คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า”พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก” ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงพรรค ป. และ ด. สามีโจทก์ ดังนี้จำเลยที่ 1 มีเจตนาใส่ความผู้ตายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารอันน่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อื่นได้ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน ถ้าจะรอการลงโทษไว้ย่อมจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้จำเลยที่ 1 ต้องระมัดระวังความประพฤติของตน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้เขียนแต่รับผิดในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาจำเลยทั้งสองไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 327, 328, 32, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช2484 มาตรา 48 และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 7, 8 ให้โฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ของจำเลย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิสว์ สยามรัฐมติชน และหนังสือพิมพ์บ้านเมือง เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกันโดยจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าโฆษณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327, 328, 83 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 920 จำคุก 6 เดือน ปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327, 328, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก6 เดือน ปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน ถ้าจะรอการลงโทษไว้ย่อมจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้จำเลยที่ 1 ต้องระมัดระวังความประพฤติของตน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ไปทีเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้เขียนแต่รับผิดในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณา ทั้งไม่เคยปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยรับโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไปจึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน และหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับละ 7 วัน โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นภรรยาผู้ตาย ผู้ตายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร และเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงานกระทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2528 ขณะนั้นจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร หัวหน้าพรรคประชากรไทยและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับเป็นผู้เขียนบทความมุมน้ำเงินในหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ โดยมีจำเลยที่ 2เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ และผู้โฆษณา จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนข้อความตามฟ้องลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ฉบับประจำวันที่18 กรกฎาคม 2529 หน้าที 5 และ 16 รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมายจ.3 จำหน่ายทั่วราชอาณาจักร
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกามีว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ และดุลพินิจในการลงโทษจำเลยทั้งสองและการลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์เหมาะสมเพียงใด เห็นว่า ข้อความที่ว่า พรรคไหนเอ่ย ที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลกตามเอกสารหมาย จ.3 หน้า 16 นั้น ข้อความตอนนี้โจทก์เองเบิกความยืนยันว่า หมายถึงพรรคประชาธิปัตย์และนายดำรงสามีโจทก์เพราะยังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดปลิดชีพตัวเอง จึงเชื่อว่าสาเหตุแห่งการกระทำอัตวินิบาตกรรมของผู้ตายมิได้เกิดจากการที่นายดำรงมีส่วนพัวพันกับการค้าเฮโรอีนดังที่จำเลยที่ 1 ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ตามเอกสารหมาย จ.3 บทความที่จำเลยที่ 1เขียนจึงไม่เป็นความจริง จำเลยที่ 1 ได้เขียนโดยมีเจตนาทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าผู้ตายมีส่วนพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศอันเป็นความผิดอาญาร้ายแรงมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตและต้องจบชีวิตตนเองเพื่อแก้ปัญหา จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาใส่ความผู้ตายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารอันน่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อื่นได้ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความดังกล่าวโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมแต่ประการใด จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ฉบับเกิดเหตุย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ตามกฎหมายสำหรับโทษที่จำเลยทั้งสองควรได้รับหนักเบาประการใดนั้นศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองได้กล่าวเหตุผลไว้โดยละเอียดในการรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 และการกำหนดโทษจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองลงโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์หรือหนังสือพิมพ์มติชนฉบับใดฉบับหนึ่งอีกหนึ่งฉบับ เป็นเวลาฉบับละ7 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share