คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 42/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๔๒/๒๕๕๔

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๔

เรื่อง การส่งเรื่องกรณีโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม

ศาลจังหวัดกระบี่
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกระบี่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ โดยจำเลยโต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๐ นายประสม วะจิดี โจทก์ ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ที่ ๑ นายสุกิจ มาศเมฆ ที่ ๒ นายอุทัย มาตย์เกียรติกุล ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกระบี่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๒๘/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๕๕ หมู่ ๔ ตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ จำนวนเนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๘.๘ ตารางวา ต่อจากมารดาโจทก์ โดยมีการแจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าวตามแบบ ส.ค. ๑ ตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ โจทก์ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ แจ้งจำเลยที่ ๑ ว่า ส.ค. ๑ ของโจทก์ได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๐๘๕ ให้แก่จำเลยที่ ๓ แล้ว จำเลยที่ ๑ จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ แม้ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองจิหลาด แต่ศูนย์ปฏิบัติการที่ดินป่าไม้ (นครศรีธรรมราช) พิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์สามารถนำหลักฐาน ส.ค. ๑ ดังกล่าวไปออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕๙ แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โจทก์จึงตรวจสอบทะเบียนการครอบครองที่ดินปรากฏหลักฐานว่าที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๕ ของโจทก์ยังไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียสิทธิในที่ดิน ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๐๘๕ ของจำเลยที่ ๓ ดังกล่าว และเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ หรือหากศาลไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินและคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๗๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมที่ดิน และได้ปฏิบัติหน้าที่โดยตรงแทนกรมที่ดิน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในผลแห่งละเมิด โจทก์ต้องฟ้องกรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๕ ที่โจทก์นำรังวัดออกโฉนดที่ดินตรงกับที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองจิหลาด ทั้งแปลง และได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๐๘๕ ให้แก่จำเลยที่ ๓ ไปแล้ว จึงออกโฉนดที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๕ ให้แก่โจทก์ไม่ได้ การยกเลิกคำขอออกโฉนดของโจทก์เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย คดีโจทก์ขาดอายุความ และไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมเนื่องจากเป็นคดีปกครอง คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ที่ดินของจำเลยที่ ๓ ที่ยื่นขอออกโฉนดที่ดินนั้นเป็นคนละแปลงกับที่ดินของโจทก์ ที่ดินของจำเลยที่ ๓ เป็นที่นา ส่วนที่ดินของโจทก์ตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๕ นั้นเป็นสวนจากจำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดในการรังวัดออกโฉนดที่ดินของเจ้าหน้าที่และของจำเลยที่ ๑ โดยตรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลจังหวัดกระบี่ตรวจคำฟ้องแล้วยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งโจทก์จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ หลังจากสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากโจทก์และจำเลยที่ ๓ แล้วปรากฏว่า โจทก์และจำเลยที่ ๓ แถลงร่วมกันว่า ที่ดินที่ออกโฉนดให้จำเลยที่ ๓ เป็นที่ดินคนละแปลงและหรืออยู่คนละแห่งกับที่ดินของโจทก์ จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ และมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี เนื่องจากเห็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การต่อสู้คดีว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เพราะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ และโดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการนำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไป ถ้าศาลเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลใดศาลหนึ่งที่รับฟ้อง ให้นำความในมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม” คดีนี้มีประเด็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาด้วยว่า โจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม และโดยผลของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามโจทก์เสียก่อนว่า โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองมาก่อนหรือไม่ หากมีกรณีดังกล่าวศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยศาลชั้นต้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัย หรือหากปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรกและศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งเป็นศาลต่างระบบที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องเสียก่อน และศาลต้องแนะนำโจทก์ให้ฟ้องต่อศาลปกครองด้วยว่าเคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นมาแล้ว และศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง หากศาลปกครองเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะโอนคดีไปยังศาลปกครองหรือจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ฟ้องคดีที่ศาลปกครอง แต่ถ้าศาลปกครองมีความเห็นแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็ต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยต่อไป ตามที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้วด่วนวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ในประเด็นอื่นเสียก่อน จึงเป็นการขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าว
