แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยมาแล้ว 8 นัด แต่จำเลยนำพยานมาสืบเพียง 2 นัด และสืบพยานจำเลยได้เพียง 1 ปากนอกนั้นจำเลยเป็นฝ่ายขอเลื่อนคดี 3 นัด และคู่ความทั้งสองฝ่ายขอเลื่อนคดีเพื่อเจรจาตกลงกันอีก 3 นัดครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยนัดที่ 9 จำเลยขอเลื่อนคดีอีก ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยนัดต่อไป และกำชับให้จำเลยนำพยานมาสืบให้เสร็จภายใน 2 นัดต่อมาเมื่อสืบพยานจำเลยนัดแรกแล้ว ครั้นถึงนัดที่สองเปลี่ยนไป ทนายโจทก์อ้างเหตุเจ็บป่วยขอเลื่อน ทนายจำเลยไม่ค้านและแถลงว่าจะนำพยานมาสืบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยอีก 2 นัด และกำชับให้จำเลยนำพยานมาสืบให้เสร็จตามที่นัดไว้โดยจะไม่ให้เลื่อนคดีอีก ครั้นสืบพยานจำเลยครบ 2 นัดแล้ว จำเลยแถลงจะขอสืบพยานอีก 4 ปาก โดยเฉพาะพยานบางปากจำเลยยังมิได้ระบุบัญชีพยานจำเลยเพิ่มเติม อันเป็นการไม่ปฎิบัติตามรายงานกระบวนพิจารณาและไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาและไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยจึงชอบแล้ว จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้ค่าส่งเสริมพัฒนาโครงการ ให้แก่โจทก์ ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ การที่จำเลยเป็นผู้ซื้ออาคารชุดต่อจากศ. ซึ่งข้อตกลงโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายร้านค้าอาคารชุดระหว่างจำเลยและ ศ. ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ เมื่อปรากฎว่า ศ. และจำเลยได้ทำหนังสือโอนสิทธิร้านค้าอาคารชุดและโจทก์ได้บันทึกในหนังสือฉบับนี้อนุมัติให้เปลี่ยนสัญญาได้ จำเลยย่อมถือหนังสือโอนสิทธิร้านค้าอาคารชุดฉบับนี้ต่อเนื่องกับสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมได้โดยถือว่าจำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์แทนที่ ศ.โจทก์ไม่จำต้องทำหนังสือสัญญาฉบับใหม่มอบให้จำเลยอีกการที่โจทก์ไม่ยอมทำและมอบหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาส่งเสริมพัฒนาโครงการฉบับใหม่ให้แก่จำเลย กรณีก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าส่งเสริมพัฒนาโครงการให้แก่โจทก์ตามสัญญาจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและนำอาคารชุดไปขายให้แก่ผู้อื่นได้ สำหรับเช็คพิพาทที่จำเลยได้ชำระเป็นค่าส่งเสริมพัฒนาโครงการก่อนมีการบอกเลิกสัญญานั้น เช็คดังกล่าวถือได้ว่าเป็นค่าส่งเสริมพัฒนาโครงการที่โจทก์ได้รับชำระไว้แล้วแม้ต่อมาโจทก์จะได้บอกเลิกสัญญาแล้วก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาส่งเสริมพัฒนาโครงการได้ให้สิทธิโจทก์ที่จะริบเงินทั้งหมดที่ได้รับชำระไว้แล้วเช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ต่อกัน เมื่อธนาคารตามเช็คปฎิเสธการใช้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดสาขาบางอ้อ จำนวน 7 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,400,000 บาทจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระเงินโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งเจ็ดฉบับ จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ รวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 60,759 บาท รวมเป็นเงิน 1,460,759 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,460,759 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2534 จำเลยได้รับโอนสิทธิร้านค้าอาคารชุดโครงการซิตี้คอมเพล็กซ์ห้องเลขที่ 833/299 (2032) จากนางสาวศศิวิไล รัชตเมธีจำเลยได้ชำระค่าร้านค้าอาคารชุดให้แก่บริษัทซิตี้คอมเพล็กซ์จำกัด ไปแล้วเป็นเงิน 2,550,000 บาท เช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับเป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้อาคารชุดให้แก่บริษัทซิตี้คอมเพล็กซ์ จำกัด แต่ที่เขียนว่าสั่งจ่ายให้แก่โจทก์เป็นเพราะบริษัทดังกล่าวต้องการให้จำเลยเขียนตามนั้นหลังจากที่จำเลยชำระเงินบางส่วนและย้ายเข้าไปอยู่ในอาคารชุดที่ซื้อแล้วบริษัทดังกล่าวและโจทก์บิดพริ้วไม่ยอมมอบสัญญาให้แก่จำเลยและไม่สามารถโอนอาคารชุดห้องดังกล่าวให้จำเลยได้ ถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,460,759 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,400,000บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยชอบหรือไม่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยมาแล้ว 