แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 นั้น คู่ความฝ่ายใดในคดีจะร้องขอก็ได้ แต่จะต้องเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันได้รับความคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษา จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 307 ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าสมควรตั้งผู้จัดการทรัพย์หรือการประกอบกิจการตามที่จำเลยที่ 3 ร้องขอแทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 หรือไม่ ป.วิ.พ. มาตรา 307 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลมีคำสั่งในกรณีดังกล่าว ซึ่งมุ่งที่จะคุ้มครองลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้มีโอกาสชำระหนี้ โดยไม่จำต้องขายทรัพย์สินอันสามารถทำรายได้ให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไป การที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอตั้งผู้จัดการทรัพย์พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อบรรเทาความเสียหาย จึงเป็นคำขอเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ 3 ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจสั่งคำร้องขอดังกล่าวได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงินกู้จำนวน3,033,495.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 เมษายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2544 วันที่ 30 กรกฎาคม 2544 และวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ครั้งละ 30,000 บาท และวันที่ 26 ตุลาคม 2544 จำนวน 20,000 บาท หักชำระดอกเบี้ยก่อน หากมีเงินเหลือให้หักชำระต้นเงินและคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินคงเหลือในอัตราดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 603,694.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ดินเลขที่ 172 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 172 และสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 172 และสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว และตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ พร้อมกับยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม 2548 ขอให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 172 และสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งว่า คำร้องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 หรือไม่ เห็นว่า การร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 นั้น คู่ความฝ่ายใดในคดีจะร้องขอก็ได้ แต่จะต้องเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันได้รับความคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษา คดีนี้จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าสมควรตั้งผู้จัดการทรัพย์หรือการประกอบกิจการตามที่จำเลยที่ 3 ร้องขอแทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 หรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลมีคำสั่งในกรณีดังกล่าว ซึ่งมุ่งที่จะคุ้มครองลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้มีโอกาสชำระหนี้ โดยไม่จำต้องขายทรัพย์สินอันสามารถทำรายได้ให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไป การที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอตั้งผู้จัดการทรัพย์ พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อบรรเทาความเสียหาย จึงเป็นคำขอเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ 3 ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจสั่งคำร้องขอดังกล่าวได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง แต่โดยเหตุที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 วรรคสอง บัญญัติว่า คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด เพื่อให้คำสั่งในเรื่องนี้เสร็จเด็ดขาดไปพร้อมกับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีหลัก จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาสั่งคำร้องขอดังกล่าวใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคำร้องขอฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม 2548 ของจำเลยที่ 3 และมีคำสั่งใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
2/2