คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 898-899/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำว่า”เหตุสุดวิสัย”ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งได้ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำให้ได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่29กันยายน2538ให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยหากจำเลยจะดำเนินคดีต่อไปให้วางค่าธรรมเนียมศาลภายใน10วันจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งวันที่9ตุลาคม2538ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ต่อมาวันที่16ตุลาคม2538จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ออกไปมีกำหนด10วันอ้างว่าไม่ทราบคำสั่งที่ศาลไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยถือว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23ที่จำเลยจะยกขึ้นมาอ้างเพื่อยื่นคำขอขยายระยะเวลาวางเงินภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกเป็นโจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 2
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองต่างยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาจ้างทำของโดยโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 18/45 ชั้น 9 และห้องชุดเลขที่ 18/60 ชั้น 12อาคารชุดสมคิดการ์เดนส์คอนโดมิเนียม ตามลำดับ และว่าจ้างให้จำเลยทำการออกแบบและตกแต่งภายในห้องชุดดังกล่าว แต่จำเลยทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนด โจทก์ทั้งสองจึงบอกเลิกสัญญาแล้วหาผู้รับจ้างรายใหม่มาทำงานต่อจากจำเลยจนแล้วเสร็จ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินส่วนที่เบิกเกินจากงานที่ทำพร้อมค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 536,361.50 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน563,638.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ว่าจ้างให้จำเลยทำการตกแต่งห้องชุดดังกล่าว แต่จำเลยตกลงช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองในฐานะที่เป็นเพื่อนกันให้คำปรึกษาทางด้านการตกแต่งภายในและช่วยติดต่อประสานงานหาผู้รับเหมาให้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 563,361.50 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน 563,638.50 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยแล้ว มีคำสั่งเมื่อวันที่29 กันยายน 2538 ว่า ข้ออ้างที่ว่าจำเลยยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลฟังไม่ขึ้น ยกคำร้องหากจำเลยประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้วางค่าธรรมเนียมภายใน 10 วัน มิฉะนั้นไม่รับอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2538
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538 ว่า กรณีอ่านคำสั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 ครบกำหนดจำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2538 จำเลยจึงยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด 7 วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้ายไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ตามที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน2538 ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของจำเลย และมีคำสั่งให้วางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ภายใน 10 วัน เนื่องจากจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยจึงขอความกรุณาขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ตามคำสั่ง ศาลชั้นต้นลงวันที่ 29กันยายน 2538 ออกไปมีกำหนด 10 วัน นับแต่วันนี้ เนื่องจากจำเลยเพิ่งทราบคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นในวันนี้ จึงไม่อาจนำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาวางศาลชั้นต้นก่อนหน้านี้ได้เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม ขอศาลชั้นต้นอนุญาตด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการวางเงินพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์และพ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้วางเงินแล้ว จึงไม่อาจอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการวางเงินยกคำร้อง
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ซึ่งครบกำหนดภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2538 ก็เนื่องจากในวันดังกล่าวนั้นจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์และจำเลยยังไม่ทราบคำสั่งศาลที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย ต่อมาจำเลยได้มายื่นคำขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นต้นในวันที่ 16 ตุลาคม 2538 นั้นเห็นว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่ศาลได้กำหนดไว้ แต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นนั้นให้กระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย คำว่า”เหตุสุดวิสัย” ตามบทกฎหมายดังกล่าวหมายถึง เหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำให้ได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อตามคำสั่งศาลชั้นต้นจำเลยจะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2538 ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำขอขยายระยะเวลาวางเงินหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโดยอ้างว่าไม่ทราบคำสั่งที่ศาลไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยและไม่ทราบแน่ว่าจะต้องวางเงินตามคำสั่งศาลนั้น หาใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะยกขึ้นมาอ้างได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด ข้ออ้างของจำเลย จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share