แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเชื่อว่าได้มีการละเมิดสิทธิบัตรของจำเลย การที่จำเลยร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์เป็นการขอรับความคุ้มครองเพื่อให้มีการบังคับตามสิทธิบัตรที่จำเลยได้รับอยู่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินการแก่โจทก์อย่างไรต่อไปเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายหรือใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 421
การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วย (1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่(2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นสูงขึ้น และ (3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 5 เมื่อการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ จึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของจำเลยที่ได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 5 จึงเป็นสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์และเพิกถอนได้ตามมาตรา 54
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 จำเลยได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 044704 โดยวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของจำเลยนั้นทำจากไม้มะขามที่มีคุณสมบัติแข็งและเหนียว ประกอบด้วยวงแหวน 3 ชั้นโดยชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สามมีความหนาน้อยกว่าชั้นที่สอง วงแหวนแต่ละชั้นจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนโค้งของวงกลม 4 ส่วนเท่า ๆ กันและวางเรียงต่อกันเป็นวงแหวนโดยมีระยะห่างระหว่างส่วนโค้งแต่ละส่วนเพื่อให้เป็นช่องว่างรองรับการขยายตัวของเนื้อไม้เมื่อได้รับแรงกดกระแทกและช่วยระบายแรงดันภายในรูตรงกลางที่เจาะยาวตลอดความยาวของเสาเข็ม และมีการจัดวางชั้นวงแหวนทั้ง 3 ชั้นในลักษณะที่ระยะห่างระหว่างส่วนโค้งดังกล่าวของแต่ละชั้นจะไม่อยู่ในแนวเดียวกัน จำเลยได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 ตามสิทธิบัตรเลขที่ 9433 ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือไปยังหน่วยงานราชการและบริษัทผู้ผลิตเสาเข็มต่าง ๆ รวมทั้งโจทก์ด้วยว่าได้กระทำละเมิดสิทธิบัตรของจำเลยดังกล่าว ทำให้บริษัทผู้ผลิตเสาเข็มต่าง ๆ รวมทั้งโจทก์ด้วยได้รับความเสียหายเกี่ยวกับชื่อเสียงทางธุรกิจและส่งผลให้โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานครที่โจทก์ดำเนินการอยู่โดยใช้วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่ทำด้วยไม้อัดต้องชะงักเป็นเหตุให้การทำงานล่าช้าต้องถูกผู้ว่าจ้างปรับและต้องจ้างบุคคลอื่นตอกเสาเข็มแทน ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และทำให้ส่วนราชการดูถูกเกลียดชัง เป็นเหตุให้ไม่สามารถประมูลงานได้อีกต่อไป รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,000,000 บาท โจทก์จึงเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการออกสิทธิบัตรวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของจำเลย สิทธิบัตรวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของจำเลยตามสิทธิบัตรเลขที่ 9433 นั้นไม่มีลักษณะอันพึงขอรับสิทธิบัตรได้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เนื่องจาก(1) วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรของจำเลยนั้นมิใช่แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักร มีการเปิดเผยภาพหรือสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วในราชอาณาจักรมาก่อนที่จำเลยจะขอรับสิทธิบัตร โดยบริษัทที่รับผลิตและตอกเสาเข็มได้จัดทำวัสดุรองรับแรงกระแทกโดยใช้ไม้อัดหรือไม้มะขามอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2539 ถึงปี 2541 โดยตัดไม้เป็นรูปวงกลมวางเรียงกันเป็นชั้น ส่วนจะมีกี่ชั้นนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของเสาเข็ม ทั้งจำเลยเองก็เคยผลิตและจำหน่ายวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรเลขที่ 9433 