คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ.มีส. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเพียงคนเดียว ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. มีหนี้ภาษีอากรค้างซึ่งจะต้องชำระแก่จำเลยแต่ห้างฯ ไม่ยอมชำระ ถือได้ว่าเป็นการผิดนัด ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา1070 ประกอบด้วยมาตรา 1080 บัญญัติให้เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนชอบที่จะเรียกให้ชำระเอาแต่หุ้นส่วนผู้จัดการได้ เมื่อห้างฯ ดังกล่าวเป็นอันเลิกไปโดยผลของกฎหมายเพราะ ส.ตายส. จึงต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นอย่างไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1077(2) ซึ่งย่อมรวมถึงหนี้ภาษีอากรค้างด้วย ทรัพย์สินกองมรดกของ ส. จึงตก เป็นทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง จำเลยจึงชอบที่จะยึดทรัพย์สินดังกล่าวของ ส. เพื่อบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุเทพ อภิรัตนวุฒิสามีโจทก์จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มีอำนาจสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ที่ต้องรับผิดเสียภาษีอากรก่อนถึงแก่กรรม นายสุเทพเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเพียงคนเดียวในห้างหุ้นส่วนจำกัดฮั่วไถ่ และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายสำหรับปี พ.ศ. 2511-2515ต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ ให้ชำระภาษีรวมเป็นเงิน 3,229,047บาท 75 สตางค์ แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ได้ยึดที่ดินโฉนดที่4838, 6359 และ 6773 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,500,000 บาท ซึ่งเป็นมรดกของนายสุเทพที่ยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาท อ้างว่าเพื่อนำไปชำระหนี้ภาษีอากรค้าง โจทก์เห็นว่า เป็นการไม่ชอบเพราะมิใช่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องรับผิดเสียภาษีอากรค้างแก่จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 3 จึงจะยึดทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งเป็นมรดกของนายสุเทพมิได้ ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมด
จำเลยทั้งสามให้การว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ เป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้าง 3,229,047 บาท 75 สตางค์ และห้างหุ้นส่วนดังกล่าวไม่มีทรัพย์สินใดพอที่จะนำไปชำระหนี้ภาษีอากรค้างนี้ได้ นายสุเทพอภิรัตนวุฒิ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเพียงคนเดียวของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว เมื่อนายสุเทพถึงแก่กรรม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ จึงต้องเลิกไปโดยผลของกฎหมายและทรัพย์สินกองมรดกของนายสุเทพรวมทั้งที่ดินพิพาททั้ง 3แปลงจึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างดังกล่าว ทั้งนี้เป็นเพราะนายสุเทพต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวนจำเลยที่ 3จึงมีสิทธิยึดทรัพย์คือที่ดินพิพาทในคดีนี้เพื่อบังคับชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างได้
ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ประเด็นเดียวว่าจำเลยทั้งสามมีสิทธิยึดทรัพย์มรดกของนายสุเทพ อภิรัตนวุฒิได้หรือไม่ และศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยปล่อยที่ดินโฉนดที่ 4838, 6359และ 6773 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึด ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสองศาลโดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท แทนโจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นแห่งคดีมีเพียงประเด็นเดียวดังที่ศาลชั้นต้นกำหนด คือจำเลยทั้งสามมีสิทธิยึดทรัพย์มรดกของนายสุเทพอภิรัตนวุฒิ หรือไม่ ดังนั้นที่โจทก์อ้างเหตุผลอื่นเป็นประเด็นขึ้นใหม่ในคำแก้ฎีกานั้น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลล่างทั้งสอง และไม่เป็นประเด็นแห่งคดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้สำหรับในประเด็นแห่งคดีดังกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่านายสุเทพเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดคนเดียวของห้างหุ้นส่วนจำกัดฮั่วไถ่เมื่อนายสุเทพถึงแก่กรรรม ห้างหุ้ส่วนดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกไปโดยผลของกฎหมายห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ ไม่ชำระค่าภาษีอากรค้างตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงยึดทรัพย์ที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงตามฟ้อง ซึ่งเป้นทรัพย์มรดกของนายสุเทพเพื่อบังคับชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้าง ในปัญหาวินิจฉัยที่ว่าจำเลยมีสิทธิยึดทรัพย์มรดกของนายสุเทพหรือไม่นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2) บัญญัติว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดฮั่วไถ่ ซึ่งมีนายสุเทพเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเพียงคนเดียวเท่านั้น และห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ มีหนี้ภาษีอากรค้างซึ่งจะต้องชำระแก่จำเลย แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮั่วไถ่ ไม่ยอมชำระถือได้ว่าเป็นการผิดนัด ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 ประกอบด้วยมาตรา 1080 บัญญัติให้เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่หุ้นส่วนผู้จัดการได้ ดังนั้นเมื่อห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเป็นอันเลิกไป นายสุเทพจึงต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นอย่างไม่มีจำกัดจำนวน ซึ่งก็ย่อมรวมถึงหนี้ภาษีอากรค้างตามฟ้องด้วย แต่เนื่องจากนายสุเทพได้ถึงแก่กรรม ดังนั้นทรัพย์สินกองมรดกของนายสุเทพจึงตกเป็นทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากร ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสองนั่นเอง เป็นเรื่องที่สืบเนื่องต่อกันมาตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว ไม่จำเป็นมีบทบัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรโดยเฉพาะอีกดังนี้ การที่จำเลยยึดทรัพย์สินตามฟ้อง เพื่อบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างจึงเป็นการชอบแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ”.

Share