ศาลจังหวัดกระบี่สอบถามโจทก์แล้ว โจทก์แถลงว่า ไม่เคยฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองมาก่อน
ศาลจังหวัดกระบี่พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค ๘ มูลคดีสืบเนื่องจากโจทก์กล่าวหาจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ว่าออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๐๘๕ ให้แก่จำเลยที่ ๓ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยขอให้เพิกถอนการร้องขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าว การที่จะพิจารณาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นยุติก่อนว่าสิทธิครอบครองในที่ดินของโจทก์มีเพียงใด พิพาทหรือมีพื้นที่ทับซ้อนที่ดินของจำเลยที่ ๓ หรือที่ดินแปลงอื่นหรือไม่ รวมทั้งสภาพที่ดินที่แท้จริงเป็นอย่างไร อันจะมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงการออกโฉนดที่ดิน ดังกล่าวว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวไปโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นข้อพิพาทในคดีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครอง เป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง โดยที่การออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๕๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด และมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินสาขา หรือเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายเป็นผู้ลงนามออกโฉนดที่ดิน ซึ่งในการดำเนินการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเจ้าพนักงานที่ดินจะต้องดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และกรณีเจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งยกเลิกคำขอที่ยื่นขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน คำสั่งยกเลิกคำขอดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีนี้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๑ โดยอ้างหลักฐาน ส.ค. ๑ และขั้นตอนการดำเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดินได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนของการดำเนินการรังวัดที่ดินแต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ เห็นว่าที่ดินแปลงที่โจทก์นำรังวัดมีรูปแผนที่และเจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่สอดคล้องกับหลักฐานการแจ้งการครอบครอง จึงได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดิน ที่โจทก์นำรังวัดออกโฉนดที่ดินไม่ตรงกับที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองจิหลาด ทั้งแปลง และที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ที่โจทก์ยื่นประกอบการขอออกโฉนดที่ดินนั้น ได้มีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๐๘๕ ให้แก่จำเลยที่ ๓ ไปแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วแม้ที่ดินแปลงดังกล่าวจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติทั้งแปลงจริง แต่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค. ๑ ตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ โจทก์สามารถนำหลักฐาน ส.ค. ๑ ไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายได้ ตามมาตรา ๕๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และจากการตรวจสอบทะเบียนการครอบครองที่ดินไม่ปรากฏว่าที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๕ ได้ออกโฉนดให้แก่บุคคลอื่นตามที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กล่าวอ้าง โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๐๘๕ และเพิกถอนคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ที่ ๔๙/๒๕๔๙ เรื่องยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินตามเนื้อที่ที่รังวัดได้ให้แก่โจทก์ หากศาลไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินหรือคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินหากมีอยู่จริง ศาลปกครองก็มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ เพราะเมื่อคดีนี้เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครองแล้ว ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันเป็นประเด็นข้อเท็จจริงในคดีได้และเป็นกรณีที่ต้องวินิจฉัยในชั้นการพิจารณาเนื้อหาคดีและถึงแม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล หรือนิติบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างบุคคล หรือนิติบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้โดยตรงกว่าศาลอื่น
