คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4822/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนจะเป็นแบบฟอร์มที่บริษัทจำเลยที่ 2 จัดทำขึ้นเอง แต่เมื่อได้กรอกข้อความตามที่ตกลงกัน และโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงิน ใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่แสดงว่าโจทก์ยอมรับเงินไปจากจำเลยที่ 2 จริง อันมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้นไปโดยต่างฝ่ายต่างยอมผันให้แก่กันด้วยความสมัครใจของโจทก์และจำเลยที่ 2
เอกสารใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนเป็นข้อตกลงประนีประนอมยอมความและมีผลใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ได้รับเงินไปตามข้อตกลงแล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันระงับไปตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์และมิได้ร่วมตกลงด้วย จึงไม่อาจอาศัยเอกสารดังกล่าวต่อสู้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยเนื่องจากคดีมีทุนทรัพย์เพียง 20,250 บาท การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นอาจมีผลทำให้คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและขอแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยไว้ ด้วยความประมาทชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ และรถยนต์ของโจทก์พุ่งชนท้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง ทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 38,250 บาท ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 18,000 บาท โดยให้โจทก์ลงชื่อในใบรับเงินค่าซ่อมรถยนต์ซึ่งมีข้อความว่า “…ถือเป็นการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่ใช้ในนามบริษัทเพื่อเป็นการประนีประนอมยอมความ…” ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์อีกจำนวน 20,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,250 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เอกสารใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 หรือไม่ จำเลยทั้งสองจะอาศัยเอกสารหมาย จ.5 ต่อสู้โจทก์ได้หรือไม่ และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2543 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ฬ-4484 กรุงเทพมหานคร ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ฎ-2290 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์และรถยนต์ของโจทก์พุ่งชนท้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง ทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์จำนวน 18,000 บาท และโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วตามใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนเอกสารหมาย จ.5 เห็นว่า แม้ใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนเอกสารหมาย จ.5 จะเป็นแบบฟอร์มที่จำเลยที่ 2 จัดทำขึ้นเองก็ตาม แต่เมื่อได้กรอกข้อความตามที่ตกลงกัน และโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงิน ใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่แสดงว่าโจทก์ยอมรับเงินจำนวน 18,000 บาท ไปจากจำเลยที่ 2 จริง อันมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้นไปโดยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันด้วยความสมัครใจของโจทก์และจำเลยที่ 2 อีกทั้งข้อตกลงตามใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนตามเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ก็มิได้รับภาระเกินกว่าที่วิญญชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ตามที่โจทก์อุทธรณ์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปที่ว่า จำเลยทั้งสองจะอาศัยเอกสารหมาย จ.5 ต่อสู่โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า เอกสารหมาย จ.5 เป็นข้อตกลงประนีประนอมยอมความและมีผลใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ได้รับเงินไปตามข้อตกลงแล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีผลต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันระงับไปตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์และมิได้ร่วมตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 ด้วยจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอาศัยเอกสารหมาย จ.5 ต่อสู้โจทก์ และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยเนื่องจากคดีมีทุนทรัพย์เพียง 20,250 บาท การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นอาจมีผลทำให้คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงสมควรให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share