คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5272/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กองมรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของ ส. ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ซึ่งมิได้มีกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของ ส. โดยแท้ตามมาตรา 1600 จำเลยที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. จึงต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ตลอดทั้งความรับผิดต่าง ๆ ในกองมรดกของ ส. โดยผลของกฎหมาย อันเป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของ ส. จำต้องฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ สิทธิและหน้าที่ตลอดทั้งความรับผิดต่าง ๆ ของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมย่อมเป็นคนละส่วนกับสิทธิและหน้าที่โดยส่วนตัวซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 5 มีอยู่ก่อนถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ฉะนั้น บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 จะนำมาบังคับใช้แก่หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ส. ซึ่งยังมิได้มีการแบ่งอันพึงมีต่อโจทก์มิได้ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ศาลออกคำบังคับแก่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ซึ่งต้องรับผิดตามคำพิพากษาในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและจำนอง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะส่วนตัวและทายาทโดยธรรมของนายสุกรี โพธิรัตนังกูรชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน และจำเลยที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสุกรีชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 46,371,885.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 31,920,030.31 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ชำระหนี้ให้บังคับเอาทรัพย์จำนองตามฟ้อง ตลอดจนทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ออกขายทอดตลาดนำเงินใช้หนี้โจทก์จนครบถ้วน และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสุกรี โพธิรัตนังกูร ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องภายในวงต้นเงิน 28,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 28,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกตกทอดได้แก่ตน และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 50,000 บาท
จำเลยที่ 3 และที่ 5 ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งห้า
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า ให้ออกคำบังคับเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยกเว้นจำเลยที่ 3 และที่ 5 เนื่องจากถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
โจทก์ยื่นคำแถลงอีกครั้งหนึ่งขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกคำบังคับแก่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ด้วย
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาดแล้ว โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการในพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 27, 91 เท่านั้น จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ยกคำแถลง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งว่า โจทก์นำหนี้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดเป็นส่วนตัวไปยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายแล้ว แต่ในส่วนหนี้กองมรดกของนายสุกรี โพธิรัตนังกูร ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสุกรีนั้น โจทก์ไม่สามารถนำหนี้ในส่วนนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในคดีล้มละลายตามคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้โจทก์นำหนี้ส่วนนี้ไปยื่นขอชำระหนี้ในคดีล้มละลายเท่ากับให้โจทก์นำหนี้ที่มิใช่เป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ไปเฉลี่ยกับหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 3 และที่ 5 คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่ชอบ หากไม่ออกคำบังคับแก่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสุกรีเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้ว โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่มีหนทางใดที่จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกของนายสุกรีได้เลย ขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและมีคำสั่งออกคำบังคับแก่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสุกรีเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ความรับผิดตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในส่วนของกองมรดกของนายสุกรี โพธิรัตนังกูร ผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมโจทก์มีสิทธิให้บังคับคดีในคดีนี้ได้ โดยไม่จำต้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 เป็นทายาทโดยธรรมของนายสุกรี และไม่ปรากฏว่านายสุกรีได้ทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองไว้ ดังนั้น กองมรดกของนายสุกรีจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง กองมรดกดังกล่าวได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของนายสุกรีตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ซึ่งมิได้มีกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของนายสุกรีโดยแท้ ดังที่มาตรา 1600 บัญญัติไว้ จำเลยที่ 3 และที่ 5 จึงต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ตลอดทั้งความรับผิดต่าง ๆ ในกองมรดกของนายสุกรี โดยผลของกฎหมาย อันเป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของนายสุกรีจำต้องฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในส่วนของทายาทโดยธรรมด้วย ข้อกฎหมายดังกล่าวนี้ชี้ชัดให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่ามุ่งประสงค์ให้กองมรดกของบุคคลที่ถึงแก่ความตายจักต้องมีบุคคลอื่นซึ่งเป็นทายาททั้งในสถานะทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมแล้วแต่กรณีเข้ารองรับสิทธิและหน้าที่ตลอดทั้งความรับผิดต่าง ๆ ซึ่งเจ้ามรดกพึงมีอยู่เดิมก่อนถึงแก่ความตาย หากไม่มีกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ทั้งนี้ เพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิผลในการบังคับใช้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งถึงแก่ความตายซึ่งกลายเป็นกองมรดกได้โดยตลอด นอกจากนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 1738 ยังให้สิทธิแก่เจ้าหนี้กองมรดกในการที่จะบังคับชำระหนี้เต็มจำนวนจากกองมรดกได้ หากมรดกดังกล่าวยังไม่มีการแบ่ง ซึ่งจากข้อเท็จจริงในสำนวนก็ไม่ปรากฏว่ากองมรดกของนายสุกรีได้มีการแบ่งแล้วเหตุผลดังกล่าวนี้บ่งชี้ว่าสิทธิและหน้าที่ตลอดทั้งความรับผิดต่าง ๆ ของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมย่อมเป็นคนละส่วนกับสิทธิและหน้าที่โดยส่วนตัว ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 5 มีอยู่ก่อนถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ฉะนั้น บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 27 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ของบุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจะต้องขอรับชำระหนี้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่ระบุในพระราชบัญญัติดังกล่าวจะนำมาบังคับใช้แก่หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายสุกรีซึ่งยังมิได้มีการแบ่งมรดกอันพึงมีต่อโจทก์มิได้ มิฉะนั้นย่อมบังเกิดความไม่เป็นธรรมแก่บรรดาเจ้าหนี้กองมรดกของนายสุกรีผู้ตาย อันมิต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งมุ่งประสงค์ให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลผู้พึงมีสิทธิตามกฎหมายในการที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ซึ่งเป็นคู่สัญญาของตน ดังนี้ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ศาลออกคำบังคับแก่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ซึ่งต้องรับผิดตามคำพิพากษาในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสุกรี เจ้ามรดก คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้ยกคำขอออกคำบังคับของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในส่วนทายาทโดยธรรมมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกคำบังคับแก่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ในส่วนทายาทโดยธรรมของนายสุกรีเจ้ามรดกตามคำขอของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share