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ที่ ๔๙/๒๕๔๙ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์โดยอ้างว่า ที่ดินแปลงที่โจทก์นำรังวัดออกโฉนดที่ดินไม่ตรงกับที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๕ และที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองจิหลาด ทั้งแปลง โดยในส่วนจำเลยที่ ๑ กล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น โจทก์ไม่ได้โต้แย้งประเด็นดังกล่าว กรณีจึงไม่มีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าที่ดินแปลงที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินไม่ใช่ที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๕ นั้น ข้อเท็จจริงก็ปรากฏในระหว่างตรวจคำฟ้องของศาลจังหวัดกระบี่ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ ๓ ก็ได้แถลงร่วมกันว่า ที่ดินที่โจทก์นำชี้ในการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินกับที่ดินของจำเลยที่ ๓ เป็นคนละแปลงและอยู่คนละแห่งกัน และแม้จำเลยที่ ๑ จะอ้างว่าที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๕ เป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินตามหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๐๘๕ ก็ตามแต่ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ ๑ ตั้งขึ้น ปรากฏว่าโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๐๘๕ ออกโดยมิได้แจ้งการครอบครอง (ออกโดยไม่มีหลักฐานที่ดินเดิม) ดังนั้นการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๐๘๕ จึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๕ ของโจทก์ และไม่ได้กระทบต่อการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ ในเมื่อโจทก์และจำเลยที่ ๓ ต่างครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินคนละแปลง และที่ดินดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน กรณีจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ แต่อย่างใด ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ศาลจังหวัดกระบี่ก็ได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยที่ ๓ ไม่ได้โต้แย้งสิทธิใด ๆ ของโจทก์ ที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ศาลจังหวัดกระบี่จึงได้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดกระบี่ ฉบับลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ดังนั้น คดีคงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพื่อพิพากษาตามฟ้องของโจทก์แต่เพียงว่าที่ดินที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน เป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๕ หรือไม่ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณาการส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๐๘๕ ให้แก่จำเลยที่ ๓ และให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ หรือหากศาลไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินและคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมที่ดิน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในผลแห่งละเมิด โจทก์ต้องฟ้องกรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ การยกเลิกคำขอออกโฉนดของโจทก์เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า ที่ดินของจำเลยที่ ๓ ที่ยื่นขอออกโฉนดที่ดินนั้นเป็นคนละแปลงกับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดในการรังวัดออกโฉนดที่ดินของเจ้าหน้าที่และของจำเลยที่ ๑ โดยตรง ขอให้ยกฟ้อง ต่อมา ศาลจังหวัดกระบี่ตรวจคำฟ้องแล้ว ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เนื่องจากไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ เนื่องจากที่ดินแปลงที่ออกโฉนดให้แก่จำเลยที่ ๓ เป็นที่ดินคนละแปลง และหรืออยู่คนละแห่งกับที่ดินของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ มีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การต่อสู้คดีว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีมีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับเขตอำนาจระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ชอบที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เสียก่อน จึงพิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ และมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ศาลจังหวัดกระบี่ได้สอบถามโจทก์ โจทก์แถลงว่าไม่เคยฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองมาก่อน และทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนศาลปกครองเห็นว่า เป็นคดีอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้วส่งเรื่องมายังคณะกรรมการโดยที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลแต่อย่างใด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรม…” และข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๑๒ กำหนดว่า “คำร้องต้องทำเป็นหนังสือ…” ข้อ ๒๙ กำหนดว่า “ในกรณีดังต่อไปนี้ คณะกรรมการจะสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความก็ได้ (๒) การส่งเรื่องให้คณะกรรมการมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้” แต่ตามข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โต้แย้งเขตอำนาจศาลไว้ในคำให้การ โดยไม่ได้จัดทำเป็นคำร้องยื่นเป็นหนังสือต่อศาลเป็นการเฉพาะ ดังนั้นถือว่าคำให้การดังกล่าวเป็นเพียงข้อต่อสู้คดีของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เท่านั้น หาใช่คำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ตามความในกฎหมายไม่ กรณีจึงเป็นการโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง และข้อบังคับคณะกรรมการข้อ ๑๒ และ ๒๙ ส่วนในกรณีที่ศาลจังหวัดกระบี่ทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ก็ไม่อาจถือว่าเป็นกรณีศาลเห็นเองตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่บัญญัติว่า “ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเองก่อน มีคำพิพากษาโดยอนุโลม” เนื่องจากกรณีที่ศาลเห็นเองนั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่า อยู่ในอำนาจของศาลอื่น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าศาลจังหวัดกระบี่เพียงแต่สอบถามโจทก์ และโจทก์แถลงว่าไม่เคยฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองมาก่อน จึงทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม กรณีจึงยังไม่ต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม เช่นกัน
จึงมีคำสั่งว่า การส่งเรื่องกรณีระหว่างศาลจังหวัดกระบี่และศาลปกครองนครศรีธรรมราชที่เกี่ยวข้องกับโจทก์และจำเลยทั้งสามในคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share