คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6571/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การปลูกสร้างอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 77 ต้องเป็นกรณีปลูกสร้างอาคารในท้องที่ที่มีอาคารเป็นจำนวนมากปลูกสร้างอยู่ในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่น ดินก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และมีสภาพหรืออาจทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยการป้องกันอัคคีภัยการสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการอำนวยความสะดวแก่การจราจร และจะต้องมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้นด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้าง หรือนำสืบในศาลชั้นต้นและไม่ปรากฏในสำนวนจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225
จำเลยปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นเจ้าของอาคารซึ่งตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ถือว่าเป็นผู้ดำเนินการจึงต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ปรับวันละ 1,000 บาท และเมื่ออาคารที่ปลูกสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมจึงเป็นอาคารตามมาตรา 70 อีกมาตราหนึ่ง ศาลอุทธรณ์มีอำนาจปรับจำเลยเพิ่มอีกสิบเท่าเป็นปรับวันละ 10,000 บาท
ชั้นอุทธรณ์โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 วรรคสอง, 65 วรรคสอง และ 70 ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสามวันละ 5,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ไม่ติดใจขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 69 อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยวันละ 10,000 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ เวลากลางวันและกลางคืน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสามได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ ร่วมกันโดยไม่มีสิทธิครอบครอง และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และได้ก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมขึ้นในที่ดินที่ครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเป็นอาคารที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดภายใน ๙๐ วัน จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙,๑๐๘ ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๕ ข้อ ๑๑ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๑,๔๐,๔๒,๖๕,๖๗,๖๙,๗๐ ให้จำเลยรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่ยึดถือครอบครองปรับจำเลยเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ จนถึงวันที่จำเลยได้รื้อถอนอาคาร
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ ข้อ ๑๑ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๑, ๔๐, ๔๒, ๖๕, ๖๗, ๖๙, ๗๐ ความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ลงโทษจำคุกคนละ ๖ เดือน ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ ๖ เดือน ความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารภายในกำหนด ลงโทษปรับจำเลยคนละ ๕๐๐ บาทต่อ ๑ วัน ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน จนกว่าจะรื้อถอนอาคารให้จำเลยทั้งสามพร้อมบริวารออกจากที่ดินที่ยึดถือครอบครอง
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ ๑๐,๐๐๐ บาทต่อวัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งโจทก์ฟ้องเป็นความผิด ๒ ข้อหา ข้อหาแรกคือ ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ข้อหาที่สองคือ ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารภายในกำหนด สำหรับข้อหาแรกศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ ๖ เดือน ส่วนข้อหาที่สองศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษปรับจากวันละ ๕๐๐ บาท เป็นปรับวันละ ๑๐,๐๐๐ บาท เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ความผิดทั้งสองข้อหานี้จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๘ ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า อาคารที่จำเลยทั้งสามก่อสร้างขึ้นได้สร้างก่อน พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ใช้บังคับ จะนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับไม่ได้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่าฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้เป็นการเถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเพราะจะต้องฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าอาคารของจำเลยก่อสร้างขึ้นเมื่อใด ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าอาคารของจำเลยทั้งสามไม่ใช่อาคารเพื่อพาณิชยกรรมก็ดี ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกาว่า ไม่ได้ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เหตุที่ยังไม่ออกไปจากที่พิพาทเป็นเพราะเจ้าพนักงานท้องถิ่นยังหาที่อยู่ใหม่ให้ไม่ได้ก็ดี กับที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่เจ้าของอาคาร จำเลยที่ ๒ เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีความผิดก็ดี ล้วนแต่เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ทั้งข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่ว่า กรณีของจำเลยเป็นกรณีที่ต้องด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๗๗ เมื่อโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตรานี้ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้นเห็นว่า การปลูกสร้างอาคารของจำเลยต้องด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๗๗ หรือไม่จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเสียก่อน ตามบทกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงจะต้องได้ความว่าท้องที่ที่จำเลยปลูกสร้างอาคารเป็นบริเวณที่มีอาคารเป็นจำนวนมากปลูกสร้างอยู่ในที่ดินที่ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และมีสภาพหรืออาจทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมืองและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร และจะต้องมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกา แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มิได้ยกขึ้นอ้างหรือนำสืบในศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ปรากฏในสำนวนทั้งเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ในศาลชั้นต้น ฎีกาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยกขึ้นอ้าง จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้
จำเลยที่ ๓ ฎีกาอีกว่าศาลอุทธรณ์จะปรับจำเลยวันละ ๑๐,๐๐๐ บาทไม่ได้ เพราะกรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๔, ๗๐ นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารที่ปลูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารภายในกำหนด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๑, ๔๐, ๔๒, ๖๕, ๖๗, ๖๙, ๗๐ และ ทางพิจารณาได้ความดังฟ้องโจทก์ กรณีจึงต้องด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๒๑, ๔๒, ๖๕, ๖๙, ๗๐ ซึ่งมาตรา ๖๕ วรรคสอง กำหนดระวางโทษปรับวันละ ๕๐๐ บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และเมื่อจำเลยเป็นเจ้าของอาคารซึ่งถือว่าเป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา ๖๙ จึงต้องระวางโทษเป็นสองเท่าเป็นปรับวันละ ๑,๐๐๐ บาท นอกจากนั้น อาคารที่จำเลยปลูกสร้างยังเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมต้องตามมาตรา ๗๐ อีกด้วย ซึ่งกฎหมายกำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาปรับจำเลยเพิ่มอีกสิบเท่า เป็นปรับวันละ ๑๐,๐๐๐ บาทได้ ฎีกาของจำเลยที่ ๓ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสามฎีกาต่อไปว่า โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษปรับจำเลยเพียงวันละ ๕,๐๐๐ บาท ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษปรับจำเลยวันละ ๑๐,๐๐๐ บาทไม่ได้ ในข้อนี้เห็นว่า ชั้นอุทธรณ์โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๒ วรรคสอง, ๖๕ วรรคสอง, ๗๐ การที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยทั้งสามในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารเพื่อพาณิชยกรรมเพียงวันละ ๕๐๐ บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน เป็นการลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสามวันละ ๕,๐๐๐ บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ไม่ติดใจขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๖๙ อีกต่อไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยวันละ ๑๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับข้อหาฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารภายในกำหนด ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ ๕,๐๐๐ บาท ต่อวัน นับแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะรื้อถอนอาคารนอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share