ให้แก่โจทก์และบุคคลทั่วไป โดยผลิตตามแบบที่โจทก์และผู้ว่าจ้างกำหนด วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มมีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดโดยทั่วไปเพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในการตอกเสาเข็ม โดยวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่มีจำหน่ายในท้องตลาดนั้นมีลักษณะการตัดไม้และขึ้นรูปไม้เป็นวงกลมตามลักษณะหัวเสาเข็มและวางไม้ซ้อนกันเป็นชั้น ๆเหมือนกับแบบและวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรของจำเลยซึ่งพบเห็นได้ง่ายในวงการตอกเสาเข็ม (2) การประดิษฐ์ของจำเลยไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น โดยการตัดไม้มะขาม การแบ่งชั้น การออกแบบกรรมวิธีในการผลิต และวัตถุประสงค์ในการใช้งานของการประดิษฐ์ที่จำเลยขอรับสิทธิบัตรไว้นั้นเป็นการประดิษฐ์ที่ประจักษ์ได้โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญ การประดิษฐ์ของจำเลยไม่มีลักษณะทางโครงสร้างที่แตกต่างไปจากการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่โจทก์และบริษัทตอกเสาเข็มอื่น ๆ ใช้อยู่แต่อย่างใด การประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มสามารถทำได้ง่าย โดยตัดไม้ให้มีขนาดเหมาะสมแก่ลักษณะของหัวเสาเข็มเพื่อให้ลดแรงกระแทกในเวลาตอกเสาเข็มเหมือนการจัดทำไม้แบบที่ใช้ในการก่อสร้างทั่วไป ไม่จำต้องใช้เวลาในการคิดค้นหรือพัฒนาโดยใช้หลักทางวิศวกรรมหรือเทคนิคขั้นสูงแต่อย่างใดและ (3) การประดิษฐ์ของจำเลยเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง และไม่มีการทำผลิตภัณฑ์หรือปรับปรุงกรรมวิธีให้ดีขึ้น วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่มีประสิทธิภาพในการรองรับแรงกระแทกจากการตอกเสาเข็มและไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน เนื่องจากเนื้อไม้มะขามจะแห้งและแตกเป็นผงและขึ้นรา มีตาไม้ ทำให้ไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้ทั่วถึงและสม่ำเสมอ ส่งผลให้หัวเสาเข็มที่ถูกตอกเกิดความเสียหายและชำรุดรวมทั้งทำให้หัวเสาเข็มแตกสิทธิบัตรของจำเลยจึงเป็นสิทธิบัตรที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยเคยเป็นลูกจ้างหรือผู้รับจ้างของโจทก์ผลิตวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามที่โจทก์กำหนด สิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าวจึงตกได้แก่โจทก์ ขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของจำเลยตามคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 044704 สิทธิบัตรเลขที่ 9433 มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาและบังคับให้จำเลยหยุดถือสิทธิหรือห้ามมิให้จำเลยใช้หรือแอบอ้างสิทธิบัตรดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศโฆษณาเผยแพร่หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้สาธารณชนหลงผิดว่าจำเลยพึงได้รับสิทธิบัตรดังกล่าวรวมทั้งห้ามจำเลยสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่โจทก์โดยการเข้าไปหรือนำตำรวจเข้าไปตรวจยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มในบริเวณที่ก่อสร้างที่โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มอยู่หรือภายในบริเวณที่ทำการของโจทก์จนกว่าคดีจะถึงที่สุดให้จำเลยหยุดใส่ความโจทก์ต่อสาธารณชนว่าละเมิดสิทธิบัตรไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจนกว่าคดีจะถึงที่สุดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น และให้จำเลยประกาศโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์เดลินิวส์หรืออื่น ๆ ที่จำหน่ายทั่วราชอาณาจักรไม่น้อยกว่า 2 ฉบับ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยเองมีกำหนดไม่น้อยกว่า7 วัน หรือให้โจทก์ลงประกาศโฆษณาคำพิพากษาโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มเนื่องจากจำเลยเล็งเห็นความสำคัญของวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่มีต่องานตอกเสาเข็ม จำเลยจึงได้ทำการทดลอง ค้นคว้า วิจัยวัสดุและไม้ชนิดต่าง ๆ เพื่อคิดค้นประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่มีประสิทธิภาพในการรองรับแรงกระแทกจากการตอกเสาเข็มโดยไม่ทำให้เสาเข็มได้รับความเสียหาย โดยคิดคำนวณถึงความสามารถของวัสดุต่าง ๆในการรองรับแรงกดและแรงกระแทกจากการตอกเสาเข็ม ปรับปรุงโครงสร้างของวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่มีอยู่เดิมเพื่อหาโครงสร้างที่แข็งแรงและเหมาะสมในการใช้งานตอกเสาเข็ม โดยรูปทรงของวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่จำเลยประดิษฐ์ขึ้นนั้นสามารถระบายความร้อนสะสมที่เกิดจากการเสียดสีในการทำงานและช่วยระบายแรงดันที่เกิดขึ้นภายในรูกระบอกของเสาเข็มด้วย ก่อนที่จำเลยจะยื่นคำขอรับสิทธิบัตรวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มนั้น จำเลยได้นำวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่จำเลยคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นไปทดสอบใช้งานในการตอกเสาเข็มจริงกับโจทก์และบริษัทรับจ้างตอกเสาเข็มอื่น ๆ อีกหลายบริษัท ในระหว่างนั้นนายอนันตชัย ไชยวงค์ หุ้นส่วนของจำเลยในห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรได้ยักยอกเอาวัสดุรองรับแรงกระแทกของห้าง ฯ ไปขายให้โจทก์ซึ่งจำเลยได้ฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่นายอนันตชัยแล้ว คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 จำเลยจึงได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 044704 ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไม่มีผู้ใดยื่นคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลย และกรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบแล้วพบว่ามีคุณลักษณะอันพึงขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 จึงได้ออกสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 9433 แก่จำเลยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 จำเลยจึงได้นำสิ่งประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยออกแสดงต่อสาธารณชนโดยทั่วไปหลายครั้ง จำเลยมิได้เป็นหรือเคยเป็นลูกจ้างหรือผู้รับจ้างของโจทก์ ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้กระทำละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลย จำเลยจึงได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ที่โจทก์รับจ้างตอกเสาเข็มอยู่และเตรียมการดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรอันเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของสิทธิบัตรตามกฎหมายการที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ประกาศโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ขนาด 1 ใน 4 ของหน้ามีกำหนดไม่น้อยกว่า 7 วัน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่044704 สิทธิบัตรเลขที่ 9433 ของจำเลย คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับจ้างตอกเสาเข็มทำโครงงานฐานรากทุกชนิด รวมทั้งรับปรึกษาวิเคราะห์ประเมินผลและให้คำแนะนำปัญหาการสำรวจทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมและประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีต เช่นวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มหรือไม้หมวกวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวค้อน แผ่นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปและอื่น ๆเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็ม และได้รับสิทธิบัตรมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 หลังจากนั้นจำเลยได้นำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นสถานที่ก่อสร้างต่าง ๆ ที่โจทก์เป็นผู้รับเหมาตอกเสาเข็มหลายครั้ง และยึดไม้หมวกของโจทก์ไปโดยอ้างว่าโจทก์กระทำการละเมิดสิทธิบัตรของจำเลย นอกจากนั้นจำเลยยังส่งหนังสือไปถึงโครงการรถไฟฟ้ามหานครและบริษัทSNMC Joint Venture ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ในการตอกเสาเข็มว่าโจทก์กระทำการละเมิดสิทธิบัตรของจำเลยด้วย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์มาเมื่อวันที่ 