แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่1ได้กู้เงินโจทก์จำนวน2,000,000บาทและจำเลยที่1ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยมีบริษัทจำเลยที่3สลักหลังชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ขณะที่จำเลยที่3สลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับจำเลยที่1และอ.ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่3อยู่ทั้งเช็คพิพาทก็เป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือโจทก์ในฐานะผู้ครอบครองเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวย่อมเป็นผู้ทรงเช็คเพื่อการชำระหนี้เงินกู้โดยชอบการที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับถูกธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่3ในฐานะผู้สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับนั้นจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา914ประกอบด้วยมาตรา989โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย โดยได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายทั้งสองฉบับเมื่อธนาคารตามเช็คปฎิเสธ การจ่ายตามเช็คทั้งสองฉบับนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าว จะเห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์ที่ว่านี้ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับพร้อมทั้งได้แสดงถึงข้ออ้างที่อาศัยหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับพร้อมทั้งได้แสดงถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติบังคับไว้แล้วฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ หาได้เคลือบคลุมไม่
ข้อฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่จำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้คดีไว้แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและพิพากษา ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ก่อนที่จำเลยที่ 1 และ อ. ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และ อ. ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 และประทับตราของจำเลยที่ 3 เป็นสำคัญโดยชอบ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 และ อ. จะได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 3 และบุคคลทั้งสองได้โอนหุ้นที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 3 ให้แก่บุคคลอื่นก่อนเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงินโดยที่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ชุดใหม่ไม่ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับเลยก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และ อ.ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3 โดยชอบนั้นเอง การเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ในภายหลัง ไม่มีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ที่มีอยู่ต่อโจทก์ก่อนแล้วต้องเปลี่ยนแปลงไป แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากกันตามวาระของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนก็ไม่ได้ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 2 ต้องหลุดพ้นไปผลแห่งการลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 1 และ อ. ซึ่งมีตราของจำเลยที่ 3 ประทับเป็นสำคัญย่อมผูกพันให้จำเลยที่ 3 ต้อง ร่วมรับผิดในเช็คพิพาทต่อโจทก์
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2534จำเลยที่ 2 มีนายยงยุทธ ทัพมานนท์ และนายอารีคาน อารีหะหมัดเป็นกรรมการร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 2มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม 2534 ถึงปัจจุบันจำเลยที่ 3 มีนายสุทิน ลิมโปดม นายประสิทธิ์ คุณวิเศษพงษ์นายประกอบ ศรีแสงนาม นายพรอนันต์ ทังเกษมวัฒนาและนายสีหวิุฒ แต่โสภา เป็นกรรมการ โดยกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 3 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 2,000,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กำหนดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนภายในวันที่ 4 สิงหาคม 2534 เพื่อเป็นหลักฐานและชำระเงินต้นคืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลุมพินี 2 ฉบับ คือฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2534 สั่งจ่ายเงิน1,500,000 บาท และฉบับลงวันที่ 4 กันยายน 2534 สั่งจ่ายเงิน500,000 บาท เช็คทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลัง (ความจริงจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลเดียวกัน) เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์ได้นำเช็คนั้นเข้าบัญชีของโจทก์ ปรากฎว่าธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2534 และวันที่ 12และวันที่ 12 กันยายน 2534 ตามลำดับ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน2,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2534 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 162,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,162,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์และได้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์จริง แต่หลังจากธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับจำเลยที่ 1 ได้ชำระต้นเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 อีกโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้กู้ยืมเงินแต่จำเลยที่ 1 ได้จ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามฟ้องให้โจทก์เพื่อเป็นประกันการลงหุ้นในการร่วมทุนเข้าเป็นหุ้นส่วนทำธุรกิจเกี่ยวกับที่ดินด้วยกันขณะฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระบัญชีที่เข้าหุ้นส่วนต่อกันว่ามีกำไรหรือขาดทุนอย่างไร โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนละนิติบุคคลกันโดยมีกรรมการคนละชุดกัน ทำให้จำเลยที่ 3 ไม่อาจเข้าใจสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม การสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับ กรรมการของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีผู้ใดลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 และที่ 3ขณะที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน นายยงยุทธ ทัพมานนท์และนายอารีคาน อารีหะหมัด มิได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2และที่ 3 แล้วบุคคลทั้งสองไม่มีอำนาจกระทำการใดในนามของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อีกต่อไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน1,500,000 บาท นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2534 ถึงวันที่ 11กันยายน 2534 ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 162,500 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 3 และเป็นการฟ้องนิติบุคคลเดียวกันเป็นจำเลยสองคนในคดีเดียวกัน กรรมการตามที่ระบุของจำเลยที่ 2 ขณะฟ้องคดีพ้นหน้าที่ไปแล้ว จึงให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องได้ความจากการนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1ได้กู้เงินโจทก์ จำนวน 2,000,000 บาท กำหนดใช้คืนในวันที่4 สิงหาคม 2534 สัญญาให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 เพื่อการชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 และจ.5 โดยมีจำเลยที่ 3 สลักหลังและประทับตราของบริษัทมอบให้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 3 โดยนายประสิทธิ์ คุณวิเศษพงษ์ กรรมการชุดใหม่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 จะนำสืบว่า ผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับจะเป็นใคร จำเลยที่ 3ไม่ทราบและขณะที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน จำเลยที่ 1กับนายอารีคาน อารีหะหมัด กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ชุดเดิมไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 3 แล้วก็ตามเมื่อโจทก์มีตัวโจทก์เองกับนางสาวเพ็ญจันทร์เป็นพยานบุคคลและมีหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 กับสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 เป็นพยานเอกสารสืบพิสูจน์ได้ว่า จำเลยที่ 1ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 โดยมีจำเลยที่ 3สลักหลังชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์จริง และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยที่ 3 สลักหลังชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์จริง และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยที่ 3 สลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 และนายอารีคานยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 อยู่ และจำเลยที่ 3 มิได้ให้การโต้เถียงว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับทั้งเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ก็เป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ซื้อ โจทก์ในฐานะผู้ครอบครองเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวย่อมเป็นผู้ทรงเช็คเพื่อการชำระหนี้เงินกู้โดยชอบ การที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับถูกธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับนั้นจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา914 ประกอบด้วยมาตรา 989 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3
ในปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุม ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องแยกจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลที่มีกรรมการคนละชุดต่างหากจากกัน และบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2และที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทค้ำประกันขัดแย้งกันโดยบรรยายรายชื่อบุคคลที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 2 แยกต่างหากจากจำเลยที่ 3 มิได้มีผู้ใดลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับแต่อย่างใดการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายทั้งสองฉบับ เมื่อธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายตามเช็คทั้งสองฉบับนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าว จะเห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ที่ว่านี้ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ พร้อมทั้งได้แสดงถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติบังคับไว้แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ หาได้เคลือบคลุมไม่
ในปัญหาเรื่องการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงให้ไว้แก่โจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,162,500 บาทและได้สั่งจ่ายเช็คเพื่อการชำระหนี้จำนวนนั้นให้แก่โจทก์จำนวน 12 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ล.6 แม้เช็คที่จำเลยที่ 1สั่งจ่ายในภายหลังจำนวน 1 ฉบับ จะถูกธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงินก็ตาม แต่การทำบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องแล้วโดยจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมรับผิดด้วย ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ทำให้หนี้เดิมระงับ โจทก์ชอบที่จะบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ตามมูลหนี้ในเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้ใหม่ทั้ง 12 ฉบับ จำเลยที่ 3 จึงหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่วินิจฉัย
ในปัญหาเรื่องการสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับและความรับผิดที่มีต่อโจทก์อันเกิดจากการกระทำของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ชุดเดิม จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเป็นนิติบุคคลแห่งเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 แยกความรับผิดออกจากกันแจ้งชัดแล้วเมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยที่ 1 และนายอารีคานเป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 และนายอารีคานย่อมผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่มีจำเลยที่ 1 และนายอารีคานเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนชุดเดิมเท่านั้น ส่วนที่จำเลยที่ 3 มิได้มีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนชุดใหม่คนใดลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 3 จึงไม่ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 3 นำสืบรับกันว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 และนายอารีคานลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 3จำเลยที่ 1 และนายอารีคารได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3และประทับตราของจำเลยที่ 3 เป็นสำคัญโดยชอบ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 และนายอารีคานจะได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 3และบุคคลทั้งสองได้โอนหุ้นที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 3 ให้แก่บุคคลอื่นก่อนเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โดยที่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ชุดใหม่ไม่ได้ลงลายมือสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับเลยก็ตามแต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และนายอารีคานก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3โดยชอบนั้นเอง การเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ในภายหลัง ไม่มีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 3ที่มีอยู่ต่อโจทก์ก่อนแล้วต้องเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ดังนั้นแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากกันตามวาระของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนก็ไม่ได้ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 2ต้องหลุดพ้นไป ผลแห่งการลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ของจำเลยที่ 1 และนายอารีคาน ซึ่งมีตราของจำเลยที่ 3ประทับเป็นสำคัญย่อมผูกพันให้จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในเช็คพิพาททั้งสองฉบับต่อโจทก์
พิพากษายืน