แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกู้เงินเพื่อให้กิจการดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมนับเนื่องเข้าในวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นแม้จะไม่ระบุไว้ชัดแจ้งในตราสารจัดตั้งก็ดี
ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดลงชื่อกู้เงินแทนห้างแต่ประทับตราปลอมห้างหุ้นส่วนจำกัดก็ต้องรับผิด
ย่อยาว
จำเลยเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้ว มีผู้ถือหุ้นด้วยกัน 3 คน คือ นายกมล วัฒนพาณิช นายมนัสวัฒนพาณิช และนายจุล วัฒนพาณิช มีวัตถุที่ประสงค์ตั้งโรงสีทำการสีข้าว จำหน่ายข้าวซื้อขายข้าวสาร แกลบรำ ทำการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าซื้อขายข้าวเปลือกข้าวสาร ประกอบการทำกระสอบข้าวและเครื่องอุปกรณ์เกี่ยวแก่โรงสีข้าว นายกมล วัฒนพาณิชผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเป็นผู้จัดการ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.23 ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้มีดวงตราซึ่งจดทะเบียนแล้วหนึ่งดวงรูปไข่มีข้อความว่า “หุ้นส่วนจำกัด บางจากพาณิช”
โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้และดอกเบี้ยที่ค้างจากจำเลยตามหนังสือสัญญากู้ 2 ฉบับที่จำเลยโดยนายกมล วัฒนพาณิช ผู้จัดการ ทำกู้รับเงินไปตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2492 ต้นเงิน 33,000 บาท และวันที่ 14 มีนาคม 2493 ต้นเงิน 10,950 บาท จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด โดยยกข้อต่อสู้หลายประการ
ศาลทั้งสองพิจารณาฟังว่า นายกมล วัฒนพาณิช ซึ่งเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำเลยได้กู้และรับเงินไปในนามของจำเลยทั้ง 2 คราวตามฟ้องจริง โดยอ้างเหตุผลในการกู้คราวแรกว่าจะเอาเงินไปซื้อข้าวมาสีจำหน่าย คราวหลังว่าจะซ่อมแซมโรงสีเพื่อขาย ดวงตราที่ประทับนายกมล วัฒนพาณิช เป็นผู้ประทับไว้เอง แต่ปรากฏว่าเป็นดวงตราปลอม
วัตถุที่ประสงค์ของจำเลยไม่ได้ระบุว่าให้ทำการกู้เงินใช้ แต่เหตุผลที่นายกมล วัฒนพาณิช ผู้จัดการยกขึ้นอ้างว่ากู้มาเพื่อซื้อข้าวเปลือกมาทำการสีประการหนึ่ง ทำการซ่อมแซมโรงสีของจำเลยอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติให้จำเลยดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ตามที่จดทะเบียนไว้และเป็นการจัดการให้สภาพของโรงสีมีคุณภาพดีที่จะทำการสีข้าวได้ผลหรือขายได้ราคาดีดังนี้ จึงเห็นได้ว่าเป็นการกู้ไปทำการภายในขอบเขตของวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยโดยแท้ จำเลยเถียงว่าไม่อยู่ในวัตถุที่ประสงค์นั้นฟังไม่ขึ้น ส่วนการที่นายกมลฯ ใช้ตราปลอมประทับในสัญญากู้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากกับตราของจำเลยประทับให้หมึกเลอะเทอะ และตราจริงของจำเลยนั้นได้ประทับไว้ในคำขอจดทะเบียนเก็บไว้ที่หอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เป็นการยากไม่สะดวกที่บุคคลภายนอกจะติดต่อขอทราบหรือจะต้องขอเทียบเคียงทุกครั้งคราวไป จำเลยจะถือเอาเพียงเหตุตราปลอมนี้มาปัดความรับผิดชอบยังไม่ได้ เพราะนายกมลฯ ก็เป็นผู้จัดการของจำเลยมีตราของจำเลยไว้ในมือ ดวงไหนปลอมหรือแท้ยากที่โจทก์จะทราบได้ง่าย ๆ การทุจริตของนายกมลฯ ซึ่งเป็นตัวแทนในลักษณะเช่นนี้ จำเลยซึ่งเป็นตัวการจะต้องรับผิดชอบ จะอ้างแต่ว่าตราปลอมไม่ต้องรับผิดชอบนั้นหาได้ไม่จึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงินต้นรวม 43,950 บาท ตามสัญญากู้(ซึ่งศาลหมาย จ.1 และ จ.2) ให้แก่โจทก์ กับดอกเบี้ยในต้นเงินกู้43,950 บาทนี้อัตรา 100 ละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ค้าง คือ 14 มีนาคม 2493 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา แต่ได้ตัดข้อโต้เถียงเดิมออกเสียบางประการ คงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเพียง 2 ข้อ คือ
1. การกู้เงินทั้ง 2 คราวนี้นอกขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลย “การกู้เงิน”ไม่ได้ระบุไว้ในตราสารจัดตั้ง และ
2. สัญญากู้เงินประทับด้วยดวงตราปลอม
จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนฟังคำแถลงการณ์ ประชุมปรึกษาคดีแล้วเห็นว่าแม้ในตราสารจัดตั้งจะมิได้ระบุถึง “การกู้เงิน” ก็ดีแต่ตามทางพิจารณาฟังได้ชัดว่า นายกมลฯ ผู้จัดการซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยได้แสดงให้โจทก์เชื่อว่า กู้เพื่อเอาเงินนั้นไปดำเนินการซื้อข้าวมาสี และซ่อมแซมโรงสีให้มีสภาพทำการได้ หรือขายได้ราคาเช่นนี้ก็ต้องนับเนื่องอยู่ในขอบเขตกระบวนการที่จะให้ดำเนินกิจการไปได้ตามวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยนั้นเอง แม้ก่อนหน้านี้จำเลยก็ยังได้เคยเอาโรงสีและที่ดินที่ตั้งโรงสีนี้ไปจำนองไว้กับโจทก์มาแล้ว การจำนองก็เป็นการกู้เงินประเภทหนึ่งเหมือนกันฉะนั้น จำเลยจะฝืนเถียงว่าการกู้ 2 คราวรายนี้อยู่นอกขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยไปได้อย่างไร
ส่วนตราที่ประทับในสัญญากู้เป็นตราปลอมนั้น ก็เห็นว่าควรจะปรับให้เป็นโทษแก่ฝ่ายจำเลยยิ่งกว่าโจทก์ เพราะนายกมลฯ ผู้จัดการตัวแทนจำเลยเป็นผู้ได้รับมอบหมายดวงตราแท้จริงไว้สำหรับปฏิบัติหน้าที่การงานของจำเลย ตราปลอมที่นายกมลฯ ใช้ประทับนั้นศาลทั้งสองก็ฟังมาแล้วว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับดวงตราของจริงที่นายกมลฯเคยเอาใช้ประทับให้แก่โจทก์ในคราวทำจำนองมาแล้ว ตามพฤติการณ์เช่นนี้จะเป็นบาปเคราะห์แก่ฝ่ายโจทก์นั้นหาชอบไม่
ศาลทั้งสองปรึกษาให้จำเลยต้องรับผิดนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
เหตุนี้จึงพิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายชั้นฎีกาแทนโจทก์ 400 บาท