1มีนาคม 2543 ตามเอกสารหมาย จ.4 และตามคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จำเลยมีข้อถือสิทธิดังนี้คือ 1. วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มทำจากไม้ที่มีคุณสมบัติแข็งเหนียวเพื่อใช้รองรับแรงอัดกระแทกที่ถ่ายเทน้ำหนักลงมาจากกระบอกสูบ และเป็นการป้องกันไม่ให้กระบอกเหล็กครอบหัวเข็มกระทบกับหัวเสาเข็มโดยตรง ซึ่งจะทำให้หัวเข็มแตก ทำให้เกิดความเสียหายต่องานตอกเสาเข็ม มีลักษณะที่ประกอบด้วยเป็นวงแหวน3 ชั้นโดยชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สามมีความหนาน้อยกว่าชั้นที่สอง ที่ซึ่งวงแหวนแต่ละชั้นจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนโค้งของวงกลม 4 ส่วนเท่า ๆ กัน และจะวางเรียงต่อกันเป็นวงแหวนโดยมีระยะห่างระหว่างส่วนโค้งแต่ละส่วนเพื่อให้เป็นช่องว่างรองรับการขยายตัวของเนื้อไม้เมื่อได้รับแรงกดกระแทกและช่วยระบายแรงดันภายในรูตรงกลางที่เจาะยาวตลอดความยาวของเสาเข็ม และมีการจัดวางชั้นวงแหวนทั้ง 3 ชั้น ในลักษณะที่ระยะห่างระหว่างส่วนโค้งดังกล่าวของแต่ละชั้นจะไม่อยู่ในแนวเดียวกัน 2. วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามข้อ 1 ที่ซึ่งความหนาของวงแหวนชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สามเป็น 2 เซนติเมตร และชั้นที่สองเป็น 4 เซนติเมตร 3. วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามข้อ 1 หรือข้อ 2 ที่ซึ่งระยะห่างระหว่างส่วนโค้งแต่ละส่วนมีระยะ 2 เซนติเมตรตามคำขอรับสิทธิบัตรเอกสารหมาย จ.3 เมื่อปรากฏว่าไม้หมวกที่โจทก์ใช้อยู่ภายหลังจากที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์มีลักษณะคล้ายกับไม้หมวกของจำเลยโดยมีข้อแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยตรงที่ไม้หมวกของจำเลยมีระยะระหว่างส่วนโค้งแต่ละส่วนห่างกัน 2เซนติเมตร ส่วนไม่หมวกของโจทก์ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.14 ว่าส่วนโค้งแต่ละส่วนไม่มีระยะห่างดังกล่าว เพียงแต่มีช่องอันเกิดจากรอยต่อของไม้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเชื่อได้ว่ามีการละเมิดสิทธิบัตรของจำเลย การที่จำเลยใช้วิธีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์เป็นการขอรับความคุ้มครองเพื่อให้มีการบังคับตามสิทธิบัตรที่จำเลยได้รับอยู่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินการแก่โจทก์อย่างไรต่อไปเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายหรือใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 421 ดังที่โจทก์อุทธรณ์ โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การประดิษฐ์ของจำเลยเป็นการประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรหรือไม่จำเลยอุทธรณ์ว่า วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่ได้มีหรือใช่แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรเพราะจำเลยได้แก้ไขปรับปรุง วิจัยและพัฒนาเรื่อยมาจนได้รูปแบบตามสิทธิบัตร และก่อนยื่นคำขอรับสิทธิบัตรจำเลยก็ไม่เคยนำไปทดสอบอีกเลย เห็นว่า โจทก์นำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารและภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่า ในประเทศไทยมีการตอกเสาเข็มในงานก่อสร้างมาประมาณ40 ปีแล้ว ในการตอกเสาเข็ม จะต้องมีวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มเพื่อป้องกันมิให้เสาเข็มเสียหายเรียกวัสดุชนิดนี้กันว่า “ไม้หมวก” ซึ่งจะต้องใช้ให้เหมาะสมแก่ชนิดของเครื่องตอก จุดรองรับแรงกระแทก และเสาเข็ม ไม้หมวกชนิดที่ใช้รองรับแรงกระแทกจากตุ้มน้ำหนักก่อนส่งถ่ายพลังงานให้แก่หมวกครอบเสาเข็มเรียกว่า “ไม้หมวกตัน” ส่วนไม้หมวกชนิดที่ใช้รองรับแรงกระแทกจากหมวกครอบแล้วส่งถ่ายพลังงานให้แก่หัวเสาเข็มเรียกว่า “ไม้หมวกกลวง” วัสดุที่ใช้ทำไม้หมวกนั้นมีทั้งกระสอบใส่ข้าวสาร ไม้อัด ไม้เนื้ออ่อนและไม้เนื้อแข็ง โจทก์นำเข้าเครื่องตอกเสาเข็มชนิด “ไฮโดรลิกแฮมเมอร์” จากประเทศญี่ปุ่นซึ่งใช้ไม้หมวกที่ทำจากไม้สนแต่มีราคาแพง โจทก์จึงศึกษาคิดค้นนำไม้อัดมาใช้แทนไม้สนเนื่องจากโจทก์มีงานตอกเสาเข็มมากจึงไม่สามารถทำไม้หมวกมาใช้ได้ทัน พนักงานโจทก์ซึ่งรู้จักกับจำเลยจึงพาจำเลยซึ่งเป็นผู้รับเหมางานระบบปรับอากาศในกรุงเทพมหานครและมีไม้มะขามอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์จำนวนมากมารับงานไม้หมวกไปทำตามตัวอย่างของโจทก์โดยใช้ไม้มะขามขายให้โจทก์ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงต้นปี 2541 รวมประมาณ10,000 ชิ้น คิดเป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาท ไม้หมวกกลวงที่จำเลยขายให้โจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลย นอกจากนี้จำเลยยังได้ขายไม้หมวกดังกล่าวให้แก่บริษัททักษิณ คอนกรีต จำกัด บริษัทบางกอกคอนกรีต อินดัสทรี จำกัด และบริษัทนิปปอน ฮูม คอนกรีต (ประเทศไทย) จำกัด ด้วย ต่อมาโจทก์พบว่าไม้หมวกดังกล่าวใช้ไม่ได้ดีโจทก์จึงเลิกซื้อไม้หมวกจากจำเลย ส่วนบริษัทอื่นก็เลิกซื้อไม้หมวกจากจำเลยเช่นกัน วันที่ 1 มีนาคม 2543 จำเลยได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มจากอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา หลังจากนั้นจำเลยได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจค้นและยึดไม้หมวกในบริเวณสถานที่ก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ที่โจทก์เป็นผู้รับเหมาตอกเสาเข็ม แม้ตามทางนำสืบของโจทก์จะปรากฏว่าพยานบุคคลของโจทก์ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ทำงานอยู่กับโจทก์ คือนายวีระพล ยืนยาว ผู้จัดการส่วนวิศวกรรม นายปราโมช อังกูรวิบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายธุรการ นายเสถียร คงเอียด พนักงานด้านจัดซื้อวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง และนายชัยนันท์ เฟื่องเกษม กรรมการผู้จัดการของโจทก์ พยานอีกส่วนหนึ่งจะประกอบกิจการทำเสาเข็มคอนกรีต คือนายนิพนธ์ ฉันทโกรวัฒน์ แห่งบริษัทนครหลวงวัตถุก่อสร้างและคอนกรีตอัดแรง จำกัด นายอุทัยชุมรักษ์แห่งบริษัทบางกอก คอนกรีต อินดัสทรี จำกัด และนายสมหวัง ปลั่นพงษ์พันธุ์แห่งบริษัทยูไนเต็ด คอนสตรัคชั่น แอนด์ แมทีเรียล จำกัด (ยูนิโก้) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากการได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลย และนายอนันตชัยไชยวงค์ อดีดหุ้นส่วนในธุรกิจของจำเลยแต่ปัจจุบันมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรกับจำเลยก็ตาม แต่พยานบุคคลดังกล่าวก็เบิกความมีเหตุผลสอดคล้องและเชื่อมโยงกันประกอบเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.10 ซึ่งเป็นเอกสารการสั่งซื้อและชำระราคาไม้หมวกแก่บริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดของจำเลย และภาพถ่ายผลงานตอกเสาเข็มกลมแรงเหวี่ยง คอนกรีตอัดแรงในโครงการก่อสร้างต่าง ๆหมาย จ.11 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่ายไม้หมวกที่ใช้ในโครงการก่อสร้าง เอส. เค. อพาร์ตเมนต์เมื่อเดือนตุลาคม 2535โครงการก่อสร้างอาคารปรีคลินิกของโรงพยาบาลศิริราชพยาบาลเมื่อเดือนมกราคม 2536และโครงการก่อสร้างทางด่วนยกระดับรามอินทราอาจณรงค์ 5-6 เมื่อเดือนเมษายน2537 ซึ่งมีลักษณะเป็นไม้หมวกกลวงประกอบจากวงแหวนหลายชิ้นประกบกันหลายชั้นโดยวงแหวนแต่ละชิ้นก็มีระยะห่างทำนองการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยซึ่งได้รับมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 ตามเอกสารหมาย จ.4 นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายเอกพงษ์ฝาเงิน ข้าราชการกองออกแบบและก่อสร้าง กรมสามัญศึกษา เบิกความเป็นพยานสนับสนุนเกี่ยวกับความเป็นมาของการใช้ไม้หมวกชนิดต่าง ๆ ทั้งไม้หมวกตันและไม้หมวกกลวง ส่วนไม้ที่นำมาใช้ทำไม้หมวกนั้น มีทั้งไม้เนื้ออ่อนและไม้อัด ทั้งโจทก์เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีทุนจดทะเบียนจำนวนมากถึง 1,006,000,000 บาท และประกอบธุรกิจรับจ้างตอกเสาเข็มในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการมาตั้งแต่ปี 2533จนกระทั่งปัจจุบัน