คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับจ้างบริษัท ฟ ทำการขนส่งจากบริษัท ฮ ในประเทศอังกฤษทางรถยนต์ไปยังท่าอากาศยานในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อขนส่งทางเครื่องบินมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในประเทศไทย แล้วจำเลยยังต้องรับผิดชอบขนส่งทางรถยนต์ต่อไปยังคลังสินค้าของบริษัท ฟ ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ด้วย ย่อมเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งทางรถยนต์หรือทางบกกับการขนส่งทางเครื่องบินหรือทางอากาศ อันเป็นรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบในสัญญาขนส่งเดียวกัน จากสถานที่รับของในประเทศอังกฤษมาส่งมอบของยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ดังนี้ การใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายตามสัญญาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของบริษัท ฟ ต่อจำเลยจึงมีอายุความ 9 เดือน นับแต่วันที่จำเลยในฐานะถือว่าเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ เมื่อได้ความด้วยว่า หากสินค้าไม่สูญหายก็จะส่งถึงบริษัท ฟ ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 จึงฟังได้ว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยควรจะส่งมอบสินค้า นับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เกินกว่า 9 เดือน คดีจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 140,415.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 131,599.90 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 131,599.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552) ต้องไม่เกิน 8,815.39 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์รับประกันภัยความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าในระหว่างการขนส่งไว้จากบริษัทฟาบริเนท จำกัด ผู้เอาประกันภัยซึ่งอยู่ในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาให้ความคุ้มครองระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2552 และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 บริษัทฟาบริเนท จำกัด สั่งซื้อสินค้าเอสดี ชีท โควาร์ ดี – 82 จากบริษัทไฮ – เรล ลิดส์ จำกัด ในประเทศอังกฤษ จำนวน 2,744 ชิ้น ราคาไม่รวมค่าขนส่งชิ้นละ 1.32 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 3,622.08 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์รับประกันภัยสินค้าดังกล่าวโดยมีมูลค่าประกันภัย 3,984.29 ดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทฟาบริเนท จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าในลักษณะ Door to Door กล่าวคือขนส่งจากโรงงานบริษัทไฮ – เรล ลิดส์ จำกัด ในประเทศอังกฤษ และขนส่งทางเครื่องบินเพื่อนำมาส่งมอบให้บริษัทฟาบริเนท จำกัด ที่คลังสินค้าของบริษัทในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยหรือตัวแทนจำเลยในประเทศอังกฤษไปรับสินค้าจากบริษัทไฮ – เรล ลิดส์ จำกัด แล้ว แต่สินค้าสูญหายไปทั้งหมดในระหว่างการขนส่งในประเทศอังกฤษ บริษัทฟาบริเนท จำกัด จึงเรียกร้องไปยังโจทก์และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 131,599.90 บาท ให้แก่บริษัทฟาบริเนท จำกัด เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องตามฟ้องขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า จำเลยรับจ้างบริษัทฟาบริเนท จำกัด ทำการขนส่งจากบริษัทไฮ – เรล ลิดส์ จำกัด ในประเทศอังกฤษทางรถยนต์ไปยังท่าอากาศยานในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อขนส่งทางเครื่องบินมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในประเทศไทย นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังฟังได้จากคำเบิกความของนางสาวรัชฎาพยานโจทก์อีกว่า หากขนส่งสินค้าทางเครื่องบินมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว จำเลยยังต้องรับผิดชอบขนส่งทางรถยนต์ต่อไปยังคลังสินค้าของบริษัทฟาบริเนท จำกัด ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีด้วย และสัญญาขนส่งนี้ทำกันเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 ใช้บังคับแล้ว เมื่อไม่ปรากฏความชัดเจนของสัญญาว่าเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือไม่ คงรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนว่าการขนส่งครั้งนี้ที่มีลักษณะดังวินิจฉัยมาแล้วนั้นย่อมเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งทางรถยนต์หรือทางบกกับการขนส่งทางเครื่องบินหรือทางอากาศ อันเป็นรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันสองรูปแบบในสัญญาขนส่งเดียวกันจากสถานที่รับของในประเทศอังกฤษมาส่งมอบของยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยได้ความชัดเจนจากทางนำสืบว่าเป็นการขนส่งแบบ Door to Door หรือจากโรงงานของผู้ขายไปยังที่ทำการของผู้ซื้อ ที่ถือได้ว่าเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ตามความหมายในบทนิยามมาตรา 4 คำว่า “การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ” แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ดังนี้การใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายตามสัญญาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของบริษัทฟาบริเนท จำกัด ต่อจำเลยจึงมีอายุความ 9 เดือน นับแต่วันที่จำเลยในฐานะถือว่าเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงยังได้ความตามคำเบิกความของนางสาวรัชฎาพยานโจทก์อีกว่า หากสินค้าไม่สูญหายก็จะส่งถึงบริษัทฟาบริเนท จำกัด ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 จึงฟังได้ว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยควรจะส่งมอบสินค้าและเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ย่อมเกินกว่า 9 เดือน จึงขาดอายุความตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยย่อมยกเอาเหตุที่สิทธิเรียกร้องขาดอายุความขึ้นปฏิเสธการชำระหนี้แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share