8 นัดแต่จำเลยนำพยานมาสืบเพียง 2 นัด และสืบพยานจำเลยได้เพียง1 ปาก นอกนั้นจำเลยเป็นฝ่ายขอเลื่อนคดี 3 นัด และคู่ความทั้งสองฝ่ายขอเลื่อนคดีเพื่อเจรจาตกลงกันอีก 3 นัด ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยนัดที่ 9 วันที่ 7 กรกฎาคม 2536 จำเลยขอเลื่อนคดีอีก ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยนัดต่อไปวันที่ 11 และ 27 สิงหาคม 2536 และกำชับให้จำเลยนำพยานมาสืบให้เสร็จภายใน 2 นัด ต่อมาเมื่อสืบพยานจำเลยนัดวันที่ 11 แล้ว ครั้นถึงนัดวันที่ 27 ทนายโจทก์อ้างเหตุเจ็บป่วยขอเลื่อน ทนายจำเลยไม่ค้านและแถลงว่าจะนำพยานมาสืบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยวันที่ 5 และ 20 ตุลาคม 2536 และกำชับให้จำเลยนำพยานมาสืบให้เสร็จตามที่นัดไว้โดยจะไม่ให้เลื่อนคดีอีกครั้นสืบพยานจำเลยครบ 2 นัดแล้ว จำเลยแถลงจะขอสืบพยานอีก4 ปาก โดยเฉพาะพยานบางปากจำเลยยังมิได้ระบุบัญชีพยานจำเลยเพิ่มเติม อันเป็นการไม่ปฎิบัติตามรายงานกระบวนพิจารณาและไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสองการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยจึงชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คทั้ง 7 ฉบับ แก่โจทก์หรือไม่ คู่ความนำสืบรับกันว่านางสาวศศิวิไล รัชตเมธี เป็นผู้ซื้ออาคารชุดห้องเลขที่ 833/299(2032) ซึ่งโจทก์และบริษัทเอ.บี.ซี.ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ จำกัด เป็นเจ้าของและได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายร้านค้าอาคารชุดและสัญญาส่งเสริมพัฒนาโครงการตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ช่วงเวลาที่นางสาวศศิวิไลยังผ่อนส่งอยู่นั้นจำเลยได้ขอซื้ออาคารชุดดังกล่าวต่อจากนางสาวศศิวิไลโดยชำระเงินค่าอาคารชุดและค่าส่งเสริมพัฒนาโครงการบางส่วนคืนแก่นางสาวศศิวิไล และต้องชำระเงินค่าซื้ออาคารชุดส่วนที่เหลือให้แก่บริษัทเอ.บี.ซี. ดีพาร์ทเม้นสโตร์ จำกัดในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กับคำส่งเสริมพัฒนาโครงการให้โจทก์อีก 2,000,000 บาท จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระค่าส่งเสริมพัฒนาโครงการให้แก่โจทก์รวม 10 ฉบับ ฉบับละ 200,000 บาทโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ 3 ฉบับ ส่วนอีก 7 ฉบับเรียกเก็บเงินไม่ได้ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7ข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้ค่าอาคารชุด (ที่ถูกค่าส่งเสริมพัฒนาโครงการ) ให้แก่โจทก์แต่โจทก์ไม่ยอมทำและมอบหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาส่งเสริมพัฒนาโครงการฉบับใหม่ให้แก่จำเลย ทั้งโจทก์ได้โอนอาคารชุดให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้โจทก์จึงปราศจากมูลหนี้ต่อกันนั้นเห็นว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับโจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ จำเลยเป็นผู้ซื้ออาคารชุดต่อจากนางสาวศศิวิไล ซึ่งข้อตกลงโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายร้านค้าอาคารชุดระหว่างจำเลยและนางสาวศศิวิไลต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ ปรากฎว่านางสาวศศิวิไล และจำเลยได้ทำหนังสือโอนสิทธิร้านค้าอาคารชุดตามเอกสารหมาย ล.3 และโจทก์ได้บันทึกในหนังสือฉบับนี้อนุมัติให้เปลี่ยนสัญญาได้ จำเลยย่อมถือหนังสือโอนสิทธิร้านค้าอาคารชุดฉบับนี้ต่อเนื่องกับสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมได้โดยถือว่าจำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์แทนที่นางสาวศศิวิไล โจทก์ไม่จำต้องทำหนังสือสัญญาฉบับใหม่มอบให้จำเลยอีก โจทก์จึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาด้วยเหตุนี้ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าส่งเสริมพัฒนาโครงการให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและนำอาคารชุดไปขายให้แก่ผู้อื่น สำหรับเช็คพิพาทที่จำเลยได้ชำระเป็นค่าส่งเสริมพัฒนาโครงการก่อนมีการบอกเลิกสัญญานั้น เช็คดังกล่าวถือได้ว่าเป็นค่าส่งเสริมพัฒนาโครงการที่โจทก์ได้รับชำระไว้แล้วเช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ต่อกัน เมื่อธนาคารตามเช็คปฎิเสธการใช้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์
พิพากษายืน