น่าเชื่อว่าโจทก์จะเป็นผู้กำหนดการทำไม้หมวกให้จำเลยรับไปผลิตขายให้โจทก์ตลอดมานับหมื่นชิ้นรวมเป็นเงินค่าไม้หมวกนับล้านบาท นอกจากจะขายไม้หมวกให้โจทก์แล้ว จำเลยยังผลิตไม้หมวกขายให้บริษัทอื่น ๆ อีกหลายบริษัทในลักษณะนำไปใช้งานจริงเกินกว่าที่จะอยู่ในขั้นทดสอบดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ส่วนลักษณะของไม้หมวกที่จำเลยขายให้โจทก์และบริษัทอื่น ๆ นั้น นอกจากโจทก์จะมีพยานบุคคลดังกล่าวข้างต้นเบิกความว่ามีลักษณะเหมือนกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยแล้ว ก็ยังปรากฏภาพของไม้หมวกที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรของจำเลยขายให้บริษัทบางกอก คอนกรีต อินดัสทรี จำกัด ในใบเสร็จรับค่าไม้หมวกและใบส่งของเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งลงวันที่ 19 มกราคม 2541, 3 มีนาคม 2541 และ 17 มิถุนายน 2541 โดยจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่าจำเลยเป็นผู้ส่งของเอง กับเอกสารหมายจ.10 ซึ่งลงวันที่ 30 มกราคม 2541 อันเป็นวันก่อนที่จำเลยจะยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เพียงเล็กน้อยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เหมือนกับภาพการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยตามคำขอรับสิทธิบัตรเอกสารหมาย จ.3 ทั้งได้ความจากเอกสารหมายจ.3 ในหัวข้อภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องว่ามีการสั่งซื้อเพื่อนำไปใช้งานจากบริษัทผู้ผลิตเสาเข็มชั้นนำแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยมีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรอันจัดเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 6 วรรคสอง (1) การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า เมื่อจำเลยคิดค้นและพัฒนาจนได้รูปแบบตามสิทธิบัตรแล้ว จำเลยก็ไม่ได้เปิดเผยการประดิษฐ์และไม่เคยนำไปทดสอบอีกเลย จึงขัดต่อข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยมา และที่จำเลยนำสืบอ้างว่านายวีระศักดิ์ ไม้วัฒนา ข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรของจำเลย ได้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรและตรวจสอบการประดิษฐ์ถูกต้องแล้วนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายวีระศักดิ์พยานจำเลยว่า พยานตรวจสอบจากข้อมูลในเอกสารสิทธิบัตรของประเทศสหรัฐอเมริกายุโรป ประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทยเท่านั้น พยานไม่ได้ตรวจสอบการมีหรือใช้การประดิษฐ์นั้นในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีการสอบถามข้อมูลจากสมาคมตอกเสาเข็ม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสมาคมคอนกรีตไทยแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์จากการตรวจสอบของพยานจำเลยจึงเป็นเพียงความใหม่ที่ไม่ปรากฏการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วทั้งในหรือนอกราชอาณาจักรเท่านั้นหามีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ที่ไม่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรแต่ประการใดไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยอีกข้อหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับปัญหาขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นนั้น เห็นว่า การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะการประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ คือ (1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ (2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นและ (3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมทั้งนี้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้จึงต้องประกอบด้วยลักษณะการประดิษฐ์ทั้ง 3 ข้อ จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่แล้ว การประดิษฐ์ของจำเลยจึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของจำเลยได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์ และเพิกถอนได้ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ”