คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การหลอกลวงด้วยแสดงข้อความเท็จและปกปิดความจริงว่าตัวเองเป็นภริยาและทายาทของผู้ตาย เพื่อให้มีสิทธิรับบำนาญพิเศษของผู้ตายนั้น ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น เพราะไม่ได้แสดงตนว่าเป็นคนหนึ่งคนใด คงมีผิดฐานฉ้อโกงธรรมดา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนี้สมคบกับนางแจ้ง พงษ์เกษม ซึ่งถูกฟ้องศาลลงโทษไปแล้วหลอกลวงนายอำเภอพระนครศรีอยุธยาว่า นางแจ้ง พงษ์เกษมเป็นภริยาของสินโทเพิ่ม พงษ์เกษม ผู้ถึงแก่ความตายในหน้าที่ราชการจึงเป็นทายาทมีสิทธิได้รับเงินบำนาญพิเศษของสิบโทเพิ่ม นายอำเภอพระนครศรีอยุธยาสอบสวนแล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงออกหนังสือรับรองแจ้งไปยังกรมการเงิน กระทรวงกลาโหม ๆ จึงจ่ายเงินบำนาญพิเศษให้นางแจ้งรับไป 3 คราว จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 342, 83 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่รับไปด้วย

จำเลยปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเชื่อว่านางแจ้งไม่ใช่ภริยาและไม่ได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับบำนาญพิเศษของสิบโทเพิ่ม จำเลยนี้เป็นผู้ติดต่อจัดการให้นางแจ้งหลอกลวงนายอำเภอพระนครศรีอยุธยาด้วยการแสดงข้อความเท็จ จึงมีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 จำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 หรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 342 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นบทบัญญัติที่กำหนดโทษหนักขึ้น ถ้าการกระทำผิดฐานฉ้อโกงต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์ดังที่บัญญัติไว้ คือ (1) แสดงตนเป็นคนอื่น ฯลฯ” คดีนี้ปรากฏว่านางแจ้งมิได้แสดงตนว่าเป็นคนหนึ่งคนใด แต่นางแจ้งแสดงว่าตัวเขาเองเป็นภริยาและทายาทของสิบโทเพิ่ม ซึ่งเป็นแต่แสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงเท่านั้นหาเข้าลักษณะแสดงตนเป็นคนอื่นไม่ จำเลยจึงไม่ผิดตามมาตรา 342 ซึ่งมีโทษหนักขึ้น แต่คงมีความผิดตาม มาตรา 341ซึ่งเป็นบทมาตราที่บัญญัติความผิดฐานฉ้อโกงธรรมดาต้องปรับบทด้วยมาตรา 341 ส่วนโทษที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา คงอยู่ในอัตราของมาตรา 341 ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าสมควรแล้ว

พิพากษาแก้ว่า จำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 นอกนั้นคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share