แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทมีชื่อโจทก์จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนด โดยมิได้ระบุส่วนของใครเท่าใด ในเบื้องต้นก็ต้องถือว่าโจทก์จำเลยต่างมีส่วนเป็นเจ้าของคนละครึ่ง แต่เมื่อต่อมาโจทก์จำเลยได้ตกลงแบ่งที่พิพาทกัน จำเลยได้ 3 ไร่ โจทก์ได้ 5 ไร่ 70 ตารางวา ข้อตกลงแบ่งที่ดินดังกล่าวนี้เข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 เพราะการตกลงกำหนดลงไปว่า ใครได้เนื้อที่เท่าไรย่อมเป็นการระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นให้เสร็จไปไม่ต้องโต้เถียงกันว่าฝ่ายใดมีเหตุสมควรจะได้มากได้น้อยกว่าครึ่งอย่างไร เมื่อข้อตกลงนี้ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์จำเลยเป็นสำคัญ ซึ่งโจทก์จำเลยต่างรับรองต้องกัน จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ส่วนที่การรังวัดแบ่งแยกให้เป็นไปตามคำขอ ยังมิได้สำเร็จลง จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเสียไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหนึ่งร่วมกัน โดยจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื้อที่ ๕ ไร่ อีก ๕ ไร่ ๗๐ วาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และโจทก์จำเลยได้ขายกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้น จำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจากผู้ซื้อเกินกว่าส่วนของจำเลย โจทก์จึงบอกกล่าวขอรับเงินส่วนนี้จากจำเลย จำเลยรับว่าจะให้ แต่แล้วก็ไม่ให้ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยมีสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวคนละครึ่ง ต่อมาโจทก์จำเลยได้ตกลงกันแบ่งที่ดินกันโดยจำเลยขอรับเอาส่วนที่จำเลยปกครองอยู่ ๓ ไร่ นอกนั้นให้โจทก์ แต่มีข้อตกลงว่า ถ้าหากการแบ่งที่ดินให้จำเลย ๓ ไร่นี้ เมื่อขีดเส้นแบ่งแล้วถูกบ้านของจำเลยหรือบ้านของจำเลยอยู่นอกเขตที่ของจำเลยแล้ว ถือว่าข้อตกลงนี้ยกเลิกให้แต่ละคนได่ส่วนคนละครึ่งเท่าเดิม เมื่อทำการรังวัดแบ่งแยกแล้วปรากฏว่าบ้านของจำเลยจะต้องรื้อถอน จึงถือว่าข้อตกลงที่ได้ทำกับโจทก์นั้นยกเลิกกันไป ต่างคนต่างครอบครองส่วนของคนคนละส่วนเท่า ๆ กัน โจทก์จำเลยจึงได้ตกลงขายที่ดินแปลงนี้ ได้แบ่งเงินคนละครึ่งโจทก์ได้รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว โจทก์มาเรียกเงินจากจำเลยอีก เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ๕ ไร่ ๗๐ ตารางวา ของจำเลย ๓ ไร่ เงินที่ขายได้ต้องแบ่งตามส่วน จำเลยรับเงินเกินไปต้องคืนให้โจทก์ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่พิพาทมีชื่อโจทก์จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนดโดยมิได้ระบุส่วนของใครเท่าใด ในเบื้องต้นก็ต้องถือว่าโจทก์จำเลยต่างมีส่วนเป็นเจ้าของคนละครึ่ง แต่เมื่อต่อมาโจทก์จำเลยได้ตกลงแบ่งที่พิพาทกัน จำเลยได้ ๓ ไร่ โจทก์ได้ ๕ ไร่ ๗๐ ตารางวา ข้อตกลงแบ่งที่ดินดังกล่าวนี้เข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ เหราะการตกลงกำหนดลงไปว่าใครได้เนื้อที่เท่าไร ย่อมเป็นการระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นให้เสร็จไปไม่ต้องโต้เถียงกันว่าฝ่ายใดมีเหตุสมควรที่จะได้มากได้น้อยกว่าครึ่งอย่างไร เมื่อข้อตกลงนี้ได้มีหลักฐานลงลายมือชื่อโจทก์จำเลยเป็นสำคัญ ซึ่งโจทก์จำเลยต่างรับรองต้องกัน จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ส่วนที่การรังวัดแบ่งแยกให้เป็นไปตามคำขอยังมิได้สำเร็จลง จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเสียไป เหตุที่มีการถอนขอแบ่งแยกเพราะตกลงจะขายที่แปลงนี้ หาใช่เพราะโจทก์จำเลยเจตนาจะยกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ การแบ่งเงินที่ขายได้ก็ต้องแบ่งตามส่วนของเนื้อที่ดินที่ได้ตกลงแบ่งกันไว้แล้ว มิใช่ได้เงินคนละครึ่งจำเลยรับเงินเกินไปเท่าจำนวนที่โจทก์ฟ้อง ต้องคืนให้โจทก์
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย.