คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6586/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินและตึกแถวมาจากส. แต่โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาดซึ่งเป็นการขายเฉพาะที่ดินและตึกแถวเท่านั้นไม่ได้ขายสิทธิอื่นใดของส. ที่มีอยู่เหนือที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่14373ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินที่โจทก์ซื้อมาดังนั้นแม้ส.จะได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาดังที่โจทก์อ้างโจทก์ก็ไม่อาจนำเอาระยะเวลาที่ส. ครอบครองมานับรวมด้วยได้โจทก์ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ซื้อมายังไม่ถึง10ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทการที่จะมีผู้ใดก่อสร้างกำแพงในที่พิพาทก็ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ แม้โจทก์จะเคยได้รับความสะดวกจากการที่ได้เปิดหน้าต่างรับลมมาแต่แรกก็ตามแต่ขณะนั้นที่ดินของถ.ยังไม่ได้ปลูกสร้างสิ่งใดในที่ดินเมื่อถ.ได้ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่2จำเลยที่2ได้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของจำเลยที่2เองมิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินหรือตึกแถวของโจทก์การกระทำของจำเลยที่2เป็นเรื่องที่จำเลยที่2กระทำลงในที่ดินของจำเลยที่2เองเป็นการใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยทรัพย์สินของจำเลยที่2โดยตรงมิใช่เป็นเรื่องจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์โจทก์จะขอให้จำเลยที่2รื้อสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้นไม่ได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1312วรรคแรกเป็นบทยกเว้นเรื่องส่วนควบและแดนกรรมสิทธิ์โดยบุคคลผู้สร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตมีสิทธิใช้ที่ดินของผู้อื่นในส่วนที่รุกล้ำนั้นได้แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินและจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมแต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มิได้เป็นผู้สร้างตึกแถวพิพาทหากแต่เจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้สร้างในทีดินของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา4มาใช้บังคับคืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา1312วรรคแรกคือโจทก์มีสิทธิใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่2เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำเข้าไปนั้นได้แต่โจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนในการใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่2แต่โจทก์มิได้มีคำขอให้บังคับเช่นนั้นกรณีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้การที่ศาลอุทธรณ์ระบุไว้ในคำพิพากษาไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่1ที่ว่าโจทก์แกล้งฟ้องจำเลยที่1ทำให้จำเลยที่1ได้รับความเสียหายควรให้โจทก์รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่2เป็นพับจึงเป็นการคลาดเคลื่อนนั้นเป็นฎีกาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่เพียงอย่างเดียวโดยมิได้ยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา168ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 11290พร้อมอาคารตึกแถวเลขที่ 339/16 โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2รวมทั้งบุคคลอื่นที่ได้ซื้อที่ดินและอาคารตึกแถวจากการจัดสรรต่างยึดถือครอบครองเฉพาะส่วนที่ติดกับที่ดินของตนตลอดแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 14373 โดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวต่อมาเมื่อประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2533 จำเลยทั้งสามได้ก่อสร้างกำแพงสูงปิดกั้นยาวตลอดแนวเขตติดต่อระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินโฉนดเลขที่ 14373 และสร้างหลังคาขึ้นครอบบนกำแพงคลุมที่ดินโฉนดเลขที่ 17373 ส่วนโจทก์ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์นอกจากนี้อาคารพิพาทตึกแถวเลขที่339/16 ซึ่งก่อสร้างขึ้นโดยเจ้าของที่ดินเดิมเมื่อปี 2513มีชายคากันสาดยื่นรุกล้ำโดยสุจริตนับถึงปัจจุบันเกินกว่า 10 ปีแล้วจึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ต่อมาเมื่อปี 2526 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้สร้างประตูเหล็กปิดกั้นส่วนหน้าของที่ดินจำเลยที่ 2 ประมาณ ปี 2532 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำหลังคาครอบที่ดินของจำเลยที่ 2 ซึ่งเจ้าของที่ดินเดิมกันไว้เป็นที่ว่าง เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันปิดกั้นแสงสว่างและทางลมของอาคารตึกแถวของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินกว่าปกติอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนกำแพงกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินโฉนดเลขที่14373 รื้อถอนหลังคาครอบที่ดินโฉนดเลขที่ 14373 ส่วนที่ติดกับที่ดินของโจทก์และขนย้ายทรัพย์สินออกไป ห้ามไม่ให้เข้าเกี่ยวข้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันรื้อถอนประตูเหล็กในที่ดินของจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่ปิดกั้นที่ดินใต้ชายคากันสาดอาคารตึกแถวของโจทก์และขนย้ายทรัพย์สินออกไปรื้อถอนหลังคาที่คลุมบางส่วนของที่ดินจำเลยที่ 2 ทั้งหมดออกไป หากจำเลยทั้งสามไม่รื้อถอน ให้โจทก์รื้อถอนและขนย้ายได้เองโดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย ให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่14389 ส่วนที่อยู่ใต้ชายคากันสาดอาคารตึกแถวเลขที่ 339/16 ของโจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาคารตึกแถวเลขที่ 339/16 นายแสงสว่าง ไม่เคยครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 14373 โจทก์ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดไม่อาจนับการครอบครองต่อจากนายแสงสว่างได้ จำเลยไม่ได้ก่อสร้างกำแพงในที่ดินดังฟ้อง ส่วนการก่อสร้างกันสาดรุกล้ำนั้นมีขึ้นโดยเจ้าของเดิมเป็นผู้ขออนุญาตทำขึ้น จำเลยทั้งสามทำประตูเหล็กปิดกั้นมาตั้งแต่ก่อนโจทก์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจากการขายทอดตลาด เพื่อรักษาทรัพย์สินของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิจารณา แล้ว พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล้ำเข้าไปในแนวหลังตึกแถวเลขที่ 339/16 เกินกว่าแนว 1.98 เมตราวัดจากเชิงผนังด้านนอกตลอดแนว คำขออื่นให้ยกทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 จดทะเบียนภารจำยอมสำหรับกันสาดของตึกแถวเลขที่339/16 ส่วนที่ล้ำเข้าไปในแดนอากาศของที่ดินโฉนดเลขที่ 14389เมื่อได้กำหนดค่าใช้ที่ดินแล้ว
โจทก์ และ จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า นายแสงสว่างผู้ซื้อที่ดินและตึกแถวคนก่อนได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 14373เนื้อที่ประมาณ 5 ตารางวา ซึ่งอยู่หลังตึกแถวที่ซื้อมาเมื่อปี2513 และเข้าทำประโยชน์ใช้สอยวางตุ่มน้ำและกระถางต้นไม้ไว้ในที่ดินดังกล่าว โจทก์เป็นผู้รับโอนตึกแถวและที่ดินมาจากนายแสงสว่างเมื่อปี 2530 ได้เข้าทำประโยชน์ใช้สอยด้วยการซื้อตุ่มน้ำเพิ่มอีก 1 ใบ และกระถางต้นไม้อีก 3 ใบ เป็นการสืบสิทธิจากนายแสงสว่างจนถึงปัจจุบันเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินและตึกแถวมาจากนายแสงสว่าง แต่โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาด ซึ่งเป็นการขายเฉพาะที่ดินและตึกแถวเท่านั้น ไม่ได้ขายสิทธิอื่นใดของนายแสงสว่างที่มีอยู่เหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 14373 ด้วย ดังนั้นแม้นายแสงสว่างจะได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาได้ดังที่โจทก์อ้าง โจทก์ก็ไม่อาจนำเอาระยะเวลาที่นายแสงสว่างครอบครองมานับรวมด้วยได้ โจทก์ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ซื้อมายังไม่ถึง 10 ปีจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว เมื่อฟังว่าโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแล้ว การที่จะมีผู้ใดก่อสร้างกำแพงในที่ดินพิพาทก็ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้สร้างตึกแถวพิพาทได้ทำหน้าต่างและกันสาดด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นที่ว่างก็โดยเจตนาให้ประชาชนในหมู่บ้านใช้ประชาชนร่วมกัน การที่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ทำหลังคาปิดกั้นคลุมกันสาดของโจทก์และนำวัสดุสิ่งของปิดกั้นหน้าต่างและกันสาดของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่ได้รับแสงสว่างและลมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินกว่าปกตินั้นเห็นว่าแม้โจทก์จะเคยได้รับความสะดวกจากการที่ได้เปิดหน้าต่างและได้รับลมมาแต่แรกก็ตาม แต่ขณะนั้นที่ดินของนายไถงยังไม่ได้ปลูกสร้างสิ่งใดในที่ดิน ต่อเมื่อนายไถงได้ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้ปลูกสร้างโรงเรือนที่ดินของจำเลยที่ 2 เอง มิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินหรือตึกแถวของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 กระทำลงในที่ดินส่วนของจำเลยที่ 2 เองเป็นการใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยทรัพย์สินของจำเลยที่ 2โดยตรง มิใช่เป็นเรื่องจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จะขอให้จำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 3 รื้อสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้นไม่ได้
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ทราบดีว่ากันสาดของตึกแถวของโจทก์ล้ำแดนกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 หากโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนภารจำยอม โจทก์ก็ต้องใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ไม่ยอมให้ค่าทดแทนแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ตัดสิทธิโจทก์จะฟ้องเป็นคดีใหม่จึงไม่อาจกระทำได้นั้น เห็นว่า เดิมที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมสิทธิ์เจ้าของคนเดียวกันเมื่อเจ้าของที่ดินเดิมปลูกสร้างตึกแถวพิพาทได้ทำกันสาดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 2 ก็ได้ซื้อที่ดินนั้นมา กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 เพราะการรุกล้ำ มิได้เกิดจากโจทก์เป็นผู้สร้างปัญหามีว่าโจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมหรือไม่เห็นว่า มาตรา 1312 วรรคแรก เป็นบทยกเว้นเรื่องส่วนควบและแดนกรรมสิทธิ์ โดยบุคคลผู้สร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต มีสิทธิใช้ที่ดินของผู้อื่นในส่วนที่รุกล้ำนั้นได้ แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มิได้เป็นผู้สร้างตึกแถวพิพาท หากแต่เจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้สร้างในที่ดินของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4มาใช้บังคับคับ คือ อาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 1312 วรรคแรก คือ โจทก์มีสิทธิใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่ 2 เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำเข้าไปนั้นได้แต่โจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนในการใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่โจทก์มิได้มีคำขอให้บังคับเช่นนั้น กรณีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ระบุไว้ในคำพิพากษาไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ จึงชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์แกล้งห้องจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ควรที่โจทก์จะต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพับน่าจะคลาดเคลื่อนต่อเหตุผลนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่เพียงอย่างเดียว โดยมิได้ยกเหตุว่า ค่าฤชาธรรมเนียมมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล้ำเข้าไปในแนวหลังตึกแถวเลขที่ 339/16 เกินกว่าแนว 1.98 เมตรวัดจากเชิงผนังด้านนอกตลอดแนว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share