คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยโดยได้กำหนดนัดไว้ก่อนวันนัดถึง 2 เดือนเศษ และคดีนี้จำเลยได้ขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้วจนกระทั่งศาลชั้นต้นต้องกำชับจำเลยว่าจะไม่ให้เลื่อนคดีอีก การที่ทนายจำเลยจะขอเลื่อนคดีไปอีก จึงต้องเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและไม่อาจก้าวล่วงได้ เมื่อตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนและสำคัญยิ่งไปกว่ากำหนดที่ได้นัดกับศาลชั้นต้นและคู่ความอีกฝ่าย การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีจึงชอบแล้ว
ในคดีก่อนคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีสิทธิขอรับเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ประเด็นในคดีก่อนจึงมีว่าจำเลยมีสิทธิเรียกเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท คืนจากโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิขอให้นำเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท มาหักชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ประเด็นจึงต่างกัน ไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้
จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่า ลูกหนี้จึงมีสิทธิริบเงินประกันการเช่าได้ เงินประกันการเช่าดังกล่าวแม้ในสัญญาเช่าจะไม่เรียกเบี้ยปรับ แต่ข้อที่กำหนดไว้ในสัญญาที่ให้ลูกหนี้อาจใช้สิทธิริบเอาได้นั้นมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เงินประกันการเช่าดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากสถานที่เช่า และส่งมอบกิจการโรงงานแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 16 ธันวาคม 2536) ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 224,794.52 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 500,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 11,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน (ที่ถูกรวมค่าเสียหายและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน) 12,647,996.58 บาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากสถานที่เช่า
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากสถานที่เช่า และส่งมอบกิจการโรงงานแก่โจทก์ในสภาพเดิม ให้จำเลยชำระเงินค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 11,750,000 บาท และชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากสถานที่เช่า คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยมีว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีชอบหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้กำหนดนัดสืบพยานจำเลยไว้ก่อนวันนัดถึง 2 เดือนเศษ ทั้งจำเลยก็ได้ขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้ว จนกระทั้งศาลชั้นต้นต้องกำชับจำเลยว่าจะไม่ให้เลื่อนคดีอีก ดังนั้น การที่ทนายจำเลยจะขอเลื่อนคดีไปอีก จึงต้องเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและไม่อาจก้าวล่วงได้ แต่ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยดังกล่าว ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า การขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนและสำคัญยิ่งไปกว่ากำหนดที่ได้นัดกับศาลชั้นต้นและคู่ความอีกฝ่าย การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีจึงชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยมีว่า จำเลยมีสิทธิขอให้นำเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท มาหักชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีก่อน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีสิทธิขอรับเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ประเด็นในคดีก่อนมีว่าจำเลยมีสิทธิเรียกเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท คืนจากโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิขอให้นำเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท มาหักชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ประเด็นจึงต่างกัน ไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้
ปัญหาว่า จำเลยมีสิทธิขอให้นำเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาท มาหักชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่า ลูกหนี้จึงมีสิทธิริบเงินประกันการเช่าได้ เงินประกันการเช่าดังกล่าวแม้ในสัญญาเช่าจะไม่เรียกเบี้ยปรับ แต่ข้อที่กำหนดไว้ในสัญญาที่ให้ลูกหนี้อาจใช้สิทธิริบเอาได้นั้นมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เงินประกันการเช่าดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของลูกหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 แล้วสมควรกำหนดเบี้ยปรับให้เป็นเงิน 1,000,000 บาท เมื่อนำไปหักออกจากเงินประกันการเช่า 5,000,000 บาทแล้ว คงเหลือ 4,000,000 บาท ชอบที่จะนำไปชำระค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องอีกจำนวน 224,794.52 บาท คงเหลือ 1,775,205.48 บาท เมื่อนำไปหักชำระในส่วนค่าเสียหาย 11,750,000 บาท แล้ว จำเลยยังคงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,974,794.52 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเฉพาะค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,974,794.52 บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากสถานที่เช่า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share