แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จัดให้มีบริการที่จอดรถ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 อันมีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ย. เป็นลูกจ้างของห้าง ฮ. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการและผู้เช่าพื้นที่จากจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบกิจการค้าหากำไร วันเกิดเหตุการที่ ย. นำรถยนต์เข้ามาจอดไว้ในที่จอดรถของจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าไปทำงานประจำในห้าง ฮ. โดยไม่ปรากฏว่า ย. ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่อาจถือได้ว่า ย. เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 แม้จะฟังว่าห้าง ฮ. เช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาระหว่างห้าง ฮ. กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับความรับผิดกรณีที่รถยนต์ของลูกจ้างห้าง ฮ. สูญหายเพราะถูกคนร้ายลักไป การที่คนร้ายลักรถยนต์ของ ย. คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป มิได้เกิดจากการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง อันจะถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 574,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 560,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทไทยศรีประกันภัยจำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน 574,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 560,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 กันยายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วม ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฎร 9277 กรุงเทพมหานคร จากนางสาวยุพยงค์ ในประเภทรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคและให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้จัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลบริเวณร้านค้าและที่จอดรถของจำเลยที่ 1 โดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยเดินตรวจตราบริเวณที่จอดรถ 4 – 5 คน จำเลยร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยและเป็นผู้รับประกันภัยกับจำเลยที่ 1 นางสาวยุพยงค์เป็นลูกจ้างของบริษัทโฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) มีชื่อทางการค้าว่า ห้างสรรพสินค้าโฮมโปร ซึ่งเช่าพื้นที่บางส่วนจำหน่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ในระหว่างระยะเวลารับประกันภัย นางสาวยุพยงค์ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไปจอดไว้บริเวณลานจอดรถภายในอาคารของจำเลยที่ 1 และเข้าไปทำงานที่ห้างสรรพสินค้าโฮมโปร ต่อมารถยนต์ของนางสาวยุพยงค์สูญหายเนื่องจากถูกคนร้ายลักไป โจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์แก่นางสาวยุพยงค์ไปแล้วเป็นเงิน 560,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมว่า จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน โดยจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมฎีกาในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่รับฝากรถยนต์และไม่มีนิติสัมพันธ์กับนางสาวยุพยงค์ ผู้เอาประกันภัย นางสาวยุพยงค์เป็นลูกจ้างของห้างสรรพสินค้าโฮมโปร ซึ่งเช่าพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้า วันเกิดเหตุนางสาวยุพยงค์ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไปจอดที่ลานจอดรถของจำเลยที่ 1 แล้วเข้าไปทำงานที่ห้างสรรพสินค้าโฮมโปร นางสาวยุพยงค์ไม่ได้เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของนางสาวยุพยงค์ รถยนต์ของนางสาวยุพยงค์คันที่โจทก์รับประกันภัยถูกคนร้ายลักไป จึงไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า การที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จัดให้มีบริการที่จอดรถ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 อันมีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 และร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เพราะการมีบริการที่จอดรถนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ทั้งจำเลยที่ 1 ยังว่าจ้างจำเลยที่ 2 จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเดินตรวจตราบริเวณที่จอดรถอีกด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกค้า และการกระทำที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 1 ต้องดูแลความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่นำไปจอดในที่จอดรถ แต่จำเลยที่ 1 หาได้มีหน้าที่ดังกล่าวสำหรับรถยนต์ของบุคคลที่มิใช่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีความสัมพันธ์อันใดกับบุคคลนั้น การจะถือว่าผู้ใดเป็นลูกค้า ต้องพิจารณาถึงว่าบุคคลนั้น ต้องเป็นผู้เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 หรือเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการของผู้เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 มิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ก็จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลที่นำรถยนต์เข้าไปจอดในที่จอดรถของจำเลยที่ 1 แล้วรถยนต์สูญหายไปเสียทั้งหมด ทั้งที่บุคคลนั้นมิได้เป็นลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นางสาวยุพยงค์เป็นลูกจ้างของห้างสรรพสินค้าโฮมโปรซึ่งเป็นผู้ประกอบการและผู้เช่าพื้นที่จากจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบกิจการค้าหากำไร ในวันเกิดเหตุ การที่นางสาวยุพยงค์นำรถยนต์เข้ามาจอดไว้ในที่จอดรถของจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าไปทำงานประจำในห้างสรรพสินค้าโฮมโปร โดยไม่ปรากฏว่าได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่อาจถือได้ว่านางสาวยุพยงค์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 แม้จะฟังว่าห้างสรรพสินค้าโฮมโปรเช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาระหว่างห้างสรรพสินค้าโฮมโปรกับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับความรับผิดกรณีที่รถยนต์ของลูกจ้างห้างสรรพสินค้าโฮมโปรถูกคนร้ายลักไป จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของนางสาวยุพยงค์ การที่คนร้ายฉวยโอกาสลักรถยนต์ของนางสาวยุพยงค์คันที่โจทก์รับประกันภัยไป มิได้เกิดจากการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง อันจะถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 1 หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท