คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 725/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชย*นาวีพ.ศ.2521เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชย*นาวีโจทก์เป็นพิเศษที่จะสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาลแต่พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ใช้สิทธิฟ้องผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่อย่างใดเมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยอ้างว่าจำเลยต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระจึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในอันที่จะได้รับชำระค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา55 กฎกระทรวงคมนาคมฉบับที่3(พ.ศ.2527)ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีฯข้อ1กำหนดให้ของที่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการองค์การของรัฐหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจสั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อปฏิบัติตามสัญญาโดยทางเรือในเส้นทางที่มีเรือไทยเดินอยู่และสามารถให้บริการรับขนได้ต้องบรรทุกโดยเรือไทยทั้งนี้ไม่ว่าบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญานั้นจะเป็นผู้สั่งหรือนำเข้ามาเองหรือโดยผ่านทางตัวแทนหรือผู้รับจัดการขนส่งดังนั้นเมื่อเส้นทางเดินเรือจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีเรือไทยเดินอยู่และสามารถให้บริการรับขนของได้ตามประกาศกระทรวงคมนาคมแม้บริษัทไทยเดินเรือทะเลจะเป็นผู้จัดการขนส่งกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทก็ตามแต่เมื่อเรือซึ่งบรรทุกกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทจากประเทศญี่ปุ่นนำเข้ามาส่งมอบให้โรงงานยาสูบในประเทศไทยมิใช่เรือไทยจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากับโรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับสองเท่าของค่าระวางสำหรับการรับขนกระดาษมวนบุหรี่นั้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีฯมาตรา22 พระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีฯมาตรา22วรรคสามให้ถือว่าภาระในการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ผู้ส่งของส่งของโดยเรืออื่นและเมื่อถึงกำหนดชำระแล้วมิได้เสียให้ถือว่าเป็นค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระและกฎกระทรวงคมนาคมฉบับที่3(พ.ศ.2527)ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีฯลงวันที่7มิถุนายน2527ข้อ4กำหนดให้ผู้ซึ่งต้องชำระค่าธรรมเนียมพิเศษนำเงินมาชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ณสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เรือซึ่งขนของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อพ้นกำหนดชำระแล้วหากยังไม่ชำระให้คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระนั้นจำเลยในฐานะผู้ส่งของและคู่สัญญาผู้ขายกระดาษมวนบุหรี่ให้โรงงานยาสูบจึงมีภาระในการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่จำเลยได้ส่งของและมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมพิเศษมาชำระให้แก่โจทก์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เรือเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อจำเลยยังไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษจนพ้นกำหนดชำระแล้วจำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีจากจำนวนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระนั้นให้แก่โจทก์ด้วย สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/34(3)ซึ่งมีอายุความ2ปีนั้นเป็นสิทธิเรียกร้องที่ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของหรือผู้รับส่งข่าวสารเรียกเอาค่าโดยสารค่าระวางค่าเช่าค่าธรรมเนียมรวมทั้งที่ได้ออกทดรองไปอายุความดังกล่าวจึงมิได้ใช้บังคับแก่คดีนี้และที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/31กำหนดให้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปีส่วนสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาหนี้อย่างอื่นให้บังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนี้นั้นแม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกเอาค่าธรรมเนียมพิเศษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีฯมิใช่สิทธิเรียกร้องที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรก็ตามแต่สิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,913,499.03 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,397,490.48 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่งกระดาษมวนบุหรี่โรงงานยาสูบเป็นเจ้าของสินค้ากระดาษมวนบุหรี่ และเป็นคนสั่งหรือนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากต่างประเทศโดยทางทะเล จำเลยเป็นเพียงผู้ชี้ช่องให้บริษัทเจแปน พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัดขายกระดาษมวนบุหรี่ให้แก่โรงงานยาสูบเท่านั้น จำเลยไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องกับการนำข้าหรือสั่งเข้ามาซึ่งกระดาษมวนบุหรี่ จำเลยมิใช่ผู้ส่งของในฐานะเป็นเจ้าของสินค้าหรือผู้สั่งหรือนำของมาจากต่างประเทศ เพราะสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าธรรมเนียมมีกำหนดอายุความ 2 ปี แต่โจทก์ไม่ได้เรียกเอาตามกำหนดอายุความดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,397,490.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าวันที่ 25 มีนาคม 2529 จำเลยขายกระดาษมวนบุหรี่จำนวน 390,000 ม้วนให้โรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลังในราคา353,730,000 เยน ตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายกระดาษมวนบุหรี่เอกสารหมาย จ.4 แล้วจำเลยสั่งซื้อกระดาษมวนบุหรี่จากบริษัทเจแปน พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ที่ประเทศญี่ปุ่นและใช้เรือขนส่งกระดาษมวนบุหรี่จำนวนดังกล่าวจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น มาส่งมอบให้โรงงานยาสูบที่ประเทศไทยจำนวน 10 เที่ยว ตามสำเนาใบตราส่ง 10 ฉบับ พร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.20 เส้นทางเดินเรือจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีเรือไทยเดินอยู่ และสามารถให้บริการรับขนของได้ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดเส้นทางเดินเรือที่ผู้สั่งหรือนำของเจ้ามาจากต่างประเทศต้องบรรทุกของนั้นโดยเรือไทย ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2527 สำหรับการขนส่งสินค้าที่เกิดกรณีพิพาทคดีนี้มีการขนส่งกระดาษมวนบุหรี่จำนวน 40,000 ม้วน หนัก 164,597 กิโลกรัม ปริมาตร 376.653ลูกบาศก์เมตร จากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นมาส่งมอบให้โรงงานยาสูบโดยเรือเวสเทอนลัคกี้ ซึ่งจำเลยเสียค่าระวางการรับขนกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวตามน้ำหนักและปริมาตรของกระดาษมวนบุหรี่เป็นเงิน 27,146.28เหรียญสหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทยจำนวน 698,745.24 บาทตามสำเนาใบตราส่งพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 หรือ ล.17 และล.18 เรือเวสเทอนลัคกี้ เข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่21 กันยายน 2530 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ที่จำเลยแก้ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521 มาตรา 23 บัญญัติว่า “เพื่อให้ได้รับชำระค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ซึ่งต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษชำระค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าว รวมทั้งให้มีอำนาจสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษโดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง” และวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่กรณีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้โดยไม่ต้องฟ้องต่อศาลจึงไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เพราะจำเลยยังไม่ได้โต้แย้งการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์นั้น เห็นว่าบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นพิเศษ ที่จะสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ใช้สิทธิฟ้องผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่อย่างใดเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระแล้ว จำเลยไม่ชำระ จึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในอันที่จะได้รับชำระค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษให้แก่โจทก์หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหานี้จำเป็นต้องวินิจฉัยก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ส่งของตามความหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521 และเรือเวนเทอนลัคกี้ที่จำเลยใช้ขนส่งกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทเป็นเรือไทยหรือไม่ ปัญหาว่าจำเลยเป็นผู้ส่งของตามความหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชย์นาวี พ.ศ. 2521 หรือไม่นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521 มาตรา 4บัญญัติว่า “ผู้ส่งของ” หมายความว่า เจ้าของหรือตัวแทนซึ่งส่งของไปยังหรือสั่งหรือนำของมาจากต่างประเทศโดยทางทะเล และ “ของ”หมายความว่าสินค้า สิ่งของหรือสัตว์มีชีวิต ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญาขายกระดาษมวนบุหรี่ให้โรงงานยาสูบตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายกระดาษมวนบุหรี่เอกสารหมาย จ.4แล้วจำเลยสั่งซื้อกระดาษมวนบุหรี่จากบริษัทเจแปน พัลพ์แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ที่ประเทศญี่ปุ่น และใช้เรือขนส่งกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น มาส่งมอบให้โรงงานยาสูบที่ประเทศไทย จำเลยจึงเป็นเจ้าของกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าว ซึ่งนำกระดาษมวนบุหรี่มาจากต่างประเทศโดยทางทะเลอันเป็นผู้ส่งของตามความหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521 ส่วนในปัญหาว่าเรือเวสเทอนลัคกี้เป็นเรือไทยเรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีพ.ศ. 2521 มาตรา 4 บัญญัติว่า “เรือ” หมายความว่า เรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งทางทะเลและ “เรือไทย” หมายความว่า เรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยที่ใช้ในการขนส่งทางทะเล ซึ่งจำเลยมีนายชูนิชิ โอคามอโต้ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทนิโฮ่น กามิ จุนยู โซโกะ คาบิกิ คัยชะ ผู้จัดการส่งสินค้าออกให้แก่บริษัทเจแปน พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ระหว่างปี2529 ถึงปี 2530 ซึ่งจัดส่งกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทเข้ามาให้โรงงานยาสูบ เบิกความเป็นพยานลอย ๆ เพียงว่าพยานเข้าใจว่าเรือที่จุดส่งกระดาษมวนบุหรี่เข้ามาเป็นเรือที่มีสัญชาติไทย ส่วนโจทก์มีนางสาวผสมศรี กิจเจริญวงศ์ ซึ่งเป็นนักวิชาการ 5 ของโจทก์ในระหว่างปี 2526 ถึงปี 2535 และเป็นผู้คิดคำนวณค่าธรรมเนียมพิเศษในคดีนี้ เบิกความเป็นพยานว่า เรือเวสเทอนลัคกี่เป็นเรือสัญชาติปานามา มิใช่เรือไทยหรือเรือเช่าที่ได้รับสิทธิและประโยชน์เช่นเดียวกับเรือไทย นอกจากนี้แล้วโจทก์ยังมีนายศรีปาล ศรีเปารยะ นิติกร 4 กองนิติการและการต่างประเทศของโจทก์ เบิกความเป็นพยานด้วยว่า ได้เคยติดต่อสอบถามนายทะเบียนเรือไทย กรมเจ้าท่า เพื่อขอทราบว่าภายในช่วงระยะเวลาที่ขนสินค้าพิพาทในคดีนี้ เรือที่ใช้ขนมีสัญชาติไทยหรือไม่และได้รับตอบว่าเรือดังกล่าวไม่มีสถานภาพเป็นเรือไทย โดยโจทก์มีเอกสารหมาย จ.18 ซึ่งเป็นหนังสือที่กรมเจ้าท่าแจ้งให้โจทก์ทราบว่ากรมเจ้าท่าได้ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนแล้วไม่ปรากฏว่าในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 21 กันยายน 2530 มีชื่อเรือเวสเทอนลัคกี้อยู่ในสารบบทะเบียนเรือไทยแต่อย่างใดเป็นพยานหลักฐานประกอบอีกด้วย พยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ฟังได้ว่าเรือเวสเทอนลัคกี้ซึ่งบรรทุกกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทมามิใช่เรือไทย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติดังกล่าวข้างต้นว่าจำเลยทำสัญญาขายกระดาษมวนบุหรี่จำนวน 390,000ม้วน ให้แก่โรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลังและเส้นทางเดินเรือจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีเรือไทยเดินอยู่ และสามารถให้บริการรับขนของได้ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดเส้นทางเดินเรือที่ผู้สั่งหรือนำของเข้ามาจากต่างประเทศต้องบรรทุกของนั้นโดยเรือไทยฉบับที่ 2 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2527 ในการส่งกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทมาจากต่างประเทศ เพื่อปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวโดยทางเรือตามเส้นทางเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยนั้นจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากับโรงงานยาสูบจึงมีหน้าที่ต้องส่งกระดาษมวนบุหรี่นั้นโดยเรือไทยตามกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2527)ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงคมนาคมฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2530) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2530 ดังนั้นเมื่อจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากับโรงงานยาสูบและเป็นผู้ส่งของตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521 ใช้เรือเวสเทอนลัคกี้ ซึ่งมิใช่เรือไทยในการบรรทุกนำกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาส่งมอบให้โรงงานยาสูบ โดยเสียค่าระวางการรับขนเป็นเงิน 698,745.24 บาทจำเลยจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ เท่ากับสองเท่าของค่าระวางสำหรับการับขนของคือกระดาษมวนบุหรี่นั้น ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521 มาตรา 22 เป็นเงิน 1,397,490.48 บาทที่จำเลยแก้ฎีกาว่าผู้ส่งของที่จะต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษจะต้องมีเจตนาหรือประสงค์ที่จะไม่ใช้เรือไทยในการขนส่งจริง ๆคดีนี้จำเลยผู้ส่งของมิได้ทำการขนส่งด้วยตนเอง แต่ได้ตกลงให้บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด ซึ่งเป็นสายการเดินเรือแห่งชาติเป็นผู้รับจัดการขนส่ง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษนั้น เห็นว่า กฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 3(พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีพ.ศ. 2521 ข้อ 1 กำหนดให้ของที่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการ องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจสั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โดยทางเรือในเส้นทางที่มีเรือไทยเดินอยู่แล้วสามารถให้บริการรับขนได้ต้องบรรทุกโดยเรือไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการ องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจนั้นจะเป็นผู้สั่งหรือนำเข้ามาเอง หรือโดยผ่านทางตัวแทนหรือผู้รับจัดการขนส่ง ดังนั้น แม้บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัดเป็นผู้รับจัดการขนส่งกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทตามที่จำเลยแก้ฎีกาแต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเรือเวสเทอนลัคกี้ซึ่งบรรทุกกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น นำเจ้ามาส่งมอบให้โรงงานยาสูบในประเทศไทยมิใช่เรือไทย จำเลยก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับสองเท่าของค่าระวางสำหรับการรับขนกระดาษมวนบุหรี่นั้น ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีพ.ศ. 2521 มาตรา 22 เป็นเงิน 1,397,490.48 บาท ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของจำนวนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษ นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จหรือไม่ ในปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521 มาตรา 22วรรคสาม บัญญัติ ว่า “ให้ถือว่าภาระในการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ผู้ส่งของโดยเรืออื่น และเมื่อถึงกำหนดชำระแล้วมิได้เสีย ให้ถือว่าเป็นค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระ”และกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521 ลงวันที่7 มิถุนายน 2527 ข้อ 4 กำหนดว่า “ให้ผู้ซึ่งต้องชำระค่าธรรมเนียมพิเศษนำเงินมาชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เรือซึ่งขนของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อพ้นกำหนดชำระแล้วหากยังไม่ได้ชำระ ให้คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระนั้น” จำเลยในฐานะผู้ส่งของตามความหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521และคู่สัญญาผู้ขายกระดาษมวนบุหรี่ให้โรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจึงมีภาระในการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่จำเลยได้ส่งของคือกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทโดยเรือเวสเทอนลัคกี้และมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมพิเศษมาชำระให้แก่โจทก์ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2530 ซึ่งเป็นวันที่เรือเวสเทอนลัคกี้เข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อจำเลยยังไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวจนพ้นกำหนดชำระแล้ว จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากจำนวนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระนั้นให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,397,490.48 บาทนับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินต้นแล้วเสร็จ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟ้องขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 และมาตรา 193/34(3) เพราะค่าธรรมเนียมพิเศษตามพระราชบัญญัติบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีพ.ศ. 2521 มิใช่ค่าภาษีอากร และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่28 สิงหาคม 2535 เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่เรือเวสเทอนลัคกี้ที่อ้างว่ามิใช่เรือไทยเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 กันยายน2530 นั้น เห็นว่า สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34(3) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี นั้นเป็นสิทธิเรียกร้องที่ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของ หรือผู้รับส่งข่าวสาร เรียกเอาค่าโดยสาร ค่าระวางค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป อายุความดังกล่าวจึงมิได้ใช้บังคับแก่คดีนี้และที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/31 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี ส่วนสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาหนี้อย่างอื่นให้บังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนี้”นั้น แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกเอาค่าธรรมเนียมพิเศษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521 มิใช่สิทธิเรียกร้องที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 สิงหาคม 2535 คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,397,490.48 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จทั้งนี้ดอกเบี้ยที่คำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอ

Share