้างบ้านบนที่ดินแปลงดังกล่าวจากธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้วิเคราะห์สินเชื่อและสำรวจราคาประเมินที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเท็จ เป็นเหตุให้นางมนฤดีเบิกเงินไปรวม 3 งวด เป็นเงิน 750,000 บาท โดยไม่มีการนำเงินไปก่อสร้างบ้านบนที่ดินที่จดทะเบียนจำนอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการควบคุมดูแลเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย โดยนางมนฤดีชำระหนี้ให้โจทก์เพียงบางส่วนชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 คงเหลือหนี้ 634,068.76 บาท ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2544 จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ 816,604 บาท โจทก์ประเมินราคาหลักทรัพย์ของนางมนฤดีได้เพียง 60,000 บาท โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 920,181.43 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชำระเงิน 860,181.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 634,068.76 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การด้วยวาจาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มีหน้าที่เพียงตรวจสอบรายงานได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบแล้ว ไม่ได้กระทำละเมิดหรือกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ และโจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นลูกจ้างธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ โจทก์รับโอนกิจการจากธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2536 วันที่ 13 พฤษภาคม 2536 และวันที่ 13 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาจ้างแรงงาน นับระยะเวลาดังกล่าวถึงวันฟ้องวันที่ 8 ธันวาคม 2546 เกินกว่า 10 ปีแล้ว และนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องเกินกว่า 2 ปีแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า คดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ขาดอายุความหรือไม่ ข้อนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เพิ่งทราบการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2543 จึงต้องเริ่มนับอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์และผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งหากถือเอาอายุความเกี่ยวกับการละเมิดมาบังคับใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบสี่ปีนับแต่วันทำละเมิด แต่เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานมาด้วย ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง คือวันที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่นับแต่วันที่โจทก์ทราบการกระทำผิดไม่ ซึ่งระยะเวลาทั้ง 2 กรณี เมื่อนับถึงวันฟ้องก็เกินสิบปีแล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการต่อมาว่าคดีโจทก์ในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ขาดอายุความหรือไม่ ข้อนี้ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ไว้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544 อายุความจึงสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เมื่อการรับสภาพหนี้ดังกล่าวเกิดจากสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งมิได้กำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2544 คิดถึงวันฟ้องจึงยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง แต่เนื่องจากศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงมาว่าจำเลยที่ 2 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จำนวนเท่าใด จึงเป็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเฉพาะความเสียหายดังกล่าว แล้วดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share