คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 3 เพียงแต่บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 เท่านั้น มิได้บัญญัติว่า รายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในระหว่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เจ้าพนักงานประเมินจึงเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากโจทก์โดยอาศัย พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 เพราะรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เกิดขึ้นในระหว่างที่ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับอยู่ เมื่อโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มา จึงเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) เลขที่ 03013120/6/100265 ลงวันที่ 6 มกราคม 2546 และเลขที่ 03013120/6/100267 ลงวันที่ 6 มกราคม 2546 เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ. (อธ.2)/531/2546 และเลขที่ สภ. (อธ.2)/531/2546 (ที่ถูกคือ สภ. (อธ.2)/531.1/2546) หรือพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 3 เพียงแต่บัญญัติให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 เท่านั้น มิได้บัญญัติว่า รายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในระหว่างพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ใช้บังคับไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉะนั้น แม้พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 จะไม่มีบทเฉพาะกาลให้พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ยังคงใช้บังคับแก่การจัดเก็บภาษีที่ค้างชำระต่อไป เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ได้และการประเมินเรียกเก็บภาษีดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เพราะเป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีสำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ใช้บังคับ จึงเป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีตามที่กฎหมายบัญญัติ
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ขัดต่อประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) และการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ไม่ได้เป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไร จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) มิได้บัญญัติไว้แจ้งชัดว่า การขายอสังหาริมทรัพย์กรณีใดเป็นการขายที่เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่ได้บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ได้ตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ให้ถือว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ลักษณะใดบ้างที่ถือเป็นการขายในทางการค้าหรือหากำไรตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อมาตรา 91/2 (6) อย่างไรก็ดี การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มามิได้เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ดังกล่าวจึงได้กำหนดข้อยกเว้นไว้บางกรณี โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าโจทก์ซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องเพื่อเก็บไว้ให้บุตรหลานและโจทก์เองอยู่อาศัยหลังเกษียณอายุ มิได้ซื้อมาเพื่อขายต่อ ต่อมาโจทก์มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของโจทก์และเป็นทุนการศึกษาของบุตรรวม 9 คน โจทก์จึงขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไป แต่เมื่อคู่ความรับข้อเท็จจริงกันในวันชี้สองสถานโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามข้ออ้างดังกล่าวและศาลภาษีอากรกลางสั่งให้งดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษา โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มา ฉะนั้น การขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์จึงเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (6) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share